วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 12, 2558
หมายจับพันเอก - “ประวิตร” ยับเยินระวังอาฟเตอร์ช็อก !?
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
10 พฤศจิกายน 2558
ผ่าประเด็นร้อน
“พูดไม่ออกได้แต่กลอกหน้า” เป็นอาการล่าสุดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จำเป็นต้องตอบคำถามของสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันจันทร์ที่ 9 พฤศจิกายน หลังจากที่ฝ่ายกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ พ.อ.คชาชาต บุญดี ฝ่ายเสนาธิการประจำกองทัพภาคที่ 3 อดีตผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.ป.1 รอ.) ในฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
โดยคำพูดล่าสุดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กล่าวว่า “ก่อนหน้านั้น ยังไม่มีหมายจับที่พัวพันกับนายทหาร ผมจึงได้ปฏิเสธว่า ไม่มีนายทหารเกี่ยวข้อง สื่อจะมาว่าผมไม่ได้ และใช้คำพูดแบบนี้ไม่ได้ พูดแบบนี้ก็แย่สิ มาหาว่าผมปฏิเสธ ก็ผมไม่รู้นี่ เพราะตอนนี้เขาเพิ่งออกมา (หมายจับ)”
ถามว่า การมีเรื่องเช่นนี้ออกมาจะส่งผลต่อกองทัพหรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “จะมีผลอะไร คนมันหนีไปแล้ว แล้วจะให้ผมทำอย่างไร เรื่องนี้เป็นเรื่องของบุคคล ผมย้ำไปแล้วว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล”
ส่วนจะมีการจับกุมนายทหารแค่รายนี้รายเดียวหรือไม่นั้น
“ขณะนี้มีเพียงรายเดียว ยังไม่ขอตอบว่าจะมีอีกหรือไม่ เจ้าหน้าที่จะต้องสืบสวนต่อไป และรอผลสอบสวนจากเจ้าหน้าที่”
ต้องบอกว่าราวกับ “หนังคนละม้วน” หักมุมเปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลา จากก่อนหน้านี้ หากย้อนไปเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เคยให้สัมภาษณ์แบบยอมรับกลาย ๆ ว่า คดีดังกล่าว “อาจมีนายทหารเข้าไปเกี่ยวข้อง” อย่างไรก็ดี หลังจากนั้น ท่าทีของเขาก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หลังจากมีข่าวออกมาว่ามีนายทหารระกับยศพลตรี และ พันเอก ในกองทัพพัวพันคดีถึงราว 40 - 50 คน และที่น่าสังเกต ก็คือ มีสื่อแทบทุกสำนักรายงานตรงกันว่าข่าวดังกล่าวมาจาก พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพรามณกุล รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวนจนทำให้ต้องมีการออกมาแถลงยืนยันว่าไม่เคยให้ข่าวแบบนั้น พร้อมทั้งขู่ฟ้องสื่อที่รายงานข่าวมาแล้ว
รวมทั้งท่าทีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ออกมาปฏิเสธในเรื่องเดียวกันด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว ว่าทำให้กองทัพเสียหาย หากนำเสนอข่าวออกไปก่อนโดยที่ยังไม่มีการออกหมายจับ แต่ถึงอย่างไรก็ได้ออกตัวไว้ว่าหากพบความผิดก็ “เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับกองทัพ”
แต่ที่น่าจับตา ก็คือ คำพูดล่าสุดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่กล่าวว่า “ก็คนมันหนีไปแล้ว จะให้ผมทำอย่างไร” ซึ่งคนที่หนีในที่นี้น่าจะหมายถึง “พ.อ.คชาชาต บุญดี” นั่นเอง
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าพิจารณกัน ก็คือ เมื่อสัปดาห์ก่อนมีรายงานข่าวยืนยันว่า นายทหารคนดังกล่าวได้หลบหนีออกจากประเทศไทยทางด่านแม่สอด เข้าไปประเทศเพื่อนบ้าน โดยในรายงานข่าวยังระบุอีกว่า มีการเบิกเงินสดออกจากบัญชีผ่านผู้หญิงที่ใกล้ชิดคนหนึ่งในเชียงใหม่จำนวนกว่ายี่สิบล้านบาทออกไปด้วย และระบุชัดว่า “ไปแล้วไปลับ” ซึ่งเป็นรายงานข่าวที่ยืนยันมานานแล้ว รวมทั้งมีรายงานยศพลตรีอีกคนหนึ่งที่มีส่วนพัวพันในคดีนี้ด้วย
ซึ่งต่อมาพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้ออกมาปฏิเสธอย่างฉุนเฉียว ว่า “ไม่มีนายทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้” จากนั้น พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล หัวหน้าชุดสอบสวนคดีหมิ่นเบื้องสูงก็ออกมาแถลงปฏิเสธว่าไม่ได้ให้ข่าวมีนายทหารยศพลตรี และพันเอก ราว 50 คน พัวพันคดี รวมทั้งยังย้ำว่าไม่มีทหารเกี่ยวข้อง
แต่ในที่สุดก็มีการแจ้งความดำเนินคดีและออกหมายจับ พ.อ.คชาชาต บุญดี ทำให้น่าจับตากันต่อไปว่าจะมีการออกหมายจับนายทหารรายอื่นตามมาอีกหรือไม่ โดยเฉพาะนายทหารยศพลตรีรายหนึ่งก่อนหน้านี้ สำหรับรายของ พ.อ.คชาชาต นั้น มีรายงานว่า มีความผิดจากการเรียกรับผลประโยชน์จากกรณีการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์
แน่นอนว่า กรณีที่เกิดขึ้นถือว่าเป็นความผิดส่วนบุคคล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกองทัพ แต่ถึงอย่างไรในเมื่อมีคนในกองทัพเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีสำคัญ มีความ “อ่อนไหว” ต่อความรู้สึกของประชาชน ก็ยิ่งน่าจับตา และที่สำคัญ ต้องอย่าทำให้เกิดความรู้สึกว่า “มีการปกปิดหรือปกป้องพวกเดียวกัน” เป็นอันขาด เหมือนกับก่อนหน้านี้มีการยืนกรานว่า “ไม่มีทหารเกี่ยวข้อง” แต่ในตอนนี้กลับออกมาในทางตรงข้าม
อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่า สังคมยังเชื่อมั่นกองทัพ เพราะไม่ได้เกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของตัวบุคคลล้วน ๆ แต่ขณะเดียวกัน นาทีนี้ถือว่าคนที่ยับเยินที่สุด ก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ความน่าเชื่อถือหดหายลงไป และที่น่าจับตาอีก ก็คือ จะเกิด “อาฟเตอร์ช็อก” อะไรตามมาหรือไม่ เพราะเมื่อพิจารณาจากปูมหลังและตำแหน่งปัจจุบันของ พ.อ.คชาชาต บุญดี คนนี้ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะใกล้ชิดกับระดับ “ซูเปอร์บิ๊ก” เลยทีเดียว
ดังนั้น นอกจากต้องติดตามดูว่าจะเกิดแรงสั่นสะเทือนตามมาหรือไม่ โดยเฉพาะต้องรอดูมีนายทหารรายอื่นเกี่ยวข้องและถูกออกหมายจับตามมาอีกหรือไม่ นี่ว่ากันเฉพาะภายในเรื่อง “สีเขียว”
ยังไม่นับกรณีการแถลงข่าวของ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่เปิดเผยว่า สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ “หมอหยอง” ผู้ต้องหาคดีกระทำความผิดตามมาตรา 112 ได้เสียชีวิตด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน เวลา 22.00 น. !!