ถึงจะเลี่ยงเบี่ยงบ่าย อ้างความสงบเรียบร้อย ทั้งก่อน หลัง และระหว่างงานพระราชพิธี
ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ไล่เรี่ยกับการเลือกตั้ง แถไถไปอย่างไร ท้ายที่สุดแล้วมันอยู่ที่การได้เปรียบ
และอำนาจให้คุณให้โทษ เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ทั้งนั้น
การที่สี่รัฐมนตรีดึงดันยื้อวันวางมือตำแหน่งเพื่อเข้าสู่การหาเสียงโดยสุจริต
รวมทั้งตัวหัวหน้า คสช.เองก็เลี่ยงที่จะตอบ และ/หรือปรับท่วงทีให้เหมาะสมกับการที่จะกลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกครั้ง
ดังพรรคการเมืองลิ่วล้อหมายมั่น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตีหน้าบูดบึ้งตอบคำถามเซ้าซี้ของผู้สื่อข่าวเรื่อง
“ตัดสินใจอนาคตทางการเมืองยังไง”
เมื่อครั้งไปร่วมฉลองครบรอบ ๖๑ ปีโรงเรียนเตรียมทหาร ห้วนๆ ว่าให้ ‘ดูข้อกฎหมาย’ นั่นตีความเป็นอื่นไปไม่ได้หากแต่จะกลับมาเป็นนายกฯ ในฐานะ ‘คนนอก’ ตามรัฐธรรมนูญนั่นแหละ
การยื้ออยู่ในฐานะรัฐบาล ‘ไม่ใช่’ รักษาการ มีอำนาจเต็มให้คุณให้โทษแก่ข้าราชการและประชาชน
จนกระทั่งถึงนาฑีสุดท้ายก่อนมีรัฐบาลใหม่นั้น รัฐบาล คสช.
กระทำอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่างไม่มีความละอายใดๆ ทั้งสิ้น
ดังข่าวที่ปรากฏเมื่อ ๒๕ มกราคมนี่เองว่า คณะรัฐมนตรีของ
คสช. เห็นชอบ “ให้กำหนดเพิ่มเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่น ให้กับสมาชิก สมช.”
หรือสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซ้ำให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ด้วย
ผู้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มพูนเหล่านี้ประกอบด้วย ผู้ที่เคยเป็นกรรมการ
อนุกรรมการ หรือเพียงสมาชิกเฉพาะกิจ
ถ้าจะไล่เรียงตั้งแต่หัวถึงหางก็เริ่มที่นายกรัฐมนตรี รองนายกฯ
(ในตำแหน่งประธานและรองฯ สมช.) ไปจนถึงสมาชิกทั้งหลาย ล้วนจะได้ “เบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่น”
เพียบ
รายงานของ ‘ผู้จัดการออนไลน์’ ระบุละเอียดว่า
ประธานได้อีกเดือนละ ๑ หมื่นบาท รองฯ ได้ ๙ พัน สมาชิกธรรมดาได้ ๘ พันบาท
สมาชิกเฉพาะกิจได้รายครั้งๆ ละ ๑,๖๐๐ บาท ส่วนกรรมการได้คนละ ๔ พันบาทต่อเดือน
ยังมีตำแหน่งที่ปรึกษา สมช. ที่ค่าตอบแทนเดือนละ ๓ หมื่นบาท
กรณีเป็นเอกชน แต่ถ้าเป็นข้าราชการมีเงินเดือนอยู่แล้วให้แค่เดือนละ ๔ พันบาท
สิทธิประโยชน์อื่นๆ จะเป็นพวกค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ดังที่ ครม.กำหนด
โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมามีการแต่งตั้ง (คำสั่ง สมช.ที่
๔/๒๕๖๑) คณะที่ปรึกษาความมั่นคงใหม่ ๖ ด้าน แต่ละด้านมีจำนวนตั้งแต่ ๒ ถึง ๖ คน
รวมทั้งสิ้น ๒๖ คน
คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นนายทหารและอดีตข้าราชการที่จะมาทำงานซ้ำซ้อนกับทหารและตำรวจ
ที่ล้วนได้รับเบี้ยเลี้ยงตอบแทนเพิ่มพิเศษในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของ คสช. ซึ่งซ้อนสองกองทัพและกระทรวงทบวงกรมอีกชั้นหนึ่งอยู่แล้ว
แบบนี้เผด็จการยุคก่อนๆ เรียกว่าเฉลี่ยกันกินปิ่มเปรม
สมัยนี้ต้องบอกแจกกันกินจัญโอชะ
ไม่เท่านั้น การบังคับใช้กฎหมายช่วงเปลี่ยนผ่านจาก ‘เผด็จการเพื่อประชาธิปไตย’ ไปสู่ ‘การเลือกตั้งรองรับเผด็จการ’ ก็ทำกันอย่างเลือกที่รักมักที่ชังยังได้
‘มักที่ชัง’ ทางการเมือง ดูจากการขุดคดี ‘จำนำมัน’ ขึ้นมาหมายเล่นงานสองอดีตนายกฯ และพี่สาว โดย
ปปช. อันเนื่องมาแต่การไปสอบสวนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ ในคุก แล้วปรากฏว่าต่อมา
(ขณะนี้) ลูกสาวนายบุญทรงได้เป็นผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ
แต่ด้าน ‘เลือกที่รัก’ นี่ใช้วิธีการเล่นพวกเล่นพ้องของระบบ
‘Cronyism’ อย่างไร้ยางอายกันเลย
ดังกรณีที่มีการประกาศใช้กฎหมายป้องกันการทุจริตฉบับใหม่ที่ระบุให้เจ้าหน้าที่รัฐแจ้งรายการทรัพย์สิน
อันกินความรวมถึงผู้บริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัย
ปรากฏว่ามีกรรมการสภามหาวิทยาลัยพากันลาออกจากตำแหน่งพิเศษนี้ขนานใหญ่
บางคนอ้างเหตุว่าการเปิดเผยทรัพย์สินของตนจะเป็นเครื่องจูงใจโจรผู้ร้ายจ้องปล้นจี้ชิงทรัพย์
หนึ่งในกรรมการมหาวิทยาลัยคนสำคัญที่ลาออกจากตำแหน่งก็คือ นาย
มีชัย ฤชุพันธุ์ ปรมาจารย์ด้านเนติบริกร
นักออกแบบกฎหมายแทรกอำนาจวิเศษให้แก่คณะทหารนักยึดอำนาจ
ล่าสุดปรากฏว่า คณะกรรมการปราบทุจริตฯ
ลงมติให้ผู้ที่ต้องแจ้งทรัพย์สินต่อ ปปช.
ในสถาบันศึกษามีเพียงประธานสภามหาวิทยาลัยและรองฯ เท่านั้น กรรมการอื่นๆ ได้รับยกเว้น
นี่เป็นการแก้กฎหมายอย่าง ‘ตามอำเภอใจ’
ไม่ยึดมั่นและเคารพต่อหลักนิติธรรมเลยสักนิด
คำอวดวิเศษของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ว่า “ผมบอกแต่ต้นแล้วว่าอย่าตื่นตูมพากันลาออก
บางคนไม่เชื่อ”
แสดงถึงการถืออำนาจบาตรใหญ่ในฐานะมือกฎหมายคนสำคัญของ คสช. ชนิดที่กฎหมายประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วก็ยังแก้กันเองภายใน
โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการ ‘Rule of Law’ ก็ได้