ที่มา FB
ข่าวเรื่อง "คสช." กับการจัดตั้ง "พรรคการเมือง"ได้รับการปฏิเสธอย่างต่อเนื่องและเฉียบขาด
ไม่ว่าจะจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ไม่ว่าจะจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ทำไมข่าวเรื่อง "พรรคคสช." หรือ "พรรคทหาร" จึงเกิดขึ้นอย่างไม่ขาดสาย ตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา
แสดงว่า "สังคม" ไม่เชื่อต่อ "คำปฏิเสธ" อย่างนั้นหรือ
จริง
ที่สรุปว่า "จริง" มิใช่เพราะเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่น่าเชื่อถือ มิใช่เพราะเห็นว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่น่าเชื่อถือ
แต่มองจาก "ประวัติศาสตร์"
ประวัติศาสตร์ทางการเมือง "ยุคใกล้" ของไทยต่างหากทำให้ "สังคม"ไม่เชื่อ หรือถึงเชื่อก็ไม่แน่ใจ
"คำถาม" นี้จึง "เกิดขึ้น"ตลอดเวลา
สร้างความหงุดหงิดให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างยิ่ง สร้างความหงุดหงิดให้กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่างยิ่ง
"ไม่มีหรอก ผมไม่เอาด้วย"
แม้กระทั่งเมื่อประสบเข้ากับคำถาม "มีบุคคลมาทาบทามหรือไม่"
"ไม่มี" เป็นคำตอบอันเฉียบขาดจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ "เรารู้ว่าเราทำให้ประเทศชาติแค่นี้ก็เหนือยแล้ว"
เหตุผล 1 ซึ่งสำคัญก็คือ
"พวกเราไม่ต้องการอำนาจ"
แม้จะยืนยันอย่างหนักแน่นและจริงจังถึงระดับนี้แต่เชื่อได้เลยว่าอีกไม่นานข่าวลือนี้ก็จะวนกลับมาอีก คำถามแบบนี้ก็ย้อนกลับมาอีก
ทำไม
ไม่ใช่ความผิดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่ความผิดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เพราะเมื่อปี 2500 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ตั้ง"พรรคเสรีมนังคศิลา"
เพราะเมื่อปี 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ตั้ง "พรรคสหภูมิ"
เพราะเมื่อปี 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็จัดตั้ง "พรรคชาติสังคม"
เพราะเมื่อปี 2512 จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ตั้ง "พรรคสหประชาไทย"
เพราะเมื่อปี 2521 ก็มี "พรรคเสรีธรรม"แอบสนับสนุน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
เพราะเมื่อปี 2524 ก็มี "สหพรรค" เพื่อสนับสนุนรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
เพราะเมื่อปี 2535 ก็มี "พรรคสามัคคีธรรม"เพื่อสนับสนุน พล.อ.สุจินดา คราประยูร
ไม่ว่าพรรคเสรีมนังคศิลา ไม่ว่าพรรคสหภูมิ ไม่ว่าพรรคชาติสังคม ไม่ว่าพรรคสหประชาไทย ไม่ว่าสหพรรค ไม่ว่าพรรคสามัคคีธรรม ล้วนเป็นผลผลิตภายหลังการยึดอำนาจ
ไม่ว่ายึดอำนาจโดย "ปากกระบอกปืน" ไม่ว่ายึดอำนาจโดยกระบวนการทาง"การเมือง"
เหล่านี้คือ ตัวอย่างของ "พรรคทหาร"
เป็นตัวอย่างจากยุคของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยุคของ จอมพลถนอม กิตติขจร ยุคของ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ยุคของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยุคของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร
เมื่อได้ "อำนาจ" ก็ต้องสืบทอด "อำนาจ"
กระบวนการ "รัฐประหาร" ก็คือกรรมวิธี 1 ในการได้อำนาจ การจัดตั้ง"พรรคการเมือง" ก็คือกรรมวิธี 1 ในการสืบทอดอำนาจ
เพียงแต่ว่าจะ "ต่อท่อ"อำนาจได้"นาน"แค่ไหนเท่านั้น
ตัวอย่างในทาง "ประวัติศาสตร์"เหล่านี้ต่างหากที่ทำให้คนมอง "รัฐประหาร"ด้วยความหวาดระแวง
หวาดระแวงจากยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงยุค พล.อ.สุจินดา คราประยูร
กระทั่งในที่สุดก็หวาดระแวง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หวาดระแวง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
แม้จะ "ปฎิเสธ" ก็ยัง "หวาดระแวง
...
เมื่อไม่สามารถชนะการเลือกตั้ง
เราก็บอยคอตการเลือกตั้ง เพื่อให้การเมืองเกิดวิกฤติ
เมื่อการเมืองเกิดวิกฤติ
เราก็ขอนายกฯพระราชทาน ม.7
เมื่อนายกฯพระราชทาน ม.7 ขัดรัฐธรรมนูญ
เราก็เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ให้มีนายกฯคนนอก
เมื่อเขียนร่างรัฐธรรมนูญใหม่แล้วยังแพ้เลือกตั้งอีก
เราก็เขียนกฎหมายเอาผิดย้อนหลังเพื่อยุบพรรค
เมื่อยุบพรรคแล้ว ยังแพ้พรรคใหม่ที่มาจากพรรคเก่า
เราก็ปลุกระดมให้ประเทศเกิดความวุ่นวาย
เมื่อเกิดความวุ่นวาย แล้วยังล้มรัฐบาลไม่ได้
เราก็ให้กองทัพออกมากู้วิกฤติ
เมื่อกู้วิกฤติแล้ว ความวิกฤติก็อาจกลับมาอีก
เราก็ต้องเขียนรัฐธรรมนูญ ป้องกันไม่ให้อีกฝ่ายมีโอกาสชนะ
เมื่อไม่ต้องการให้อีกฝ่ายชนะ
เราก็จำเป็นต้องอาศัยกฎหมายตัดสิทธิ์คนที่ได้รับความนิยมจากประชาชนไม่ให้ลงเลือกตั้ง
เมื่อตัดสิทธิ์คนที่ได้รับความนิยม แล้วยังไม่มั่นใจว่าจะชนะ
เราก็เพิ่มวุฒิสภาให้มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด
เมื่อเพิ่ม สว.ทั้งหมดแล้ว เสียงในสภาอาจไม่พอชนะพรรคของคนส่วนใหญ่
เราก็เปลี่ยนกติกาใหม่ให้เป็นการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม
เมื่อใช้กติกาใหม่แล้ว ยังไม่มั่นใจว่าจะชนะชัวร์
เราก็เพิ่มอำนาจให้องค์กรอิสระ เพื่อควบคุมดูแล ระงับยับยั้ง รัฐบาลที่ไม่ได้ดั่งใจ
เมื่อทำทั้งหมดนี้แล้ว ยังไม่สามารถชนะเสียงคนส่วนใหญ่ได้อีก เราก็ย้อนกลับขึ้นไปทำแบบเก่า แล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญแบบใหม่ อย่างไรเสียต้องชนะสักครั้งแหละครับ ตราบใดที่คนไทยส่วนหนึ่งไม่คิดจะนำอดีตมาเป็นบทเรียน