วันอังคาร, ธันวาคม 22, 2558

มันเป้นเรื่อง ขอกัน ได้เหรอว่ะ ..สนช.ลงพื้นที่! วอนปชช.ผ่านประชามติร่างรธน. ...ผ่านไปใครซวย!




สนช.ลงพื้นที่! วอนปชช.ผ่านประชามติร่างรธน.

"พรเพชร"นำสนช.ลงพื้นที่จ.พะเยา รับฟังปัญหา เผย"อภิชาต"เผยเตรียมหั่นร่างรธน.ไม่เกิน 200 มาตรา อ้อนประชาชนผ่านประชามติ

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 19 ธันวาคม 2558

สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)กว่า 30 คน นำโดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พร้อมด้วยนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.)คนที่ 2 ลงพื้นที่ตามโครงการสนช.พบปะประชาชน เพื่อหารือร่วมกับส่วนราชการต่างๆ โดยมีนายศุภชัย เอี่ยมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจ.พะเยา และหัวหน้าส่วนราชการต่าง ๆให้การต้อนรับ พร้อมได้สะท้อนปัญหาในพื้นที่คือการพัฒนากว๊านพะเยา เนื่องจากขณะนี้มีความตื้นเขิน เก็บกั๊กน้ำได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือไหลลงสู่แหล่งน้ำอื่น จึงต้องการทำประตูกั้นน้ำ เพื่อแก้ปัญหา เพราะขณะนี้น้ำในกว๊านพะเยา จะสามารถใช้ได้ถึงเดือนเม.ย.59 เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาการพัฒนาและการยกระดับจุดถาวรผ่านแดนบ้านฮวก ปัญหาการพัฒนาคมนาคม และโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา

ทั้งนี้ยังมีแม่น้ำ 3 สายคือนายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญคนที่ 2 เข้าร่วมรับฟังข้อคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) และนายจิรายุ นันท์ธราธร หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมด้วย

นายอภิชาต กล่าวว่า ขณะนี้ได้ร่างรัฐธรรมนูญมา 2 เดือนเศษแล้ว โดยร่างไปได้ 250 มาตรา ทั้งที่ความตั้งใจเดิมจะทำให้สั้นกระทัดรัดไม่เกิน 200 มาตรา ดังนั้นทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้นัดหมายกันในวันที่ 11-18 ม.ค.ประชุมหารือกัน 7 วัน7 คืน เพื่อปรับปรุงร่างแรกให้สั้นปรับปรุงร่างให้สั้นไม่เกิน 200 มาตรา รัฐธรรมนูญใหม่จะต้องรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนต่างๆ รวมทั้งประชาชนหากมีความเห็นหรือต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นอย่างไรก็สามารถเสนอความคิดเห็นไปยังกรธ.ได้ภายในเดือนม.ค.59 รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญกับประชาชน ถือเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน และจะทำให้การบริหารบ้านเมืองต่อไป กรอบการร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามความมุ่งหมายของคสช.และเป็นที่ยอมรับของมาตรฐานสากล เป็นไปตามประเพณีวิถีชีวิตของคนไทย และป้องกันการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ และขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบให้ได้ผล ทั้งนี้ร่างรัฐธรรมนูญต้องทำเสร็จภายใน 4 เดือน ซึ่งครั้งนี้ถือเป็นการร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 2 ก็ไม่อยากให้เกิดปัญหา จึงขอฝากพี่น้องประชาชนช่วยลงประชามติด้วย

ด้านนายคำนูณ กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินจำนวน 6 คณะ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรองนายกรัฐมนตรีทั้ง 6 คนเป็นรองประธานแต่ละคณะนั้น จะนำแผนการปฏิรูปของสปท.มาพิจารณาว่า ส่วนใดที่จะดำเนินการได้อย่างไร หากเป็นเรื่องกฎหมายก็จะมีการร่างกฎหมายเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสนช. แต่ถ้าเป็นเรื่องอำนาจของครม.ก็จะส่งต่อไปยังครม.ดำเนินการหรือหากจำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ก็ต้องให้นายกฯสั่งการ ซึ่งภายในปี 60 ทั้งประชาชน ข้าราชการระดับส่วนกลางและจังหวัดต้องรับรู้ถึงแผนการปฏิรูปทั้งหมดเพื่อดำเนินการปฏิรูปประเทศก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อเป็นหลักประกันว่า หลังการเลือกตั้งรัฐบาลที่เข้ามาต้องเดินตามแผนปฏิรูปประเทศเพื่อไม่ให้บ้านเมืองกลับไปสู่ความขัดแย้งเหมือนเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการสนช.พบประชาชนในครั้งนี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายในปี 2558 โดยตลอดทั้งปีสนช.ลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากประชาชนจำนวน 11 ครั้ง โดยมีปัญหาที่เสนอต่อสนช.เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือแก้ปัญหากว่า 3,000 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาภัยแล้ง การคมนาคม การเปิดด่านตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่นายพรเพชร ร่วมลงพื้นที่ด้วย

...

ความเห็นเพิ่มจากชาวเน็ต

จำได้ ไม่ลืม "รับๆไปก่อนแล้วมาแก้ทีหลัง" รธน.ฉบับที่แล้วตรูไม่รับ และก็จะไม่รับฉบับโจรทุกฉบับ.. เว้ย





เคาะออกมาเรียบร้อยแล้ว สำหรับที่มา “นายกรัฐมนตรี”โดยนายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. ก็ได้ แต่ต้องมาจากการเลือกสภาผู้แทนราษฎร

โดย : โอภาส บุญล้อม
วันที่ 20 ธันวาคม 2558
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

ทั้งนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ( กรธ. )ยังกำหนดว่า ในการเลือกตั้ง พรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องเสนอชื่อ “บัญชีนายกฯ”ไม่เกินจำนวน 5 คน โดยผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีต้องสมัครใจและให้ความยินยอม แต่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นหรือไม่ก็ได้ และแต่ละพรรคการเมืองจะเสนอบัญชีนายกฯ “ซ้ำกันไม่ได้” โดยถือเอาตามที่แจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง( กกต.) ก่อนหลัง ซึ่งการที่ไม่ให้พรรคการเมืองเสนอ “บัญชีนายกฯ”ซ้ำกันในการเลือกตั้ง ก็เพื่อไม่ให้เกิดการ “ฮั้ว”ของพรรคการเมืองในทางการเมือง และหลังเลือกตั้งเสร็จ ได้ให้สิทธิพรรคการเมืองที่ได้จำนวน ส.ส. ร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส. ที่มีทั้งหมดเสนอชื่อบุคคลจาก “บัญชีนายกฯ” เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯให้ลงคะแนนเลือกเป็นนายกฯ โดยพรรคการเมืองจะเสนอชื่อคนเป็นนายกฯซ้ำกันต่อสภาฯได้

และด้วยเหตุที่พรรคการเมืองสามารถเสนอ “บัญชีนายกฯ ”ได้ถึง 5 คน ทำให้มีการมองว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีวาระซ่อนเร้นเปิดช่องให้ “ผู้มีอำนาจ" เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีผ่านทางพรรคการเมือง ทั้งที่บุคคลนั้นไม่ได้เป็น ส.ส. หรือคนของพรรคการเมืองนั้นเลย

นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านๆมา หากประชาชนเลือกพรรคการเมืองใด ก็แสดงว่าประชาชนต้องการให้ผู้สมัคร ส.ส. ที่เป็นหมายเลข 1 ของพรรคการเมืองนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นแม้ว่าในการเลือกตั้งตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่ จะให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคสามารถเสนอ “บัญชีนายกฯ” โชว์แก่ประชาชนได้ถึง 5 คน แต่เวลาประชาชนตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้ง ก็จะดูที่ตัวบุคคลที่พรรคการเมืองนั้นเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในลำดับแรกเท่านั้นว่าเป็นใคร แต่ด้วยเหตุที่พรรคการเมืองสามารถมี “บัญชีนายกฯ”ได้ถึง 5 คน ทำให้เมื่อถึงเวลาเลือกบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีในสภาฯ พรรคการเมืองอาจเสนอชื่อบุคคลที่ไม่ได้อยู่ในลำดับที่1 ของ “บัญชีนายกฯ ” โดยไปหยิบเอาบุคคลที่มีรายชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในลำดับที่ 3หรือ 4 หรือ 5 ซึ่งอาจเป็น “คนนอกผู้มีอำนาจ” ที่สอดแทรกเข้ามาและไม่ใช่หัวหน้าพรรคหรือคนสำคัญของพรรคการเมืองนั้น จึงเป็นการบิดเบือนไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของประชาชนที่ลงคะแนนเลือกตั้ง

อีกทั้งระบบเลือกตั้งที่จะนำใช้คือระบบ “จัดสรรปันส่วนผสม” ที่เอื้อให้กับพรรคเล็กและ พรรคขนาดกลาง แต่ทำให้พรรคการเมืองใหญ่มีเสียงลดลง ซึ่งจะทำให้เกิด “รัฐบาลผสมหลายพรรค” และเมื่อเป็น “รัฐบาลผสม” ก็มีความเป็นได้มากที่จะไปเอา “ คนนอกผู้มากด้วยบารมี”มาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อค้ำยันรัฐบาลให้มีเสถียรภาพ ดังนั้นการที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ให้พรรคการเมือง เสนอ “บัญชีนายกฯ”ได้ถึง 5 คน จึงสอดรับกันพอดีกับการให้ “คนนอก” เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี

ด้าน“พรรคการเมือง”ต่างก็ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่ให้พรรคการเมืองต้องมี “บัญชีนายกฯ” โดยให้เหตุผลว่า ปกติเวลาพรรคการเมืองหาเสียงในการเลือกตั้ง คนก็รู้อยู่แล้วว่า ผู้สมัคร ส.ส ระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ลำดับแรก เป็นคนที่พรรคการเมืองเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีจึงไม่มีความจำเป็นต้องมี “บัญชีนายกฯ” หรือหากจะมี “บัญชีนายกฯ” พรรคการเมืองมีเพียงชื่อเดียวก็พอแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องมีถึง 5 ชื่อ เพราะชื่อลำดับที่ 2-5 ถึงมี ก็คงไม่ได้ใช้ เนื่องจากในความเป็นจริงเวลาเลือกนายกฯพรรคการเมืองก็คงเสนอชื่อ คนลำดับที่ 1 เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

แต่สำหรับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ให้เหตุผลที่ให้มี“บัญชีนายกฯ”ว่า มีข้อดี คือ การที่ให้พรรคการเมืองเปิดเผยบัญชีรายชื่อคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีให้ประชาชนรับรู้ตั้งแต่แรก ก็จะเป็นการป้องกันเวลาเลือกตั้งเสร็จ พรรคการเมืองไปเอา “ไอ้โม่ง” มาเป็นนายกฯ เพราะต่อไปนี้คนที่จะเป็นนายกฯได้ ต้องอยู่ใน “บัญชีนายกฯ” ที่พรรคการเมืองแสดงกับประชาชนไว้ตั้งแต่ตอนเลือกตั้งเท่านั้น

“อุดม รัฐอมฤต”โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและยังเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญด้วย บอกว่า “ บัญชีนายกฯ” ไม่ได้บังคับว่า ต้องมี 5 คน ดังนั้นพรรคการเมืองใดจะเสนอ “บัญชีนายกฯ” เพียงชื่อเดียวก็ได้หรือจะเสนอ สองชื่อ สามชื่อ ได้ทั้งนั้น แต่ต้องไม่เกิน 5 ชื่อ ขึ้นอยู่กับความพร้อมและการตัดสินใจของพรรคการเมืองนั้นเอง

“เหตุผลที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญให้เสนอ “บัญชีนายกฯ”ได้ถึง 5 ชื่อก็เพราะว่าที่ผ่านมาเราใช้นายกรัฐมนตรีเปลือง ส่วนมากอยู่ได้ช่วงระยะเวลาสั้นๆ น้อยคนที่จะอยู่ได้ครบอายุสภา พรรคการเมืองจึงจำเป็นต้องมีตัว ”นายกฯสำรอง “ เอาไว้ หากเกิดกรณีนายกรัฐมนตรี ต้องพ้นสภาพไป เช่น ลาออก ขาดคุณสมบัติ เสียชีวิตพรรคการเมืองก็สามารถหยิบเอาชื่อของคนที่สำรองไว้ใน “บัญชีนายกฯ” ขึ้นมาเสนอต่อสภาเพื่อให้เลือกเป็นนายกฯได้ ซึ่งเมื่อเทียบกับในอดีตที่ไม่มี “บัญชีนายกฯ” เวลานายกฯต้องพ้นสภาพไป ก็มีการไปหยิบเอา “ไอ้โม่ง” มาเป็นนายกฯ แต่ต่อไปนี้ป้องกัน “ไอ้โม่ง” ได้ เพราะต้องเอาคนที่มีชื่ออยู่ในบัญชีนายกฯ เท่านั้น ส่วนที่พรรคการเมืองใด จะเสนอชื่อนายกฯใน “บัญชีนายกฯ” เพียงชื่อเดียวนั้น ถามว่าพรรคการเมืองนั้นจะยอมเสี่ยงหรือไม่ เพราะหากนายกฯของพรรคการเมืองนั้นต้องพ้นสภาพไป แต่พรรคการเมืองนั้นไม่มีชื่อนายกฯสำรองไว้ ก็เป็นการเปิดช่องให้นายกฯมาจากพรรคการเมืองอื่น เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมืองไปเลย

นอกจากนี้การที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคการเมืองต้องมี”บัญชีนายกฯ“นั้น เป็นการทำให้พรรคการเมืองมีภาระหน้าที่ที่ต้องคัดเลือกคนที่มีคุณภาพ มีความสามารถ มาอยู่ใน “บัญชีนายกฯ ”เพื่อแสดงต่อประชาชนในเวลาเลือกตั้ง มิเช่นนั้นประชาชนก็ไม่เลือกพรรคการเมืองนั้น จะเห็นได้ว่า เรื่อง “บัญชีนายกฯ” ไม่ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์อะไรเลย มีแต่ได้ ”

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การที่ “บัญชีนายกฯ ” มีได้ถึง 5 คน อาจเป็นการเปิดช่องให้มีการแฝงตัวของ “ผู้มีอำนาจ” เข้ามาได้นั้น กรรมการร่างรัฐธรรมนูญผู้นี้ มองว่า หากพรรคการเมืองใดมีการ“หมกเม็ด ” เช่นว่านั้น ก็จะถูกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามในการเลือกตั้ง โจมตีและ เปิดโปงให้ประชาชนทราบ ซึ่งจะส่งผลต่อคะแนนรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้นเอง

ด้าน“สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ”อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ( นิด้า ) มองว่า ระบบรัฐสภาทั่วโลก เป็นที่รู้กันว่า “ หัวหน้า”พรรคการเมืองใหญ่ เป็น แคนดิเคตนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้ง จึงไม่มีความจำเป็นต้องมี “บัญชีนายกฯ" กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไปทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ

“ถ้าในการเลือกตั้งมีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง 50 พรรค แต่ละพรรคส่งรายชื่อบัญชีีนายกฯ 5 คน ก็จะมีชื่อแคนดิเดตนายกฯมากถึง 250 คน บางคนเป็นใครก็ไม่รู้ คนที่ได้รับการเสนอชื่อก็จะเป็น “จำอวดของโลก” และอาจต้องลง “กินเนสส์บุ๊ค” ว่าแคนดิเคตนายกฯไทยมีมากที่สุดในโลก ”

“สมบัติ” ชี้ว่า การที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คิดเรื่อง“บัญชีนายกฯ” ขึ้นมา ก็เพื่อเบี่ยงเบนให้ “คนนอก” มาเป็นนายกฯได้ โดยจุดเริ่มต้นของปัญหาก็มาจากการที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้กำหนดให้ “นายกฯ ” ต้องมาจาก“ ส.ส.” ตั้งแต่แรก จึงต้องไปคิดหาวิธีการเพื่อให้ดูดีขึ้น เช่น บัญชีนายกฯ ว่าได้แสดงให้ประชาชนเห็นตั้งแต่ตอนเลือกตั้งแล้ว จึงมีความชอบธรรม แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง

“บัญชีนายกฯ อาจเป็นการเปิดช่อง ให้ “ผู้มีอำนาจซึ่งเป็นคนนอก” แฝงตัวผ่านพรรคการเมืองเข้ามาได้ตามที่มีการมองกัน แต่ผมเห็นว่าเป็น “ช่องนรก” มากกว่า เพราะไม่สามารถรอดสายตาประชาชนและสื่อไปได้ พรรคการเมืองที่ยอมให้ผู้มีอำนาจซึ่งเป็นคนนอกสอดแทรก เข้ามาใน “บัญชีนายกฯ” จะถูกโจมตีอย่างหนักและสุดท้ายก็ไปไม่รอด ”

ขณะที่ “ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ” อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า การเมืองไทยพัฒนามาจนถึงจุดที่ประชาชนรู้ได้ล่วงหน้าว่า หัวหน้าหรือแกนนำของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ พรรคใดพรรคหนึ่งจะได้เป็นนายกรัฐมตรีหลังเลือกตั้ง จึงไม่ควรย้อนไปใช้วิธีการเสนอชื่อคน 1-5 รายชื่อเป็นนายกฯ ไม่ว่าจะเป็น“คนนอก”หรือ “คนใน” ก็ตาม

“แสดงว่าตอนนี้ “ผู้มีอำนาจ” เขาคุยกับพรรคขนาดกลางและพรรคเล็กแล้ว และพรรคขนาดกลางและเล็ก ขานรับที่จะให้มีการฝากชื่อ “คนนอก” มาเป็นนายกฯได้ เพราะเขาไม่ต้องการลงเลือกตั้ง และการเลือกตั้งครั้งหน้า ระบบเลือกตั้งก็เอื้ออำนวยให้พรรคกลาง พรรคเล็ก จัดตั้งรัฐบาลผสม ในขณะที่พรรคใหญ่ จะได้จำนวน ส.ส. ลดลง ผมไม่ได้รังเกียจ “คนนอก” มาเป็นนายกฯ แต่ต้องเป็นกรณีที่บ้านเมืองวิกฤตแต่ไม่ใช่การมาด้วยวิธีการแบบนี้ ”

ทั้งหลายทั้งปวง การเปิดช่องให้ “คนนอก” เป็นนายกฯ ได้นั้น เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาและไม่ว่า กรธ.จะพยายามหาวิธีการใดๆเพื่อให้เกิดความชอบธรรม เช่น บัญชีนายก แต่ก็ไม่สามารถทำให้ประชาชนเชื่อถือโดย “สนิทใจ” ได้