วันอังคาร, มกราคม 15, 2562

ความนิ่งเฉยของรัฐบาลกับหมอกควันพิษ หากเป็นเมืองนอก เป็นเรื่องรุนแรงมาก รัฐบาลจะประกาศภาวะฉุกเฉิน แต่เมืองไทย ไม่ทำอะไรสักอย่าง นอกจากขอความร่วมมือ


ooo


ความนิ่งเฉยของรัฐบาล กับหมอกควันพิษเหนือกทม.





By One Ton on วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 16, 2018
http://www.sarakadee.com/blog/oneton/?p=2180


อาทิตย์ที่ผ่านมา มีปรากฎการณ์สำคัญเหนือท้องฟ้ากรุงเทพมหานครค่อนข้างน่ากลัว แต่ดูเหมือนไม่ค่อยมีหน่วยงานออกมาส่งสัญญาณเตือนภัย

หมอกควันพิษลอยปกคลุมกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ ๆ มาสิบกว่าวันแล้ว เดินตามท้องถนนรู้สึกได้เลยว่าแสบจมูกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

วันก่อนผู้เขียนขับรถข้ามสะพานแขวนพระราม 9 จากฝั่งธนบุรีมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ มองออกไปเส้นขอบฟ้า ภาพเมืองในหมอกปรากฎชัด อากาศขมุกขมัว กลุ่มหมอกควันสีเทาดำลอยปกคลุมไปหมด เห็นอาคารสูงราวกับอยู่ในม่านสีเทา

ปัญหาหมอกควันพิษเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ ๆนานแล้ว จากฝุ่นละอองในอากาศเกินค่ามาตรฐาน โดยมีสาเหตุหลัก ๆมาจาก ควันท่อไอเสียจากรถยนต์ การก่อสร้าง ควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม มลพิษจากโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินทางภาคตะวันออก และในเมืองใหญ่ไม่มีต้นไม้เพียงพอช่วยในการกรองมลภาวะ

โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ อากาศแปรปรวนเดี๋ยวหนาวเดี๋ยวร้อน มีความกดอากาศสูงปกคลุมเลื่อนขึ้นลงหลายครั้ง ทำให้เกิดสภาพอากาศนิ่ง กระแสลมที่พัดจากอ่าวไทยไม่แรงพอให้เกิดการถ่ายเทอากาศ มลพิษทางอากาศจึงเกิดการสะสมตัวในปริมาณมากระดับ PM 2.5 จึงสูงขึ้นผิดปกติในช่วงนี้ เป็นอันตรายต่อสุขภาพคนทั่วไป

PM ย่อมาจาก “particulate matter” คือฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว ขนาดไม่เกิน2.5 ไมครอน เล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ เล็กมากจนขนจมูกหรือหน้ากากอนามัยสีเขียวทั่วไป ไม่สามารถกรองละอองพิษได้ จึงสามารถหลุดเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถุงลมในปอดและกระแสเลือดโดยตรงก่อโรคระบบทางเดินหายใจ หลอดเลือด หัวใจและมะเร็งในระยะยาว

ดัชนีคุณภาพอากาศตามมาตรฐาน ฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่ควรจะเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรถึงจะปลอดภัย แต่หลายแห่งในกรุงเทพมหานคร ตรวจวัด PM 2.5 มีค่าสูงถึง 150 มากกว่าระดับปกติถึงสามเท่า

อันตรายขนาดนี้แล้ว ดูเหมือนหน่วยราชการไทยไม่ค่อยได้ใส่ใจมากนัก นอกจากเตือนว่า ให้งดออกกำลังกายในที่แจ้ง หรือ เร่งทำความสะอาดฝุ่นบนถนน หมั่นให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรถยนต์ปล่อยควันดำ เร่งปลูกต้นไม้ ฯลฯ

แต่สถานทูตอินโดนีเซีย กลับตื่นตระหนกมากกว่า ได้ออกประกาศเตือนพลเมืองของประเทศตัวเองที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ว่าวิกฤตคุณภาพอากาศจากหมอกควันพิษรุนแรงมากต้องใส่หน้ากากและหลีกเลี่ยงกิจกรรมข้างนอกในจังหวัด กรุงเทพมหานคร ราชบุรี สมุทรสาคร ตาก ธนบุรี เชียงใหม่ และลำปาง

อันที่จริง หากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ รัฐบาลจะมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาออกมาทันที

ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อเกิดเหตุการณ์หมอกควันพิษเกินระดับมาตรฐานจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน มาตรการเร่งด่วนคือรถที่มีเลขทะเบียนลงท้ายด้วยเลขคู่ สามารถวิ่งบนถนนได้เฉพาะวันคู่ รถที่มีเลขทะเบียนรถลงท้ายด้วยเลขคี่ สามารถวิ่งบนถนนได้เฉพาะวันคี่ ยกเว้นรถโดยสารประจำทาง รถขนส่งมวลชน เป็นการลดการปล่อยควันพิษจากรถยนต์ได้ครึ่งหนึ่ง

ทางการนครปารีสยังเตรียมรถจักรยาน รถพลังงานไฟฟ้าไว้ให้คนขับรถเก๋งเช่าแทนขับรถส่วนตัว แต่จำกัดความเร็ว 60 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อลดปัญหาการปล่อยควันพิษจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์

ในกรุงเดลี ประเทศอินเดีย เมืองที่มีหมอกควันพิษมากที่สุดในโลก รัฐบาลได้จำกัดให้รถแล่นได้วันเว้นวัน ยกเว้นรถโดยสารประจำทาง ทำให้รถหายไปจากท้องถนนได้ครึ่งหนึ่ง

ขณะที่กรุงเทพมหานคร รถยนต์เก้าล้านคัน มากกว่าพื้นผิวถนนจะรองรับถึงห้าหกเท่า ทำให้หลายปีที่ผ่านมาเกิดภาวะการจราจรติดขัดมากขึ้นเรื่อย ๆ รถยิ่งติดก็ยิ่งปล่อยควันพิษออกมามากขึ้น แต่ไม่มีสัญญาณการจำกัดรถยนต์บนถนนแต่อย่างใด

ไม่รวมการก่อสร้าง รถไฟฟ้าสี่ห้าโครงการพร้อมกันทั่วกรุงเทพฯ อาคารสูงที่กำลังก่อสร้างมากมาย ล้วนทำให้เกิดฝุ่นละอองปกคลุมเมืองใหญ่นี้อย่างมหาศาล

ดูเหมือนรัฐบาลไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนภัย หรือออกมาตรการเชิงรุกแต่อย่างใด

ไม่มีการแจ้งเตือนอะไรให้ประชาชนเตรียมตัวระวังภัยที่มองไม่เห็นอย่างจริงจัง

แม้กระทั่ง หน่วยราชการอย่าง กรมควบคุมมลพิษก็ปฏิเสธว่า ค่า PM2.5 ของ เว็บไซต์ Worldwide Air Quality ที่ใช้กันทั่วโลก รายงานค่าฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานครว่าค่าPM2.5 อยู่ที่ 150-160 สูงเกินระดับมาตรฐานคือ 50 ถึงสามเท่านั้น ไม่จริง เพราะวิธีตรวจวัดคนละอย่างกับการวัดฝุ่นของกรมควบคุมมลพิษ ที่วัดได้ว่าหมอกควันพิษในกรุงเทพฯเกินระดับมาตรฐาน เพียงเล็กน้อย

แหงนหน้ามองอากาศสลัว ๆ และอาการแสบจมูกแล้ว จะเชื่อใครดี

กรุงเทพธุรกิจ 16/2/61

...