วันเสาร์, พฤศจิกายน 07, 2558

อีกมุมของการ ‘โกนผม’ การทำผิด การประจาน ความอับอาย


ภาพหมอหยอง และสารวัตรเอี๊ยด

"อีกมุมของการ ‘โกนผม’ การทำผิด การประจาน ความอับอาย"

หลายครั้ง การโกนหัวคือแฟชัน บางครั้งเป็นการแสดงออกซึ่งการละทิ้งทางโลก เช่นการโกนหัวของนักบวช และบางครั้งเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมือง เช่น โกนหัวประท้วง หรือการโกนหัวของกลุ่มนีโอนาซี โดยการโกนหัวในลักษณะที่ว่านี้ เป็นการโกนอย่างสมัครใจ

ทว่า หากการโกนหัวนั้นเกิดขึ้นจากการบังคับโดยผู้มีอำนาจ มันก็อาจกลายเป็นสัญลักษณ์ของการประจาน เช่นการโกนหัวผู้ทำผิดทางเพศในกฎหมายของอิหร่าน การโกนหัวนักโทษในบางมลฑลของจีน การโกนหัวชาวยิวโดยรัฐบาลนาซี หรือกฎหมายตราสามดวงที่บังคับใช้ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่กำหนดให้โกนหัวผู้หญิงมีชู้พร้อมกับแห่ประจานทั่วตลาด

http://ilaw.or.th/node/3915...

ที่มา Ilaw
6 พ.ย. 2558

ขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเป็นเวลาติดต่อกันหลายวัน สำหรับคดีมาตรา 112 ของ "หมอหยอง" หรือ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ และเครือข่ายที่คาดกันว่ามีนายทหารและตำรวจระดับสูงรวมอยู่ด้วย การเปิดตัวต่อสาธารณะครั้งแรกของคดีนี้ทิ้งปมปริศนาให้สังคมได้สงสัยหลายประเด็น ปมเล็กๆ หนึ่งที่ถูกพูดถึงไม่น้อย คือ การที่ "หมอหยอง" และ "สารวัตรเอี๊ยด" หรือ พ.ต.ต.ปรากรม วารุณประภา ถูกนำตัวมามาฝากขังที่ศาลทหารในสภาพถูกโกนผม

กล่าวแค่การโกนผมคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรเพราะเป็นสิทธิและความชอบส่วนบุคคลที่พึงกระทำได้ แต่กรณีการโกนผมแบบหัวเกรียนของหมอหยอง และสารวัตรเอี๊ยด ครั้งนี้ น่าสนใจตรงที่ว่าเป็นการโกนผมก่อนนำทั้งสองคนมาฝากขังกับศาลทหาร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทั้งคู่น่าจะอยู่ในการควบคุมตัวตามอำนาจพิเศษตามประกาศหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ดังนั้น คำถามที่เกิดขึ้นคือทั้งสองคนโกนหัวทำไม เป็นการโกนหัวโดยสมัครใจหรือถูกบังคับ เพราะหากถูกบังคับก็นับเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหาตั้งแต่ต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม

ประเด็นเรื่องการโกนผม คงคล้ายกับอีกหลายประเด็นในคดีนี้ คือ สาธารณชนไม่อาจเข้าถึงข้อเท็จจริงที่จะให้ความกระจ่างได้ ประเด็นที่ค้างคาใจเหล่านั้นจึงยังถูกเก็บงำไว้เป็นมุมมืดหนึ่งสำหรับสังคมไทย ด้วยเหตุนี้ การมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ของระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในพื้นที่ต่างๆ ก็น่าจะช่วยให้เราเข้าใจบริบทของเหตุผลต่างๆ ในการโกนหัวผู้ต้องหาบ้าง

นักโทษจีนขึ้นศาลต้องโกนผม ชายอิหร่านมีชู้ให้เฆี่ยน และโกนผม

เริ่มที่ประเทศจีน ในปี 2556 ผลจากกระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐานที่ให้สิทธิอดีตนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงสามารถใส่ชุดทั่วไปเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของศาล ขณะที่การขึ้นศาลของสื่อมวลชนในเวลาไล่เลี่ยกันกลับต้องสวมชุดนักโทษและต้องโกนผม เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อมวลชน

Zhang Liyong ประธานศาลประชาชนจังหวัดเฮนาน เคยออกมากล่าวว่า ผู้ต้องหาคดีอาชญากรรมในจังหวัดเฮนาน (Henan) จะต้องไม่ถูกบังคับให้โกนผม สวมชุดนักโทษ และถูกขังไว้ในคอกของห้องพิจารณาคดี เพราะนั่นเป็นสัญลักษณ์ว่าเขามีความผิดทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้ถูกตัดสินหรือถูกจำคุก ซึ่งก่อนหน้านี้การบังคับให้โกนหัวและอื่นๆ มาจากการที่ระบบกฎหมายเดิมของจีนไม่มีหลักสมมุติฐานว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ความว่าไม่ผิด


ภาพผู้ต้องหาชาวจีนระหว่างการไต่สวนของศาล


ในประเทศอิหร่าน มีประมวลกฎหมายว่าด้วยการทำผิดเกี่ยวกับประเวณี ซึ่งในมาตรา 87 ของประมวลกฎหมายฉบับนี้กำหนดบทลงโทษว่าผู้ชายที่แต่งงานแล้วกระทำการผิดประเวณีจะต้องถูกลงโทษโดยการเฆี่ยน ถูกโกนผม และถูกขับออกจากประเทศเป็นเวลาหนึ่งปี กฎหมายฉบับนี้ยังถูกบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งความผิดและบทโทษลักษณะนี้คล้ายกับกฎหมายตราสามดวงของประเทศไทยในช่วงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

"กฎหมายตราสามดวง" หญิงมีชู้ให้ลงโทษโกนผมแห่ประจาน

สำหรับประเทศไทย ก่อนการปฏิรูประบบยุติธรรมขนานใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ห้าเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชาติตะวันตก สยามประเทศใช้กฎหมายตราสามดวงเพื่อควบคุมและจัดระเบียบผู้คนในสังคม สำหรับการโกนผมในกฎหมายตราสามดวงพบในหมวดพระไอยการลักษณะผัวเมีย คือมีการกำหนดให้ผู้หญิงที่มีชู้ถูกลงโทษด้วยการประจานโดยให้เอาเฉลวปะหน้า ทัดดอกฉะบาแดงสองหู ร้อยดอกฉะบาแดงใส่ศีรษะ ใส่คอ ให้นายฉะม่องตีฆ้องประจานสามวัน ถ้าผู้หญิงยังทำชู้ด้วยชายผู้เดียวกันถึงสองครั้งสองครา ผู้หญิงนั้นให้โกนศีรษะเป็นตะแลงแกงเอาขึ้นขาหย่างประจาน แล้วให้ตระเวนรอบตลาดแล้วให้ทวนด้วยลวดหนัง 20 ที

จากที่กล่าวมาทั้งหมดการโกนผมดูเหมือนจะเป็นรูปแบบหนึ่งในการลงโทษของกฎหมายโบราณ ดังจะเห็นชัดในกรณีกฎหมายตราสามดวงของประเทศไทย นอกจากนี้การโกนผมในกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ยังผูกติดกับรัฐแบบอำนาจนิยม ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครอง ให้ความสำคัญกับอำนาจรัฐมากกว่าเสรีภาพของประชาชน เห็นชัดเจนคือปัจจุบันประเทศที่ยังใช้วิธีการนี้อยู่ คือ ประเทศอิหร่าน และประเทศจีน

สำหรับเหตุผลของการโกนผมก็คงจะมีเหตุผลสองข้อหลัก คือ หนึ่งรัฐได้แสดงถึงอำนาจในการควบคุมประชาชนโดยทำให้ผู้ต้องหาถูกตราหน้าจากสังคมว่าเป็นผู้กระทำผิด และสองเป็นการประจานทำให้ผู้ต้องหาอับอายและเสียชื่อเสียง ทั้งๆ ที่ในบางกรณีตัวผู้ต้องหาเองยังไม่ได้ถูกจำคุกหรือถูกศาลตัดสินว่ามีความผิด

เอาเข้าจริง การโกนผมมีความหมายได้หลากหลายขึ้นอยู่กับว่า เกิดขึ้นในพื้นที่ใดและเกิดขึ้นช่วงเวลาใด เช่น ด้วยเหตุผลส่วนตัวเราอาจโกนผมเพื่อให้หนังศีรษะสบายขึ้น หรือเราอาจโกนผมเพื่อให้เข้ากับแฟชั่น ในทางพุทธศาสนาเราโกนผมเพื่อบวชเป็นพระเป็นเณร ในทางการเมืองเราอาจจะโกนผมเพื่อประท้วงบางสิ่งบางอย่าง

แต่ในกระบวนการยุติธรรมบางครั้งมีการโกนผมเพื่อบอกสังคมว่าคนนั้นกระทำความผิด และเป็นการประจานทำให้อับอายต่อสาธารณะ สำหรับคดี 112 ของ "หมอหยอง" และพวกน่าจะใกล้เคียงกับอย่างหลังสุด หรือหากมีเหตุผลอย่างอื่นอีกก็คงยังเป็นปริศนาต่อไป


เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
เสียชีวิตระหว่างควบคุมตัว ต้อง “ชันสูตรพลิกศพ” และ “ไต่สวนการตาย”

...

การบังคับโกนหัวผู้ต้องหาเป็นการประจานโดยให้ภาพต่อสาธารณชนว่าผู้ต้องหารายนั้นเป็นผู้ที่กระทำผิดร้ายแรง (ทั้งๆที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาคดี) มีไม่กี่ประเทศในโลกที่ปฏิบัติต่อผู้ต้องหาเช่นนี้ ซึ่งประเทศหนึ่งที่เคยโกนหัวผู้ต้องหาในคดีความผิดร้ายแรงได้แก่ประเทศจีน แต่เมื่อสองปีที่ผ่านมาประธานศาลประชาชนมณฑลเหอหนาน ได้ออกมากล่าวว่า ผู้ต้องหาคดีอาชญากรรมในมณฑลเหอหนานจะต้องไม่ถูกบังคับให้โกนผม สวมชุดนักโทษ หรือถูกขังไว้ในคอกของห้องพิจารณาคดี เพราะนั่นเป็นสัญลักษณ์ว่าเขามีความผิดทั้งๆ ที่เขายังไม่ได้ถูกตัดสินหรือถูกจำคุก



Jon Ungphakorn