วันอาทิตย์, มกราคม 13, 2562

รัฐบาลทหารกับเลือกตั้ง 2562 สนามรบที่รออยู่เบื้องหน้า! - สุรชาติ บำรุงสุข



ooo




ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข : รัฐบาลทหารกับเลือกตั้ง 2562 สนามรบที่รออยู่เบื้องหน้า!


12 มกราคม 2562
ผู้เขียน สุรชาติ บำรุงสุข
มติชนออนไลน์


ในท่ามกลางความเป็นไปทางการเมืองไทยภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารที่ก่อการรัฐประหารมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 นั้น มีคำถามสำคัญประการหนึ่งมาโดยตลอดก็คือ แล้วรัฐบาลทหารจะยอมตัดสินใจพาประเทศไทยกลับสู่การเลือกตั้งตามคำสัญญาที่กล่าวไว้หรือไม่ เพราะคำสัญญาที่มีมาหลายครั้งมีคำตอบที่ชัดเจนในวันนี้แต่เพียงประการเดียวคือ”คำเท็จ”

แม้จะมีคำแถลงจากผู้นำรัฐบาลเสมอว่า ทุกอย่างเป็นไปตาม”โรดแมป”(roadmap) แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่าตารางเวลาของการคืนอำนาจกลับสู่มือของประชาชนนั้น คือเวลาใด และโรดแมปนี้ก็ดูจะสอดรับกับการเลื่อนตารางการเลือกตั้งที่ไม่จบ จนโรดแมปกำลังมีอาการเป็น”ลากแมป” คือแผนการที่จะ”ลาก”การเมืองไทยไทยไปเรื่อยๆภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหาร

เนื่องจากหากย้อนพิจารณาคำแถลงที่เกิดขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ จากคำสัญญาที่โตเกียว สู่นิวยอร์ก สู่วอชิงตัน และกลับมาที่กรุงเทพ… เวลาที่รัฐบาลทหารกรุงเทพบอกกล่าวแก่ประชาคมระหว่างประเทศล้วนเป็น”คำเท็จ”ทั้งสิ้น จนสิ่งที่คิดว่าจะเป็นคำสัญญาสุดท้าย ที่กำหนดเวลาการเลือกตั้งไว้ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ก็ชัดเจนแล้วว่า กำหนดเวลานี้เป็น”คำเท็จ”อีกครั้ง จนถึงขณะนี้(ศุกร์ที่ 11 มกราคม 2562) ก็ไม่คำยืนยันที่แน่ชัดว่า แล้วในที่สุดการเลือกตั้งของประเทศไทยจะเกิดขึ้นหรือไม่ และถ้าจะเกิดแล้ว จะเกิดขึ้นเมื่อใด สิ่งเหล่านี้ล้วนตอกย้ำความไม่ปกติที่มีสภาวะเป็น”ความเบี่ยงเบน”ของการเมืองไทย

ความเบี่ยงเบนของการเมืองไทย

ถ้าสถานการณ์การเมืองไทยยังอยู่ในสภาพที่อึมครึมและไม่ชัดเจนถึงอนาคตของการเปลี่ยนผ่านเช่นนี้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการชี้ให้เห็นถึงอาการเบี่ยงเบนของการเมืองไทยด้วยคุณสมบัติเชิงลบ 4 ประการ ดังนี้

(1) การเมืองแห่งความไม่แน่นอน!

การเลื่อนการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของ”ความไม่แน่นอน”ทางการเมืองในตัวเองทันที เพราะตารางเวลานี้เป็นที่เชื่อกันทั้งในเวทีภายในและภายนอกว่า รัฐบาลทหารจะยอมเปิดให้การเมืองไทยก้าวสู่ระยะเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในวันดังกล่าว ดังนั้นการเลื่อนตารางเวลาเช่นนี้กำลังเป็นการบ่งบอกว่า ความหวังของประชาคมระหว่างประเทศและผู้คนในประเทศที่ต้องการเห็นการเมืองไทยกลับสู่ภาวะ”ปกติ”นั้น อาจจะกลายเป็นความไม่แน่นอนเป็นอย่างยิ่ง หรือบางทีผู้มีอำนาจในรัฐบาลก็ตอบประเด็นนี้ด้วยการ “เล่นภาษากฎหมาย” ที่ไม่ยอมระบุถึงตารางเวลาทางการเมืองที่มีความชัดเจน

สภาวะเช่นนี้ในท้ายที่สุดก็คือ การบ่งบอกถึงความไม่แน่นอนที่กำลังเพิ่มมากขึ้นในการเมืองไทย และอาจกลายเป็นด้านลบที่ภาพลักษณ์ของการเมืองไทยในสายตาของประชาคมทั้งภายนอกและภายในก็คือ”ความไม่แน่นอน” หรืออาจเปรียบเทียบได้ว่าประเทศกำลังเป็นสภาวะของการแกว่งไปมาระหว่าง”เลือกตั้งกับไม่เลือกตั้ง”… จนหลายฝ่ายเริ่มกังวลว่า การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดนี้ อาจจะเกิดอาการ”แท้ง”ก่อนหรือไม่

(2) การเมืองแห่งความผันผวน!

ในสภาวะของความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เห็นชัดมากขึ้นนั้น ก็เห็นได้ชัดถึงความพยายามของรัฐบาลทหารที่ต้องการจะอยู่ในการเป็นรัฐบาลต่อไป การดำเนินการในทุกวิธีไม่ว่าจะเป็นการตั้ง”พรรคทหาร”เช่นที่ผู้นำทหารในอดีตได้เคยดำเนินการและล้มเหลวมาแล้ว พร้อมกับการเสนอขายนโยบายแบบ”ประชานิยมเต็มรูป”ที่มาพร้อมกับการ”แจก-แถม”ที่เป็นความหวังของการ”ซื้อใจ”ประชาชน แต่กระนั้นก็ไม่มีความชัดเจนว่าในที่สุดแล้วพรรคทหารจะสามารถชนะการเลือกตั้ง และนำพารัฐบาลทหารกลับสู่การเป็นรัฐบาลได้อีกครั้ง

ดังนั้นความพยายามที่จะอยู่ในอำนาจต่อและไม่ชัดเจนว่าจะชนะเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ยอมที่จะถอยออก และกลับตัดสินใจเดินหน้าต่อสู้ในเวทีต่างๆมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นปัจจัยที่รัฐบาลทหารอยู่ในอาการ”ติดกับ”กับตารางเวลาที่ตนตั้งขึ้นไว้แต่เดิม และแนวโน้มของโอกาสที่จะชนะเลือกตั้งที่ไม่ชัดเจนเช่นนี้จึงอาจกลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้รัฐบาลทหารอยู่ในความยากลำบากในการตัดสินใจเป็นอย่างยิ่ง และหากพรรคทหารประสบความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งแล้ว ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบรรดาผู้นำรัฐประหารย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลย ดังนั้นความไม่มั่นใจของผู้นำรัฐบาลทหารที่จะชนะหรือไม่ในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ น่าจะส่งผลให้ตารางเวลาของการเมืองไทยเกิดความ”ผันผวน”ในตัวเองอย่างแน่นอน เพราะผลการเลือกตั้งมีเพียงสองประการเท่านั้นคือ แพ้หรือชนะ… ไม่มีผลแบบเสมอตัวในการเลือกตั้ง ฉะนั้นจึงน่าทดลองคิดเล่นๆว่า ถ้าโอกาสที่รัฐบาลทหารชนะเลือกตั้งมีน้อยมากแล้ว พวกเขาจะดำเนินการอย่างไรต่อจากนี้

(3) การเมืองแห่งความผันแปร!

เมื่อกำหนดการคืนอำนาจให้แก่ประชาชนไม่มีความชัดเจน ก็เท่ากับเป็นคำตอบในตัวเองว่า รัฐบาลทหารที่มาจากการรัฐประหารในปี 2557 จะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป และส่วนหนึ่งเป็นการอยู่โดยอาศัย”อภินิหารทางกฎหมาย”เป็นเครื่องมือ หรือในอีกส่วนก็อาศัย”ช่องว่างทางกฎหมาย”เป็นเครื่องช่วยภายใต้การอำนวยการของนักกฎหมายคนสำคัญ จนการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2557 สะท้อนให้เห็นถึง บทบาทที่มีความสำคัญอย่างยิ่งของนักกฎหมายที่มิใช่เพียงทำหน้าที่ในการออกกฎหมายเพื่อให้รัฐบาลทหารปัจจุบันมีอำนาจอย่างไม่เคยมีมาก่อนเท่านั้น หากแต่ยังมีส่วนโดยตรงในการกำหนดกฎและกติกาทางกฎหมาย โดยเฉพาะสาระของรัฐธรรมนูญและบรรดากฎหมายลูก ที่มีลักษณะ”พิเศษ”ที่เอื้อให้รัฐบาลทหารสืบทอดอำนาจได้ในอนาคต
ดังนั้นถ้าจะเลื่อนเลือกตั้ง นักกฎหมายของรัฐบาลทหารก็จะอธิบายแบบหนึ่ง และถ้าตัดสินใจว่าจะไม่มีเลือกตั้ง เขาก็จะอธิบายอีกแบบหนึ่ง การเมืองไทยในสภาวะเช่นนี้จึงผันแปรไปกับการตีความและคำอธิบายของนักกฎหมาย หรืออาจกล่าวได้ว่า รัฐบาลทหารสามารถสร้างความผันแปรทางการเมืองได้ตามต้องการ เพราะมั่นใจว่า การกระทำเช่นนั้น มีคำอธิบายทางกฎหมายเป็นตัวช่วยเสมอ

(4) การเมืองแห่งความเรรวน!

เมื่อการเลือกตั้งกลายเป็นความไม่แน่นอนแล้ว สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คืออาการ”เรรวน”ที่จะเกิดขึ้นกับภาคส่วนต่างๆ เช่น ภาคเศรษฐกิจที่มองว่า การเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต อาจจะต้องพิจารณาใหม่ หรือนักลงทุนที่เชื่อว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะขยับตัวขึ้นหลังจากการเลือกตั้งแล้ว ก็อาจจะต้องคิดใหม่ หรือแม้กระทั่งในเวทีภูมิภาคที่ไทยจะต้องทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้ และมีความหวังว่าเมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้น อาเซียนจะได้ผู้นำไทยที่ไม่ใช่หัวหน้าคณะรัฐประหารนั่งเป็นประธานอาเซียน ผู้นำอาเซียนอาจจะต้องนั่งรอดูการเมืองไทยด้วยความกังวล เพราะไม่มีความชัดเจนในตารางเวลาการเมืองของไทย สภาพเช่นนี้ยังมีผลถึงสถานะของประเทศในวาระพิเศษที่ควรจะเป็นบวก ก็อาจถูกกระทบจากความเรรวนของการเมืองไทยในวาระเช่นนี้ได้ด้วย

ดังนั้นหากการเมืองไทยยังตกอยู่ภายใต้ความเรรวนที่ไม่รู้จบ และรัฐบาลทหารอาจจะมองเห็นว่า การไม่ยอมกำหนดความชัดเจนของตารางเวลาการเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องเล็ก แต่หากพิจารณาถึงผลที่จะเกิดขึ้นในวงกว้างจากความเรรวนที่เกิดแล้ว อาจจะต้องยอมรับว่า ความไม่ชัดเจนของตารางเวลาการเมืองไม่เป็นผลบวกต่อสถานะของประเทศ และยังทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหารตกตำ่และขาดความน่าเชื่อถือมากขึ้นในประชาคมระหว่างประเทศ แต่ที่สำคัญมากกว่าก็คือ ภาพของประเทศไทยกลายเป็นความเบี่ยงเบนที่ยังไม่สามารถเดินทางสู่อนาคตในแบบปกติได้
อนาคตต้องไม่คลุมเครือ

ถ้าการเมืองไทยภายใต้การควบคุมของรัฐบาลทหารยังเดินหน้าไปในทิศทางเช่นที่กล่าวแล้วในข้างต้นแล้ว อาการ”เบี่ยงเบนทางการเมือง” 4 ประการได้แก่ ไม่แน่นอน ผันผวน ผันแปร และเรรวน ย่อมจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศอย่างแน่นอน การทำการเมืองให้มีความชัดเจนด้วยการลดปัจจัยเชิงลบทั้งสี่ประการ อันจะส่งผลให้การเมืองของประเทศกลับสู่ภาวะปกติ โดยมีการเลือกตั้งเป็น”เครื่องมือนำร่อง”นั้น น่าจะเป็นผลบวกต่ออนาคตของประเทศมากกว่า และยังจะเป็นการลดความคลุมเครือของการเมืองไทยอีกด้วย

อย่างน้อยรัฐบาลทหารก็ปกครองประเทศมาตั้งแต่รัฐประหารพฤษภาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน ก็นับว่ามีอายุยืนยาวในการเมืองไทยพอสมควรแล้ว จึงน่าที่จะกล้าเปิดโอกาสให้คู่แข่งขันอื่นๆสามารถเสนอทางเลือกให้แก่ประชาชนตัดสินใจ ถ้ารัฐบาลทหารและผู้สนับสนุนทั้งหลายเชื่อว่า รัฐบาลปัจจุบันมีผลงานและได้รับการยอมรับจากประชาชนในสาขาอาชีพต่างๆมากแล้ว ใยชายชาติทหารในคณะรัฐประหารจะต้องกลัวที่ต้องเข้าสู่ ”สนามรบ”ในการเลือกตั้งครั้งนี้เล่า… ถึงเวลาที่จะต้องทำให้การเมืองไทยมีความแน่นอนและเป็นปกติเสียที ประเทศไทยอยู่กับความเบี่ยงเบนที่ไม่ปกติมาพอสมควรแล้ว!

ooo