วันเสาร์, พฤศจิกายน 14, 2558

ผลการเลือกตั้งในพม่าล่าสุด เป็นภาพสะท้อนอย่างดีต่อการขอคืนประชาธิปไตยแท้จริงในประเทศไทย ที่ซึ่งกระบวนการเอกชนพลเมืองยังต้องร่วมแรงร่วมใจกัน Strife อย่างแข็งกล้า อย่าหยุดยั้ง และยิ่งหนักหน่วงต่อไปโดยไว





สื่ออเมริกันชมผู้นำทหารแผ้วทางปฏิรูป-เปิดประเทศ เป็นเหตุให้ซูจีชนะท่วมท้น

ผลการเลือกตั้งในพม่าล่าสุด เป็นภาพสะท้อนอย่างดีต่อการขอคืนประชาธิปไตยแท้จริงในประเทศไทย ที่ซึ่งกระบวนการเอกชนพลเมืองยังต้องร่วมแรงร่วมใจกัน Strife อย่างแข็งกล้า อย่าหยุดยั้ง และยิ่งหนักหน่วงต่อไปโดยไว

แม้จะเป็นที่เหน็บแนมกันในมวลชนประชาธิปไตยไทย ว่าขณะนี้หม่องแซงหน้าเราไปหลายขุมแล้ว ทว่า รายงานล่าสุดของ ธอมัส ฟุลเลอร์ ในหนังสือพิมพ์เดอะ นิวยอร์ค ไทมส์ กล่าวได้ว่า ‘เร้าอารมณ์’ ไม่น้อย

ท่ามกลางความรู้สึกร่วมในแวดวงสื่อมวลชน ว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางออง ซาน ซูจี จะยังมีข้อจำกัดอย่างมากในการเข้าไปกุมบังเหียนการปกครองประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากคณะทหารมีโควต้าคนของตนในสภาถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์ และดอว์ซูจีถูกกีดกันโดยรัฐธรรมนูญที่ทหารเขียนไว้ ห้ามต่างด้าวหรือผู้ที่มีญาติเป็นต่างชาติมิให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีได้

มิใยที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศนายหนึ่งจะทวี้ตเอ่ยไว้อย่างหยิกแกมหยอกว่า “จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าลูกชายของนางซูจีเกิดประกาศสละสัญชาติอังกฤษของเขา อันจะทำให้นางซูจีมีคุณสมบัติพร้อมเป็นประธานาธิบดีได้ไหม”

บทความของนายฟุลเลอร์ชื่อ ‘Myanmar generals set stage for their own exit’ เอ่ยถึงการเลือกตั้งพม่าไว้อย่างน่าคิด (http://www.nytimes.com/…/myanmar-elections-aung-san-suu-kyi…)

ว่าในเมืองหลวงเนเปียวดอร์ที่ประชากรส่วนใหญ่ล้วนเป็นข้าราชการและทหาร พรรคฝ่ายค้านของนางซูจีกลับชนะ ๗ ใน ๘ ท้องที่

คณะกรรมการเลือกตั้งประกาศผลเมื่อวันศุกรว่า พรรคเอ็นดีแอลได้รับเลือก ๓๔๘ ที่นั่ง มากพอเป็นเสียงข้างมากในสภา (จากจำนวนทั้งหมด ๔๙๑ ที่นั่งในการชิงชัยครั้งนี้) ขณะที่พรรคของทหารได้เพียง ๔๐ ที่นั่ง

“พลเมืองไม่กลัวที่จะออกเสียงต้านพรรคของฝ่ายปกครอง ต้องขอบใจความพยายามของรัฐบาลตลอด ๕ ปีที่ผ่านมา ที่จะยกเลิก ‘รัฐตำรวจ’ (แบบทหาร) รัฐบาลของประธานาธิบดีเตียนเสี่ยนลดหย่อนการเซ็นเซอร์ ปล่อยตัวนักโทษการเมือง และยอมให้มีการจัดตั้งองค์กรมหาชน สิ่งซึ่งเหี่ยวเฉามานานจากการกดขี่โดยเผด็จการทหาร”




ตามความเห็นของเดวิด สไตน์เบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่าแห่งมหาวิทบาลัยจ๊อร์จทาวน์ “ปัจจัยสำคัญก็คือเสรีภาพที่มีมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๔ ในบริบทของการหนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต ผ่อนผันการเซ็นเซอร์ และความสามารถในการจัดชุมนุม”

“นายเตียนเสี่ยนใช่ว่าจะไม่ได้รับความนิยมสูง จากการสำรวจของศูนย์เมอร์เดก้า สำนักโพลในมาเลย์เซีย พบว่า ๗๒ เปอร์เซ็นต์ของประชาชนที่ถูกสำรวจ แสดงความพอใจกับการบริหารประเทศของเขา

“เสียงส่วนใหญ่ของพลเมืองเหมียนหม่าพอใจที่เตียนเสี่ยนพยายามให้เกิดการปฏิรูป และเปิดประเทศ” ตัน เส็ง คีต ผู้จัดการวิจัยของเมอร์เดก้ากล่าว “แต่แค่นี้ไม่พอที่จะเติมเต็มความปรารถนาที่จะมีรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชน และพอกันเสียทีกับการปกครองทางอ้อมโดยคณะทหาร”

ข่าวนี้เป็นสิ่งที่คณะทหารไทยจะเอาไปขยายผล (หรือสร้างวาทกรรมต่อไป) ได้อย่างดี โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าคณะทหารพม่าใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี เพื่อจะมาถึงจุดที่พวกตนจะลงอย่างสง่างาม (โดยที่คณะทหารมีกลไกของตนคอยกำกับการบริหารปกครองตลอดไป และผู้นำหญิงของพรรคการเมืองตรงข้ามถูกจำกัดไม่สามารถเข้ารับตำแหน่ง)

แต่นั่นเป็นจุดมุ่งหมายสำหรับทหารไทยละหรือ อยู่ในอำนาจ ๕ ปี หรืออยู่ต่ออีกสามปีครบกำหนด โดยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปของตนคอยกำกับ และสามารถปิดกั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนักการเมืองในเครือข่าย ‘ทักษิณ’ ไม่ให้กลับเข้าสู่การเสนอตัวเป็นผู้บริหารปกครองประเทศไทยได้อีกตลอดไป

พิจารณาจากพฤติกรรมที่ผ่านมาของคณะทหารไทย คำตอบคงไม่ใช่อย่างน่นอน ไม่มีใครให้หลักประกันได้เลย (แม้กระทั่งที่เคยหวังในองค์ประมุขสูงสุด) ว่าถึงเวลานั้นจะไม่มีเหตุเป็นไปให้ต้องเลื่อนเลือกตั้งออกไปอีกไม่จบสิ้น

‘Roadmap to Democracy by the Thai junta’ มันเริ่มมาจากขอเวลาปีเดียว แต่แล้วก็ให้มีอันเป็นไปต้องเปลี่ยนเป็นสองปี ถ้าพินิจกันจะจะจริงๆ แล้วในขณะนี้ไม่เพียง คสช. เตะถ่วงไปเป็นสามปีถึงกลาง ๒๕๖๐ เลือกตั้ง

มันอยู่บนข้อแม้ที่ว่าคณะทหารสามารถกำจัดเครือข่ายและอิทธิพลของกลุ่มการเมืองที่พวกตนรัฐประหารโค่นล้มให้สิ้นซาก ผลลัพท์อันปรากฏจากอาการนบนอบของอดีตแกนนำ นปช. อุบลฯ ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันก่อน ช่างหวานชื่นเหลือหลาย

สำหรับพรรคการเมืองอีกฟากหนึ่งนั้น มันง่ายที่จะตะล่อมเข้ามาอยู่ภายใต้อุ้งรองเท้าบู้ท การตั้งรัฐบาลโดยอาณัติทหารภายในกรมทหารราบที่ ๑๑ ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นหลักประกัน




บทเรียนจากการศึกษากรณีการจำกัดเสรีภาพสื่อมวลชนในประเทศไทยโดย Reporters Without Borders ที่เพิ่งมีรายงานออกมาหมาดๆ เป็นหลักฐานเตือนภัยว่า คสช. ยืดขาแบะท่าอยู่ยาว

(http://fr.rsf.org/IMG/pdf/rapport_thailande_en.pdf)

รายงานกล่าวว่าตลอด ๑๕ เดือนที่ผ่านมาในการกุมอำนาจของ คสช. มันห่างไกลลิบลับกับสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่าตลอด ๕ ปี จนกระทั่งถึงการเลือกตั้งเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว

บทสรุปของรายงานบอกว่า

“ประเทศไทยยังคงอ้างต่อไปว่าเป็น ‘สวรรค์ของนักท่องเที่ยว’ และเป็นชาติที่ชีวิตแสนสดสวย ฉวยโอกาสแอบอิงประโยชน์กับวาทกรรมที่บัดนี้มิได้เป็นจริงอีกต่อไปแล้ว ว่าดีกว่าเหนือกว่าอย่างตรงกันข้ามกับเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว และพม่า

เบื้องหลังหาดทรายและวัดวาทางพุทธศาสนาอันสวยงาม เป็นระบอบเผด็จการห้าวโหดที่ไม่ยอมรับฟังการวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ หรือแม้แต่รายงานและการนำเสนอข่าวสารอย่างอิสระและเสรี...

อย่าไปเปรียบนายพลประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ว่าเหมือนจอมโหด คิม จอง อุน แห่งเกาหลีเหนือ ผู้กำหนดให้ปวงชนตกเป็นสาวกอย่างไร้ขื่อแป หรือไปเทียบกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่สามารถเปลี่ยนพื้นที่ทั้งภูมิภาคให้กลายเป็น ‘หลุมดำ’ ไปทั้งหมด อีกทั้งลักพาตัวและจองจำนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจำนวนร้อยๆ คน โดยไม่ปรากฏการแสดงความไม่พอใจจากชุมชนนานาชาติแต่อย่างใด

คณะทหารผู้ปกครองไทยก็ไม่ใช่อย่างเผด็จการทหารพม่าเช่นกัน




ถึงกระนั้นก็ดี คสช. ใช่เล่ห์เพทุบายและชั้นเชิงทางยุทธศาสตร์จากประเทศเผด็จการสามแห่งดังกล่าวอย่างได้ผล เช่นเดียวกับรัฐบาลจีน รัฐบาลทหารไทยจัดตั้งระบบควบคุมสื่อสารมวลชนทั้งท้องถิ่นและต่างชาติอย่างถาวร กำหนดการเซ็นเซอร์ล่วงหน้า ตรวจกั้นรายงานข่าวใดๆ ที่ถือว่าล่อแหลมและไม่เป็นผลดีต่อคณะทหาร ด้วยการส่งทหารไปกำกับดูแลสำนักข่าว ส่งหมายเรียกตัวหรือมีหนังสือเชิญผู้สื่อข่าวไป ‘ดื่มกาแฟ’

และเหนืออื่นใด ข่มขู่ด้วยโทษจำคุกเป็นเวลายาวนาน โดยศาลที่ให้การร่วมมือในวิธีการคุกคามเช่นนี้ เพื่อที่สื่อจะได้เซ็นเซอร์ตัวเอง

...คนไทยที่รู้เรื่องราวการปราบปฏิวัติฝรั่น (Saffron Revolution) ของพม่า เมื่อปี ๒๕๕๐ จึงยังลังเลที่จะเรียกร้องให้ร่วมกันประท้วงอย่างสันติเช่นนั้น ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองหลักๆ ในต่างจังหวัด

ความคลั่งไคล้ (หรือว่าเป็นเพียงข้ออ้าง) ต่อการฟื้นฟู ‘สันติสุขและความสงบเรียบร้อย’ ในช่วง ๑๕ เดือนที่ผ่านมา ทำให้ตัวแทนสื่อมวลชนและองค์กรอิสระมหาชนถูกจำกัดเสรีภาพในการสื่อสารและรวบรวมข่าวสาร ซึ่งได้มาอย่างยากเย็นเมื่อช่วงทศวรรษก่อนหน้า

การโจรกรรมเสรีภาพที่ขาดไม่ได้สำหรับประชาธิปไตยนี้ เกิดจากการแทรกแซงของคณะทหาร โดยที่ชุมชนนานาชาติมองเห็นอยู่เต็มตา หากแต่มิได้ทักท้วงประจานอย่างเต็มที่นัก”

กลับไปที่ชัยชนะท่วมท้นของพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยพม่า นอกเหนือจากความประทับใจในตัวดอว์ซูจีที่ชักนำให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิล้นหลามถึง ๘๐ กว่าเปอร์เซ็นต์แล้ว การจัดองค์กรแบบรากหญ้าของพรรค ร้านรวงโชว์ห่วยช่วยกันนำอาหารมาบริการอาสาสมัครที่ออกเดินพบปะชาวบ้านแบบตัวต่อตัว ป้ายโฆษณาหาเสียงต่างๆ ผู้สนับสนุนพรรคจัดหาจัดทำมาคนละไม้ละมือ

ขบวนประชาธิปไตยในประเทศไทยฉันใดก็ฉันนั้น จะหวนกลับไปเอาอย่างรากหญ้าพม่าบ้าง ไม่น่าจะเสียหลาย ไหนๆ ก็ไหนๆ ประเทศไทยถอยหลังไปต่อหางพม่าไกลออกไปทุกทีแล้ว หากถ้าฝ่ายการนำเกิดง่อยเปลี้ยเสียขาไปแล้ว รากหญ้าก็ต้องเดินกันเองต่อไป

ปรากฏการณ์ของกลุ่มนักศึกษาดาวดิน ที่ผันตัวพัฒนามาเป็นประชาธิปไตยใหม่ ได้จุดประกายแห่งการยืนหยัดรักษาเสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ พวกเขาไม่อินังกับคำขอให้รอก่อน คนหนุ่มสาวเหล่านี้มีจุดยึดเหนี่ยวแม่นมั่นในปณิธานต่อหลักการหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง เกินกว่าที่จะสยบกับชั้นเชิง ‘เกี๊ยเซี้ยะ’ ของระดับนำ กิจกรรมของพวกเขาจึงควรแก่การเกื้อหนุนโดยสายธารรากหญ้า




ดูเหมือนว่าขณะนี้เป็นจังหวะปะเหมาะที่กลุ่มประชาธิปไตยใหม่กำลังต้องการความช่วยเหลือด้านกำลังทุนดำเนินการ ผู้ใดเต็มใจและมีความพร้อมสามารถยื่นมือเข้าไปได้ตามอัธยาศัย