วันอังคาร, มกราคม 01, 2562

อ่านทบทวน การยืนยันผ่านคำพูดของจำเลยผู้เชื่อในความบริสุทธิ์ของตัวเอง และเลือกใช้เวทีการเบิกความต่อศาล เพื่อต่อสู้ ยืนยันความเชื่อในสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย





The testimonies 2018 : การยืนยันผ่านคำพูดและการกระทำของนักต่อสู้


โดย admin
Freedom Ilaw

25 ธันวาคม 2018


ปี 2561 เป็นอีกปีที่แบกรับเรื่องราวมากมายของสถานการณ์คดีเสรีภาพการแสดงออกในประเทศ ผู้ถูกดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพด้านต่างๆ ตั้งแต่การคิด การพูด การเขียน หรือการแสดงออกโดยการชุมนุม ก็ยังคงต้องต่อสู้กันต่อไปตามความคิด ความเชื่อ ที่พวกเขาและเธอต่างคาดหวังจะเห็น


เมื่อคดีของพวกเขาขึ้นสู่การพิจารณาในชั้นศาล ก็เป็นโอกาสอันดีที่ความเชื่อของพวกเขาจะถูกรับฟังและบันทึกไว้ในสนามการต่อสู้นี้อย่างเป็นทางการ โดยไม่ต้องหวั่นเกรงว่า ผลของคดีที่ศาลตัดสินจะออกมาเป็นอย่างไร รายงานชิ้นนี้ไอลอว์พยายามเลือกสิ่งที่นักต่อสู้ทั้งหลายเลือกที่จะเชื่อ เลือกที่จะยืนยันอย่างหนักแน่น ผ่านปากคำพยานในคอกพยาน

การยืนยันครั้งสุดท้ายของทนายประเวศ

"ศาลไม่มีความชอบธรรมที่จะพิจารณาคดีนี้ หากมีการพิจารณา ผมต้องการให้พิจารณาลับหลังผมไปเลย เพราะสภาพผมเป็นแบบนี้ ผมจะไปสู้คดีได้ยังไง ศาลให้ความเป็นธรรมแล้วหรือ ผมขอยืนยันว่า ไม่ยอมรับกระบวนการยุติธรรม แต่จะไม่ขัดขวางการพิจารณาคดีของศาล"

อย่างองอาจเชื่อมั่น เมื่อศาลขานชื่อ ประเวศ ในชุดนักโทษ ถูกราชทัณฑ์สวมกุญแจข้อเท้า มีผ้าปิดปาก ลุกขึ้นยืนกล่าวกับศาล

ผู้พิพากษาหญิงซึ่งเป็นผู้สนทนากับประเวศเป็นหลักตอบว่า "ศาลต้องพิจารณา เพราะฟ้องมาแล้ว ศาลจะให้ความเป็นธรรมอย่างดีที่สุด” ประเวศ กล่าวว่า "ตนไม่เชื่อ สภาพแบบนี้จะสู้ยังไง แถลงการณ์ฉบับ 5-7 ส่งให้ศาล ศาลก็ไม่ได้ จะถือเอกสารออกมาจากเรือนจำเรือนจำก็ไม่อนุญาต คดีนี้ผมถูกพิพากษาไปแล้ว ตั้งแต่ศาลสั่งไม่ให้ประกันตัว ก็สืบพยานข้างเดียวแล้วลงโทษ 100 กว่าปีไป แล้วลดเหลือ 50 ปีไป"

ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือน เมษายน 2560 ประเวศถูกเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าควบคุมตัว ก่อนถูกควบคุมตัวมาที่มณฑลทหารบกที่ 11 โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อญาติหรือทนายความ ประเวศถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลอาญาโดยถูกตั้งข้อกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรื่อยมา

8 พฤษภาคม 2561 หลังจบบทสนทนาดังกล่าว อัยการร้องขอ และศาลก็เห็นควรว่าจะสั่งพิจารณาคดีลับ จึงต้องเชิญผู้สื่อข่าว องกรค์ด้านสิทธิมนุษยชน และแม้กระทั่งญาติของประเวศ ให้ออกไปจากห้องพิจารณาคดี และเริ่มสืบพยานโดยอัยการโจทก์นำพยานเข้าสืบ 2 ปาก ก่อนทยอยสืบพยานฝ่ายเดียวจนเสร็จระหว่างวันที่ 8-11 พฤษภาคม 2561

23 พฤษภาคม 2561 ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องในข้อกล่าวหามาตรา 112 ทั้งหมด และให้ลงโทษจำคุกตามมาตรา 116 กรรมละห้าเดือนรวม 15 เดือน และพิพากษาว่า ประเวศมีความผิดฐานไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 25/2549 ให้ลงโทษจำคุกหนึ่งเดือน หลังรับโทษครบตามกำหนดเวลา 16 เดือน ประเวศถูกปล่อยตัวเมื่อ 26 สิงหาคม 2561 พร้อมแบกประสบการณ์การใช้ชีวิตนักโทษกับการสู้คดีด้วยวิธีการพิเศษครั้งแรกและครั้งเดียวในประเทศไทยกลับออกมาด้วย ถึงวันนี้ ทนายประเวศยังมีความหวังที่จะกลับมาประกอบอาชีพทนายความ และยังคงไว้ซึ่งความคิดความเชื่อทางการเมืองที่ไม่เปลี่ยนแปลง

“7 แม่หญิง” กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด ผู้ต่อสู้ปกป้องสิ่งแวดล้อมจากเหมืองทองคำ

“ศาลมีโอกาสยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งได้รับการคุ้มครองทั้งตามกฎหมายไทยและระหว่างประเทศ โดยควรยกฟ้องคดีตามข้อกล่าวหาเหล่านี้ต่อผู้หญิงทั้งเจ็ดคน” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารองกรค์สิทธิมนุษยชน ฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว

พฤศจิกายน 2559 สภา อบต.เขาหลวง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย จัดประชุมวาระพิจารณาเรื่องขอต่ออายุใบอนุญาตขอใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าไม้และ สปก. เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ วันนั้นชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเรียกร้องให้ยกเลิกประชุม เนื่องจากผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำยังไม่ถูกแก้ไขและเยียวยา กรณีดังกล่าวนำมาสู่การตั้งข้อกล่าวหาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มาตรา 8, 10 และร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่น โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309

ในชั้นสืบพยานที่ศาลจังหวัดเลย จำเลยหญิง 4 คน จาก 7 คน ขึ้นเบิกความตรงกันว่า ตั้งแต่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้ามาทำเหมืองแร่ทองคำ ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบรวม 6 หมู่บ้าน ทั้งฝุ่นฟุ้งกระจาย มลภาวะทางเสียงเพิ่มมากขึ้น ชาวบ้านกว่า 100 คน มีสารโลหะหนักอยู่ในร่างกายทั้งเกินและไม่เกินค่ามาตรฐาน เป็นเหตุให้ชาวบ้านคัดค้านไม่ให้สภา อบต.เขาหลวง ให้ความเห็นชอบการขอต่ออายุใบอนุญาตเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ เพราะยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาแก้ไขปัญหา

พยานจำเลยทั้ง 4 เบิกความอีกว่า ก่อนเกิดเหตุประมาณ 2 วัน ประธานสภา อบต.เขาหลวง มีหนังสือถึงกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดเพื่อเชิญให้เข้าฟังการประชุม ชาวบ้านจึงเดินทางไปร่วมรับฟังตามคำเชิญ เมื่อไปถึง อบต. เขาหลวง ก็ได้นั่งกระจัดกระจาย ไม่ได้กีดขวางทางเข้าออก หรือขัดขวางการทำงานของ อบต. ประชาชนทั่วไปก็สามารถมาทำธุระได้ตามปกติ อีกทั้ง ในบริเวณที่เกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ดูแลรักษาความเรียบร้อย หลายร้อยนาย

19 เมษายน 2561 ศาลจังหวัดเลยนัดฟังคำพิพากษา สำหรับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เนื่องจากรัฐหรือ อบต.เขาหลวง เป็นคนจัดการประชุม ไม่ใช่ชาวบ้านเป็นผู้จัดการประชุม ขณะที่ชาวบ้านก็ไปร่วมรับฟังตามคำเชิญ และการประชุมของ อบต.เขาหลวง เป็นการประชุมตาม พ.ร.บ.อบต. 2537 จึงไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ

ส่วนข้อหาที่สอง จำเลยร่วมกันข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สิน อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 หรือไม่ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ดูไม่น่าเชื่อถือ และเบิกความขัดแย้งกันกับพยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจ เนื่องจากพยานโจทก์ซึ่งเป็นสมาชิก อบต.เขาหลวงเบิกความไว้ว่า ชาวบ้านปราศรัยและข่มขู่จนทำให้เกิดความกลัว ขณะที่พยานฝ่ายโจทก์ที่เป็นตำรวจก็เบิกความรับรองว่า การเข้าร่วมรับฟังการประชุมของชาวบ้านเป็นไปโดยสงบ ไม่มีการบังคับขู่เข็ญใด ๆ และไม่ปรากฏว่าจะมีการใช้ความรุนแรง ศาลจึงเห็นว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามระบอบประชาธิปไตย จึงสั่งให้ยกฟ้อง

“คสช. ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์” กับคดีชูป้ายรัฐประหาร ผ่านพยานผู้เชี่ยวชาญ

"คำว่ารัฏฐาธิปัตย์เป็นการผสมระหว่างคำว่า รัฐ+อธิปไตย หมายถึงผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ ในแผ่นดิน ไม่ต้องเชื่อฟังผู้ใด ไม่ต้องฟังกฎหมายฉบับใดอีก ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์พระมหากษัตริย์คือรัฏฐาธิปัตย์ ในระบอบประชาธิปไตยรัฏฐาธิปัตย์คือประชาชน” ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์เบิกความเป็นพยานในคดีที่จตุภัทร์ หรือ “ไผ่ดาวดิน” ถูกดำเนินคดีจากการชูป้ายต้านรัฐประหาร

ในชั้นสืบพยานที่ศาลทหาร จ.ขอนแก่น คดีขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ของจตุภัทร์ ที่ถูกแยกมาดำเนินคดีเพียงลำพัง มีนักวิชาการหลายคนที่มาเบิกความในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ และรองรับการกระทำของไผ่และเพื่อนอีก 6 คนว่า ไม่ได้มีเจตนาจะละเมิดกฎหมายข้อใดเลย

“เห็นว่า คสช.ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์ เพราะคสช.ต้องรอการโปรดเกล้าฯจากพระมหากษัตริย์ มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว บัญญัติไว้ชัดเจนว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แสดงให้เห็นว่า คสช.ไม่ใช่รัฏฐาธิปัตย์”

“การออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เป็นไปเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติเท่านั้น การกระทำของจำเลยซึ่งกระทำโดยสงบและไม่มีผลกระทบต่อประเทศชาติ จึงไม่เข้าข่ายความผิดตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558” ชำนาญ จันทร์เรือง กล่าว

"การเคลื่อนไหวทำนองแบบที่จำเลยทำนี้ มีทุกยุคสมัย ทำให้เกิดผลดีของสังคมเสมอมา เช่น ขบวนการเสรีไทยที่ถูกมองว่า เป็นกบฏ แต่ภายหลังการกระทำนั้นกลับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และการกระทำของจำเลยที่คัดค้านรัฐประหารเป็นความผิด แต่ในระยะยาวแล้วอาจจะกลายเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม การกระทำของจำเลยไม่ก่อให้เกิดความรุนแรงแต่อย่างใด เป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่อยากเห็นประเทศไทยเดินถอยหลัง”

“ในทางประวัติศาสตร์ มีความเห็นว่า คณะรัฐประหารทุกคณะสับสนระหว่างอำนาจของตนเองกับอำนาจของรัฐ การคัดค้าน คสช. ของจำเลยกระทบต่อความมั่นคงของ คสช. ไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของชาติ ถ้าเรายอมรับว่า คสช. คือชาติ จำเลยทำผิดแน่นอน แต่ถ้า คสช. ไม่เป็นชาติก็ไม่น่าจะถูกลงโทษ" ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์

คดีนี้ศาลสืบพยานเสร็จทั้งโจทก์และจำเลยแล้ว แต่ยังไม่นัดวันพิพากษา เนื่องจากทนายยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่า คำสั่งที่ 3/2558 ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 22/2561 เรื่องให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อที่ 12 ฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ซึ่งเป็นฐานความผิดที่ใช้ฟ้องคดีนี้ คดีนี้จะมีคำพิพากษาออกมาอย่างไร

“วิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” คดีที่ผ่านไปกับความค้างคาใจอยากสู้ต่อ

"ผลกระทบของการรัฐประหารครั้งนี้ คือการทำให้ทหารมาแทรกแซงในชีวิตของพลเรือนมากเกินไป และมีการทำให้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนกลายเป็นความผิดทางอาญาไป นอกจากนี้ชีวิตพลเรือนของนักวิชาการที่ต้องมีการสัมมนากันเป็นเรื่องปกติ กลับกลายไปเป็นความผิด และถูกทางเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามารบกวนแทรกแซงตลอดเวลา" ภัควดี วีรภาสพงษ์ จำเลยที่สองในคดี "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แถลงต่อศาล

เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2560 ระหว่างการจัดเวทีวิชาการไทยศึกษา ที่ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ร่วมกิจกรรมส่วนหนึ่งถือป้ายเขียนข้อความว่า "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" เพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อกรณี เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาคอยถ่ายภาพและบันทึกภาพเคลื่อนไหวในงานวิชาการ หลังเกิดเหตุประมาณหนึ่งเดือนมีนักกิจกรรมและนักวิชาการรวม 5 คนถูกออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558

12 ธันวาคม 2561 หลังสืบพยานโจทก์ไปได้ 2 วัน ก่อนเริ่มกระบวนการพิจารณาคดีในวันที่ 3 อัยการได้ขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายเบื้องต้น เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อที่ 12 ฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ซึ่งเป็นฐานความผิดที่ใช้ฟ้องคดีนี้ถูกยกเลิกไปแล้ว ทำให้คดีนี้ไม่มีฐานความผิดที่จะลงโทษจำเลยทั้งห้าคนได้ ศาลมีคำสั่งให้งดสืบพยานทั้งหมดที่นัดไว้ และนัดฟังคำสั่งในประเด็นนี้วันที่ 25 ธันวาคม 2561

ทั้งนี้ แม้ศาลจะสั่งงดสืบพยานไปแล้ว แต่ทนายจำเลยยังแถลงขอให้จำเลยทั้งห้าคนเบิกความเพื่อเป็นการแก้ต่างในคดี และเป็นการบันทึกติดสำนวนคดีไว้ ซึ่งศาลก็อนุญาตให้แถลงข้อต่อสู้ได้และจะบันทึกไว้ แม้ศาลจะมีคำสั่งระงับการสืบพยานไปแล้วก็ตาม

“ผมไม่ใช่นักวิชาการ เป็นแค่นักศึกษาคนหนึ่ง และในฐานะประชาชนทั่วไป ผมเห็นว่าเราควรมีเสรีภาพทางวิชาการ และเราจำเป็นต้องยืนยันถึงเสรีภาพดังกล่าวด้วย ผมเชื่อว่าคนธรรมดาก็สามารถปกป้องเสรีภาพทางวิชาการได้ ทางใดทางหนึ่ง ซึ่งผมเลือกที่จะแสดงออกโดยการถือป้ายข้อความเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” นลธวัช มะชัย จำเลยที่สามกล่าว

“ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นจุดยืนทางปัญญา และยังถูกแทรกแซงโดยทหารในหลายกรณี ถ้ามหาวิทยาลัยไม่สามารถรักษาเสรีภาพทางวิชาการได้ เท่ากับว่าเราไม่สามารถรักษาปัญญาของประเทศได้" ชัยพงษ์ สำเนียง จำเลยที่สี่กล่าว

ทำไมโหวตโน ประชามติ เกือบ 2 ปีที่ "ไผ่" ไม่ได้พูดออกสาธารณะ

"สังคมต้องการพื้นที่เพื่อให้คนที่มีหลากหลายความคิด ความเชื่อทางการเมือง อยู่ร่วมกันได้ เช่น กรณีที่ พลเอกประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านโทรทัศน์ว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ ผมก็เห็นว่า สามารถทำได้ เพราะเป็นความคิดหนึ่งในฝ่ายที่เห็นด้วย เป็นความเชื่อส่วนบุคคล” ส่วนหนึ่งจากคำเบิกความของ “ไผ่ ดาวดิน” ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่า แจกใบปลิวรณรงค์โหวตโนในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

การต่อสู้ในชั้นสืบพยานคดีแจกเอกสารโหวตโน ประชามติ ภูเขียว ของไผ่ ดาวดิน และวศิน ที่ศาลจังหวัดภูเขียว นับเป็นโอกาสอย่างเป็นทางการที่เขาได้เบิกความเป็นพยานอันเสมือนถ้อยแถลงความออกสู่สาธารณะ แม้ว่า การทำประชามติจะผ่านไปนานแล้วและรัฐธรรมนูญก็ผ่านเสียงส่วนใหญ่มีผลบังคับใช้ไปแล้ว
จตุภัทร์เบิกความยืนยันว่า จุดยืนของของกลุ่มกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่เขาร่วมทำกิจกรรมขณะนั้น คือ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เนื้อหาในเอกสารที่เผยแพร่ก็เอามาจากร่างรัฐธรรมนูญ 2559

จตุภัทร์บอกว่า เนื้อหาในเอกสารที่เขาแจกแสดงเหตุผล 7 ข้อ ที่ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ เหตุผลข้อแรกที่ระบุว่า “เลือกคนที่ชอบ แต่ได้พรรคที่เกลียด” เป็นการกล่าวถึงวิธีการได้มาซึ่ง ส.ส. ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ทำให้ประชาชนไม่สามารถเลือกบุคคล หรือนโยบายพรรคได้ เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการใช้สิทธิเลือกทั้ง ส.ส. ที่ดี และพรรคที่มีนโยบายเป็นประโยชน์

จตุภัทร์เบิกความอธิบายว่า แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการลงประชามติ และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแล้ว มาตรา44 ก็ยังมีผลใช้บังคับอยู่ คสช. ยังสามารถใช้อำนาจตาม ม.44 รวมทั้งประกาศ คำสั่ง ของ คสช. ที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็ยังใช้บังคับอยู่ และร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ยังรับรองสิทธิเสรีภาพเท่าที่ไม่กระทบกับความมั่นคงของรัฐ การบัญญัติเช่นนี้ทำให้เจ้าหน้าที่หรือรัฐบาลตีความจำกัดสิทธิประชาชนได้มากขึ้น เช่น กลุ่มดาวดินไปชูสามนิ้ว

จตุภัทร์เบิกความอีกว่า ตามร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ใน 5 ปี แรก กำหนดให้ คสช. แต่งตั้ง ส.ว. 250 คน และล็อคไว้ให้ผู้บัญชาการ 4 เหล่าทัพ, ผบ.สส. และปลัดกระทรวงกลาโหม รวม 6 ตำแหน่ง เป็น ส.ว. โดยตำแหน่ง และจากคำถามพ่วงที่ระบุว่า ใน 5 ปีแรก ให้ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเหล่านี้มีสิทธิโหวตเลือกนายกฯ ด้วย วิธีการเช่นนี้เป็นการออกแบบให้ คสช. ยึดเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ เนื่องจาก ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งมี 500 คน คสช. มีเสียง ส.ว. อยู่ในมือแล้ว 250 เสียง หากมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.อีกเพียง 125 เสียง ก็จะกลายเป็นเสียงข้างมาก และสามารถดำเนินการในสิ่งที่ คสช. ประสงค์ได้โดยไม่ต้องยึดโยงกับประชาชน ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย

การสืบพยานนัดนั้น ทนายจำเลยยังถามไผ่อีกว่า หากมีใครไม่เห็นด้วยกับ 7 เหตุผลที่แสดงในเอกสาร สามารถโต้แย้งได้หรือไม่ จตุภัทร์ตอบว่า โต้แย้งได้

หลังเสร็จสิ้นการสืบพยาน 29 มีนาคม ศาลจังหวัดภูเขียวมีคำพิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสอง ตาม พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ มาตรา 61 วรรค 2 ให้เหตุผลสรุปว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของทั้งฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งชุมนุมทั้งเทใจไปให้ถึงเทพา

“ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน ต้องเป็นเด็กเส้นจึงจะมีโอกาสแสดงความคิดเห็น” รุ่งเรือง จำเลยคดีเดินคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน อธิบายถึงโอกาสมีส่วนร่วมของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นต่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่บ้านเกิดของพวกเขา

23-27 พฤศจิกายน 2560 ชาวบ้านจากชุมชนบ้านบางหลิง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลาที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และเครือข่ายภาคประชาสังคมภาคใต้ประมาณ 80 คนเดินเท้าจากอำเภอเทพาไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย อำเภอเมือง จังหวัดสงขลาเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าฯ ต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร แต่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐได้สกัดกั้นการเดินเท้าไม่ให้ไปสู่จุดหมาย และควบคุมตัวผู้ชุมนุมไป 16 คน หนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนชายวัย 16 ปี ก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมอีกหนึ่งคน รวม 17 คน

มกราคม 2561 พนักงานอัยการจังหวัดสงขลามีความเห็นสั่งฟ้องชาวบ้าน 17 คน โดยมีข้อกล่าวหาแตกต่างกันไปคือทั้ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558, พ.ร.บ.ทางหลวงฯ มาตรา 38, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 108,ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 138 และ 371

เมื่อศาลจังหวัดสงขลาพิจารณาคดีนี้ ในชั้นสืบพยานระหว่างมิถุนายน - ตุลาคม 2561 จำเลยบางคนขึ้นเบิกความเอง โดยเฉพาะรุ่งเรือง ที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมที่ทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่ชายฝั่งสวนกง

เกี่ยวกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา รุ่งเรืองเห็นว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่จัดขึ้นเป็นไปอย่างไม่รอบด้าน ผู้ต้องการเข้าร่วมกระบวนการจะต้องลงทะเบียนก่อน การประเมินผลกระทบในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทำแค่พื้นที่รัศมีห้ากิโลเมตรจากโครงการซึ่งไม่ครอบคลุมเพียงพอ เห็นได้จากปรากฏการณ์หมอกควันจากอินโดนีเซียที่ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทย เขาเชื่อว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะส่งผลกระทบที่กว้างกว่ารัศมีห้ากิโลเมตรที่มีการทำการประเมินไว้

และเมื่อทราบว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2560 เขาและพวกจึงเห็นว่า เป็นโอกาสที่ดีในการเสนอข้อเท็จจริงอีกด้านให้ทางรัฐบาลรับทราบ จึงนัดกันเดินเท้าไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตสงขลา เขาไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้นัดการชุมนุมครั้งนี้ ทราบแต่เพียงว่าเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นผ่านการพูดคุยบนโลกออนไลน์

วันที่ทำกิจกรรมพวกเขาเดินเท้าตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ตำบลบางหลิง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ลักษณะการเดิน คือ เดินบนไหล่ทางของถนน ไม่ได้รุกล้ำลงไปในพื้นถนน เขาไม่ทราบว่าการเดินดังกล่าวเป็นการชุมนุมสาธารณะตามพ.ร.บ.ชุมนุมฯ หรือไม่ เพราะปกติเวลาชาวบ้านเลี้ยงวัว ต้องต้อนวัวเดินในลักษณะเดียวกัน แต่เมื่อเจ้าหน้าที่มาแจ้งว่า ชาวบ้านต้องแจ้งการชุมนุม ชาวบ้านเทพาพูดภาษามลายูจึงเป็นอุปสรรคในการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่

คดี “เทใจให้เทพา” สืบพยานทั้งโจทก์และพยานเสร็จสิ้นแล้ว ศาลจังหวัดสงขลานัดฟังคำพิพากษา 27 ธันวาคม 2561