แก้ปัญหาฝุ่นละอองในกรุงฯ งกเงิ่นเกินแก้ ‘fumbled
awkwardly’ (ศัพท์ฟุตบอลอเมริกัน) ทั้ง คพ. กทม.
และทหารพัฒนาระดมฉีดน้ำกันขนานใหญ่ ทั้งอย่างแรงและอย่างจิ๋ม เสร็จแล้วเป็นไง
น้ำเอ่อถนนรอระบายวุ่นวายไปอีกอย่าง
๑๒.๒๐ น. ๒๒ ม.ค. ‘สวพ.FM91 @fm91trafficpro’ ทวี้ตซ้ำ ‘โปรแกรมเมอร์
@watcharate’ “จนท. ฉีดน้ำลดฝุ่น (แค่ ๒ นาที) บริเวณแยกอโศก
หลังจากนั้นน้ำท่วมขัง รถยนต์/จยย.ที่ติดไฟแดงอยู่เปียกไปหมด”
เลยมี ‘Replying’ ตามมาเป็นพวง เช่น ‘@meahey’ เสริม “แถว ถ.นราธิวาสฯตัดกับสีลม ช่วงค่ำๆ ก็มีอีกคัน ความสูงของน้ำยังไม่พ้นชั้นสองเลยมั้ง
เอาน้ำอะไรมาก็ไม่รู้ เพิ่งล้างรถออกมาจากตึก เซ็งเลย ไอ้คนสั่งการ
มันไม่อายชาวบ้านเขาหรือไง ฟรายจริมๆ”
เช่นเดียวกับข้อมูลของ ‘Deedo @AudasAudas2’ “แถวบ้านพักนี้กลางคืนเอารถแท้งค์น้ำมาฉีดน้ำขึ้นอากาศที่ล่ะ
๓-๔ คันเลย น้ำขังเต็มไปหมด” โดยมี ‘@Kai_Kantaphol’ เติมเต็ม
“พื้นเละเทะ สมองเลอะเทอะ เลอะเลือนจริงๆ”
แถมด้วย ‘@onceSiva’ “บริหารประเทศเหมือนเด็กเล่นขายของอะอีควาย” กับ ‘@PankR’ ให้ท้าย “Thailand Only...ที่นี่ ที่เดียว...ฮ่า ฮ่า...สวดยอด
แนวคิดแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5”
ทั้งนี้เนื่องจาก “ลุ่งตู่ไม่นิ่งนอนใจ ออกแถลงการณ์ ๙ มาตรการเร่งด่วน
เพื่อแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 แล้ว!”
อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ตามมาแจมเรื่องวิธีดำเนินงาน นอกจากจะจัดเข้ม ‘ตรวจวัดควันดำ’ ทำฝนหลวงและฉีดน้ำชะฝุ่นละอองแล้ว
“หากค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ยทั่วทั้งพื้นที่ กทม.เกิน ๙๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
(มคก./ลบ.ม.) ติดต่อกัน ๓ วัน” ละก็
จะต้องยกระดับใช้มาตรการบังคับให้เข้มข้นขึ้น อาจถึงขั้น “ห้ามข้าราชการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน”
นอกจากนั้นยังมีหมัดน็อคถ้ายังเอาไม่อยู่ จะ “ประกาศพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ
พ.ศ.๒๕๖๑ ตามพ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕” โดยร่วมกับ กทม. ซึ่งผู้ว่าฯ
มีอำนาจนี้อยู่แล้ว แต่...ยั้งไว้ก่อน
“หลายอย่างต้องดูว่าถ้าประกาศไปแล้วจะมีผลกระทบต่อพื้นที่
กทม.ขนาดไหน วันนี้เรากำลังส่งเสริมการท่องเที่ยว
และมีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศ จึงไม่อยากทำอะไรที่รุนแรงเกินไป”
อ้างว่า “ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าตัวเลขผู้ป่วยจากสถานการณ์นี้ยังไม่ได้เพิ่มขึ้น”
รอได้
แต่องค์กรระหว่างประเทศไม่แน่ใจว่าไทยจะคิดถูก “ผลการศึกษาวิจัยชี้ว่านักท่องเที่ยวมองดูที่ปัจจัยเรื่องอากาศเป็นพิษหรือไม่
เวลาเลือกสถานที่จุดหมายในการเดินทางท่องเที่ยว”
คาคูโกะ นากาตานิ-โยชิดะ ผู้ประสานงานด้านสารเคมี ของเสีย
และคุณภาพอากาศ ในโครงการสภาพแวดล้อมของสหประชาชาติ เผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์ก “แม้นว่านักเที่ยวไปเมืองไทยหมายใจได้สนุกสนานกับบาร์บนดาดฟ้าอันเลื่องชื่อ
แต่มันจะมีประโยชน์อะไรถ้าไม่สามารถชมความงามทิวทัศน์มุมกว้าง
เพราะหมอกควันปิดกั้นขอบฟ้า” และ “กรุงเทพฯ เคยเจอสภาพอากาศเสียมาแล้ว สิ่งที่เราได้เห็นในอาทิตย์นี้เป็นสถานการณ์ขั้นรุนแรงสุดโต่งของสภาพร้ายแรงต่อสุขภาพที่เป็นมา”