วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 24, 2558
ต่อนี้ไปประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยสี่อย่างคือ ตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ และศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ทุกแขนงอำนาจใช้อ้างอิง
อเมซซิ่งจริงเบยไตแลนเดียยุค คสช. ทำไร ไม่ทำไร คะแนนนิยมต้องได้ ๙๙ เปอร์เซ็นต์เสมอไป
วันก่อนโพลหน่วยงานรัฐจัดเอง ถึงแม้เศรษฐกิจจะยิ่งหดแห้ง ยางหกโลร้อย ข้าวไม่ถึงแปดพัน ซ้ำมาม่า อุตสาหกรรมแม่ยกตะหานยอดขายตกรูด โพลยังอุตส่าห์บอกว่าประชาชื่นชมอมสุขกับคณะกะตั้วลุงตู่ถึง ๙๙.๓ %
เมื่อวาน ทั่นรองนายกฯ ด้านกฎหมายออกมาคุยใหญ่คุยโต รัฐบาลนี้ผ่านร่าง กม. บานเบอะ เป็นเบือ ประกาศใช้แล้ว ๑๓๘ ฉบับ เหลือคาอยู่ที่สภาผัวเมียแห่งชาติ สนช. แค่ ๒๖ ฉบับ
นายวิษณุ เครืองาม ยังอ้างถึงการใช้อำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๔ ที่เบ็ดเสร็จจัดการพักงาน ไล่ออกข้าราชการไปแล้วกว่าร้อย ยังมีให้สั่งอีกหลายสิบ (ส่วนที่เอาไปใช้อีเหละเขะขะกับนักศึกษา นักกิจกรรมไม่พูดถึง)
ประการสำคัญการใช้อำนาจวิเศษแบบเหาะเหินเกินลงกา เช่น เรียกค่าเสียหายโครงการจำนำข้าวจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ใกล้ผลิดอกออกผลแล้วนี้ จะทำให้หารายได้เข้ารัฐเป็นหมื่นเป้นแสนล้าน (มาชดเชยการเก็บภาษีไม่เข้าเป้า เพราะรายได้แว้ทตกวูบ)
ทั่นรองฯ ทิ้งท้ายด้วยว่าการขับเคลื่อนรัฐกิจก็เหมือนปั่นจักรยาน นอกจากต้องมีกฎหมายเป็นจักรยานแล้วยังต้องปั่นทั้งโขยง (แบบปั่นเพื่อแม่และ bike for dad มั้ง) ไม่งั้นไม่สนุก ไม่น่าดู
(รายละเอียดเฉพาะเนื้อข่าวที่นี่ http://thaipublica.org/2015/12/vishnu-23-12-2558/…)
ทั่นรองฯ ลืมพูดถึงการโปรโมทรายการปั่นทั้งสอง แบบหมอหยองกับสารวัตรเอี๊ยด แล้วข้ามไปอิงถึงแม่น้ำห้าสายกับข้าราชการสองล้าน สรุปว่าประชาชนน่าจะตามแห่
และก็ยืนยัน “ความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ทำมาแล้ว ๑๕ เดือน และจะทำต่อไปอีก ๑ ปีเศษ” โดยงุบงิบไม่กล่าวถึงการอุ้มไปคุย ปรับทัศนคติ มีทหารขี่ฮัมวีไปกวนใจญาติโก และทำเอ็มโอยู (Memorandum of understanding) ผู้ที่ไม่เห็นดีเห็นงามด้วย
ตานี้ไอ้การกำหนดกฎหมายสายหลักให้เกิดการปกครองที่ ‘มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน’ อย่างทั่นรองฯ ว่า นั่นตอนนี้ปรมาจารย์ของทั่นรองฯ มือร่างกฏหมายหลังรัฐประหารชั้นเซียน กำลังขมีขมันปรุงให้ถูกรสปาก คสช. อยู่
เห็นข่าวกะปุกเมื่อวานอ้าง “มีชัย ฤชุพันธุ์ รับ ร่างรัฐธรรมนูญต้องมีนิรโทษกรรมให้ คสช. ตามสูตรในอดีต”
“สำหรับความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญขณะนี้ได้พิจารณาเกี่ยวกับโครงสร้างของวุฒิสภา (ส.ว.) เสร็จสิ้นแล้ว โดย ส.ว. จะแบ่งตามกลุ่มวิชาชีพ 20 กลุ่ม ซึ่งจะกำหนดรายละเอียด และวิธีการเลือกตั้ง ส.ว. ทางอ้อมไว้ในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ต่อไป”
(http://hilight.kapook.com/view/130732)
โฆษกกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแถลงเมื่อวานซืน “ที่ประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบเลือกตั้ง ส.ว.ทางอ้อมจากกลุ่มสังคม ๒๐ กลุ่ม ในนามนิติบุคคลและเครือข่าย และเลือกตั้งไขว้กันในระดับอำเภอ-จังหวัด”
ทั้งนี้นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ อ้างว่าใช้โมเดล ‘สภาสนามม้า’ ในอดีต หากแต่ด้วยฝีมือกำกับแบบ ‘มีชัย’ ทำให้ผลงานออกมาพิสดารเล็กน้อย
“สาเหตุที่ กรธ.ไม่กำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เพราะบทบาทหน้าที่ของ ส.ว.ที่ กรธ. กำหนดจะต่างจาก ส.ส. ที่ไม่มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และไม่ต้องการ ให้ ส.ว.เชี่ยวชาญกฎหมาย แต่ต้องการผู้รู้เรื่องต่างๆ มีความหลากหลาย”
(http://manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx…)
ด้านโฆษก กรธ. อีกคน นายอุดม รัฐอมฤต แถลงว่าสมาชิกวุฒิสภาแบบไม่เหมือนใครในหล้าตามรัฐธรรมนูญ ฉบับพิสดารที่กะว่าจะเปิดตัวร่างแรกในวันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๕๙ (เลขสวย) นี้มีพันธการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ ๓ ประการ
นอกจากกลั่นกรองกฎหมายแล้วยังควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยกำกับและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล (ฝ่ายบริหาร) กับเป็นผู้คัดเลือกกกรรมการในองค์กรอิสระ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลปกครองสูงสุด
เลิศล้ำสุดพรรณนาสำหรับความแปลกใหม่ในการได้มาซึ่ง สว. แบบมีชัยอยู่ที่สภาสูงแห่งนี้เปิดให้เป็นสภาผัวเมียตามอย่าง สนช. และ สปช. (ที่แปลงร่างมาเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป) แถมไม่จำกัดวุฒิการศึกษาสมาชิก
“ไม่ห้ามผู้ที่มีบุพการี คู่สมรส บุตร ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงสมัครส.ว. สามารถสมัครได้โดยตรง โดยไม่ต้องมีองค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงหาผลกำไรมารับรอง ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผู้สมัครผูกพันกับนิติบุคคลนั้นๆ”
“และหากส.ว.จะออกไปดำรงตำแหน่งส.ส. หรือรัฐมนตรี จะต้องพ้นจากตำแหน่งส.ว. แล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี เพื่อป้องกันไม่ให้ไปผูกพันกับผลประโยชน์กับฝ่ายการเมือง ในทางกลับกันหากอดีตส.ส.หากต้องการมาสมัครส.ว.ก็ต้องพ้นจากการเป็นส.ส.มาแล้ว ๕ ปีเช่นกัน”
(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1450870407)
หนำซ้ำมีสมาชิกสภาขับเคลื่อนคนหนึ่งไอเดียเจ๋ง เสนอเรื่องที่มานายกรัฐมนตรีว่าไม่ต้องมาจาก ส.ส. ก็ได้ ถูกใจทั้ง คสช. และพวกผัวๆ เมียๆ นายวิทยา แก้วภราดัย เห็นว่านายกฯ คนนอกที่พวกพ้องพร่ำเพรียกเรียกหานั้น แค่ผ่านการรับรองของสภาผู้แทนฯ ๓ ใน ๕ ก็พอ
(http://news.voicetv.co.th/thailand/301638.html)
นี่เขาช่วยกันตะบัน ดันวิถีไทยๆ ประชาธิปไตยไม่เอาสากล โดยไม่เกรงใจใครๆ ไม่สนว่ามีคนอีกมากมายไม่เห็นว่ามันจะทำให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตรงไหน
อย่างที่อดีต สสร. ฝ่าย ปชต. (ไม่ใช่ ปชป.) พยายามท้วงทักว่า รธน. เวอร์ชั่นมีชัย recycled จะไปไม่รอดตลอดถึงฝั่ง คือจะไม่ผ่านประชามติ ไม่มีสมานฉันท์ ไม่มีเสถียรภาพการเมือง และไม่เข้าตาสากล
นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร. ปี ๔๐ กล่าวว่า “เรื่องส.ว.แต่งตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สมัครกันเองเลือกกันเองใน ๒๐ กลุ่ม ตามข้อเสนอล่าสุดนั้น มีคำถามหลายข้อที่ กรธ.จะต้องตอบให้กระจ่าง
คำถาม ๖-๗ ข้อของนายคณิน จี้จุดใจกลางสิ่งที่เรียกว่า ‘เลือกตั้งทางอ้อม’ โดยไม่ให้ประชาชน ๔๐ ล้านคนมีส่วนแล้ว จะถือว่า สว.ที่ได้มาเป็นตัวแทนปวงชนได้อย่างไร
แล้วยัง กรธ. ตาบอดตาใสหรือไรที่ทำไขสือว่า “จะไม่มีการซื้อเสียงหรือบล็อกโหวต...” เพราะพฤติกรรม ‘ฮั้วกัน’ “ทำได้ง่ายกว่าการซื้อเสียงเลือกตั้งเสียอีก”
ข้อสำคัญ การให้ สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจริง เป็นผู้กลั่นกรองกฎหมายซึ่งตัวแทนประชาชนโดยตรงร่างไว้ ทั้งยังให้อำนาจตั้งองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญไปเป็นผู้ตรวจสอบถอดถอนฝ่ายบริหาร มันไม่ถูกต้อง
(http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1450594576)
กลายเป็นว่าร่าง รธน. ฉบับวิเศษนี้สามารถให้วุฒิสภาปลุกเสกศาลรัฐธรรมนูญเป็น ‘องค์กรเหนือรัฐธรรมนูญ’ ได้ด้วยอีกต่างหาก
ตกลงรัฐธรรมนูญใหม่ที่นายมีชัยกำลังทำคลอดมีความวิจิตรพิสดารไม่เหมือนรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกเขามีกันนั้น ออกแบบให้มีอำนาจอธิปไตยใหม่แหล่งที่สี่อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ก็น่าที่จะระบุไว้ให้ชัดแจ๋วเสียเลยว่า ต่อนี้ไปประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยสี่อย่างคือ ตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ และศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ทุกแขนงอำนาจใช้อ้างอิง