วันพฤหัสบดี, มกราคม 10, 2562

คนรุ่นใหม่หวังสูง ป่านนี้ยังไม่มีกฤษฎีกาเลือกตั้ง แต่ กกต.กำลังจะนั่งรถใหม่


จนกระทั่งป่านนี้ยังไม่มีวี่แววพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งออกมาจากรัฐบาล คสช. จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะให้มีการเลือกตั้งในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ตามที่ประชาชนจำนวนมากหวัง

เนื่องจากหากจะเป็นเช่นนั้นได้ต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งตั้งแต่ ๑ มกราคม เพื่อที่พรรคการเมืองจะมีเวลาหาเสียงอย่างเต็มที่ ๕๒ วัน ดังสูตรที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ อ้างไว้ ความน่าจะเป็นอย่างดีที่สุด คงจะต้องถือตามคำวิษณุอีกนั่นแหละ

คือ น่าจะมี พรฎ.ออกมาตอนวันที่ ๑ กุมภา เพื่อให้ กกต.ประกาศวันเลือกตั้ง ๒๔ มีนาคมดังที่วิษณุคะเนไว้ ช่วงอีกเกือบเดือนต่อไปนี้จึงยังเป็นระยะที่พรรคการเมืองอื่นๆ จะเสียเปรียบพรรคพลังประชารัฐ ที่มีรัฐมนตรีสี่คนเป็นกรรมการบริหาร

จะเห็นว่าพรรค พปชร.เที่ยวไปเปิดปราศรัยตามที่ต่างๆ มีคนไปต้อนรับมากบ้างน้อยบ้าง แต่มีภาพฟ้องว่าคนฟังปราศรัยโหรงเหรง มีแต่เก้าอี้ว่างเปล่าสีแดงเถือก เช่นเดียวกับหน้าเวทีปราศรัยของพรรคเพื่อไทยที่สนามกีฬา อบจ.พะเยา เมื่อวานนี้

แต่กรณีของ พท.ต่างกับ พปชร. ที่มีคนไปฟังจำนวนมากแต่เข้าภายในบริเวณตั้งเวทีไม่ได้ เพราะมีป้ายห้ามเข้าติดไว้บนแถบพล้าสติกสีเหลืองขึงกั้น เพราะ อบจ.สั่งยกเลิกการปราศรัย ซึ่งเตรียมไว้สำหรับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์หาเสียง พท.

อบจ.อ้างว่า “การใช้สถานที่ราชการเพื่อจัดกิจกรรมทางการเมือง อาจจะมีการได้เปรียบเสียเปรียบ...ระหว่างพรรคการเมือง”

ทีมปราศรัยของพรรคเพื่อไทย ได้แก่ พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี และนางลัดดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์ ขึ้นยืนปราศรัยบนรถกระบะข้างสนามกีฬา อบจ. พะเยานั่นเอง ทั้งสองต่างกล่าวว่าการระงับใช้สถานที่ อบจ.อย่างกระทันหัน ทั้งๆ ทีได้มีการอนุญาตแล้วก่อนหน้า แสดงถึงการกลั่นแกล้งด้วยอำนาจรัฐ

ส่วนกำหนดเลือกตั้งที่แน่นอน ไม่มีใครยอมเผย โยนกันไปโยนกันมาระหว่าง รัฐบาล (คสช.) และองค์กรอิสระ (กกต.) แม้นว่า กกต. เอง เริ่มจับจ่ายใช้เงิน “เตรียมพร้อมจัดเลือกตั้ง” ด้วยการ “จัดซื้อจัดจ้าง” ล่าสุดด้วยวงเงินงบประมาณ ๕๕ ล้านบาท

มี “โครงการทำคู่มือปฏิบัติงานสำหรับใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการเลือกตั้งทั่วไป (๖.๕ แสนบาท) ปลอกแขน รด.จิตอาสา (ล้านกว่าบาท) ลูกเสืออาสา (สองล้านกว่า) หนังสือประชาสัมพันธ์ (๖ ล้านบาท) สื่อเผยแพร่ความรู้เลือกตั้ง (๙ ล้านกว่า) พิมพ์กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง  (๑๒ ล้านบาท) ทำคูหาลงคะแนน (๑๘ ล้านบาท) ฯลฯ

น่าสนใจมากในการเบิกใช้งบประมาณของ กกต. อยู่ที่การซื้อรถประจำตำแหน่งใหม่เอี่ยม ๖ คัน ให้ประธาน เลขาฯ และกรรมการ ๔ คน มูลค่าราว ๒๒ ล้านบาท


ทำให้เห็นได้ว่า กกต.เองก็เป็นเพียงเครื่องไม้เครื่องมือในการครองอำนาจของ คสช. เป็นลิ่วล้อที่คอยรับกระดูกที่นายโยนให้ ตราบเท่าที่ทำตามสั่งอย่างศิโรราบเท่านั้นเป็นพอ ไม่คำนึงถึงสุ้มเสียงร้องเรียกต่างๆ จากประชาชน รวมทั้งคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจะได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรก ประเมินว่าราวเกือบ ๗ ล้านคน

ความรู้สึกและต้องการทางการเมืองของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ สะท้อนออกมาจากการสำรวจโดยเครือข่าย We Watch เมื่อปลายปีที่แล้ว (ระหว่าง กันยายนถึงธันวาคม ๒๕๖๑) จากตัวอย่างพันกว่าคนทั่วประเทศ พบว่า
๙๑ เปอร์เซ็นต์ ต้องการเห็นเลือกตั้งครั้งนี้มีความโปร่งใส (น่าเสียใจที่ได้พบแต่ความอึมครึม จะเลื่อนวันเลือกตั้ง ยื้อออกไปอีกไม่รู้เมื่อไหร่) และอีกข้อที่น่าทึ่งสำหรับผู้มีสิทธิออกเสียงในวัยเยาว์นี้ ก็คือ

กว่า ๗๔ เปอร์เซ็นต์ต้องการเห็นเนื้อหาข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายของพรรคการเมือง เพื่อใช้ในการตัดสินใจเมื่อไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง กับความคาดหวังในทางประชาธิปไตยและสิทธิความเสมอภาคอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน


น่าเสียเศร้าที่คนเหล่านี้ ๖๖ เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่อายุ ๑๗-๒๕ ปี ไม่เคยมีประสบการณ์เลือกตั้งระดับชาติมาก่อนเลย ๘๕ เปอร์เซ็นต์มีการศึกษาระดับปริญญาตรี

ต้องมาพบเห็นเล่ห์เหลี่ยมชั้นเชิงของคณะทหารผู้ปกครอง เอาเปรียบและข่มเหงกดดันแทบจะทุกวิถีทาง พยายามจะยึดยื้ออำนาจต่อไปนานๆ