วันพุธ, พฤศจิกายน 04, 2558

ความเก่าเล่าใหม่... ทำไม "ทักษิณ" ไม่กลับมาสู้คดี "นพดล ปัทมะ" มีคำตอบ?




ทำไม "ทักษิณ" ไม่กลับมาสู้คดี "นพดล ปัทมะ" มีคำตอบ?

ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2556

วันนี้(13 เมษายน) นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊คส่วนตัว (Noppadon Pattama) ดังนี้

มีคนถามผมว่าถ้า "ทักษิณ" ไม่ผิดจริง ทำไมไม่มาสู้คดี ผมคิดว่าคำถามนี้น่าสนใจ และอยากจะชี้แจงครับ ผมยินดีตอบคำถามที่สงสัยอย่างบริสุทธิ์ใจ ดังนี้

1)หลังยึดอำนาจ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่งประกอบด้วยคนที่เป็นปฎิปักษ์กับทักษิณมาสอบสวนในหลายคดี เพราะจะเอาผิดให้ได้ เพื่อใช้สร้างความชอบธรรมในการรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากประชาชน การรัฐประหารนั้นถือว่าขัดหลักนิติธรรม การตั้งปฎิปักษ์มาสอบสวนเป็นการขัดหลักนิติธรรมแบบดับเบิล

2) ผมขอยกตัวอย่างคดีที่ดินรัชดาที่ตัดสินว่า พตท ทักษิณผิดนั้นก็เป็นผลการสอบสวนของคตส. ครับ ข้อเท็จจริง ท่านเซ็นให้ภรรยาไปประมูลซื้อที่ดินที่เป็นทรัพย์สินเน่าจากกองทุนฟื้นฟู ภายใต้แบงค์ชาติ ท่านไม่ได้ใช้อำนาจนายกฯช่วยภรรยาตนเอง เพราะเป็นการประมูลซื้อ เปิดซองกันจะๆเลยครับ ใครเสนอราคาสูงสุดก็ได้ไป

3) นอกจากนั้นก่อนประมูลก็ถามแบงค์ชาติว่าภรรยานายกประมูลได้ไหม เขาตอบว่าประมูลได้ คุณหญิงจึงเข้าประมูล และใช้ชื่อจริง ถ้าท่านไม่บริสุทธิ์ใจ ท่านคงไม่ใช้ชื่อตนเองเข้าประมูลหรอกครับ

4) การตัดสินของศาลไม่ถูกต้องตามกฎหมายในหลายประเด็นครับ ประเด็นแรกมาตรา 100 กฎหมายปปช.ห้ามคู่สมรสของเจ้าหน้าที่รัฐทำสัญญากับหน่วยงานที่ตนกำกับ ควบคุม หรือสั่งการ เช่น เมียของรัฐมนตรีคมนาคมไม่สามารถขายรถเมล์ให้ ขสมก. แต่สามารถขายยาแก้ปวดให้กระทรวงสาธารณสุขได้ เพราะสามีของตนไม่ได้กำกับดูแลกระทรวงสาธารณสุข

5) โดยหลักการตีความกฎหมายนั้น กฎหมายจำกัดสิทธิ์ต้องตีความอย่างแคบ และกฎหมายให้สิทธิ์ต้องตีความอย่างกว้างกฎหมายมาตรา 100 นี้เป็นกฎหมายจำกัดสิทธิ์ครับ ต้องตีความอย่างแคบ แต่ในคดีนี้ศาลตีความอย่างกว้าง โดยตีความว่านายกฯมีอำนาจกำกับดูแลกองทุนฟื้นฟูฯ ซึ่งตามกฎหมายแล้วแบงค์ชาติเป็นอิสระจากรัฐบาลนายกฯสั่งการไม่ได้ เห็นมั้ยครับรัฐบาลเห็นว่าดอกเบี้ยสูง ก็สั่งผู้ว่าแบงค์ชาติให้ลดดอกเบี้ยไม่ได้ กองทุนฟื้นฟูยิ่งเป็นอิสระจากรัฐบาลไกลออกไปอีกครับ

6) ต้องยอมรับครับว่าในบรรยากาศบ้านเมืองเช่นนี้ เราอยากเห็นความเป็นกลางและความเที่ยงธรรมของการตัดสินครับ เราไม่อยากเห็นใครเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมเพื่อทำลายกันทางการเมือง เราต้องไม่มีการบังคับและใช้กฎหมายอย่างสองมาตรฐาน ผมว่าถ้าเราใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ สอบสวนปกติ ตัดสินปกติ ใครก็อยากพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน

7) ท่านใดที่ไม่ได้ได้รับความอยุติธรรมอาจไม่เข้าใจว่ามันเจ็บปวดขนาดไหน การยุบพรรคเพียงเพราะกรรมการบริหารคนเดียวทำผิดแล้วตัดสิทธิ์กรรมการที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่แบบเหมาเข่ง การเปิดพจนานุกรรมเพื่อหาความหมายของคำว่าลูกจ้างทั้งๆที่ต้องเอาความหมายจากประมวลกฎหมายแพ่งหรือกฎหมายแรงงานเท่านั้น และการตัดสินให้ท่านสมัครพ้นจากความเป็นนายกฯเพราะการไปทอดไข่เจียวออกทีวี หรือแม้กระทั่งการไปเติมคำว่า "อาจ" ไปในรัฐธรรมนูญมาตรา 190 หรือการใช้กฎหมายที่ประกาศโดยคณะรัฐประหารย้อนหลังตัดสิทธิ์กรรมการพรรคการเมืองพรรคไทยรักไทย ก็ขัดหลักนิติธรรม เพราะกฎหมายใช้ย้อนหลังเป็นคุณได้ แต่ใช้ย้อนหลังเป็นโทษไม่ได้ครับ

ดังนั้น ที่ถามว่าทำไม พันตำรวจโท ทักษิณไม่กลับมาต่อสู้คดี ผมคงต้องถามกลับละครับว่า เหยื่อของการรัฐประหาร จะได้รับความยุติธรรมจากคดีที่เริ่มต้นสอบสวนโดยคณะรัฐประหาร และโดยคนที่เป็นปฎิปักษ์ทางการเมืองของเหยื่อ ซึ่งล้วนละเมิดหลักนิติธรรมหรือไม่ ผมว่าคำตอบหาได้ไม่ยากเลยครับ