วันพุธ, มกราคม 30, 2562

"ใต้อุ้งรัฐบาลทหารต้องอยู่กันอย่างนี้เหรอ" คำถามคือคำตอบ "จะอยู่กันอย่างไร”


ใต้อุ้งรัฐบาลทหารต้องอยู่กันอย่างนี้เหรอ คือคำถามตอบคำถาม เฮียตู๊บที่ว่า “ผมลาออกแล้วใครจะทำ” และ “ไม่มีทหารแล้วจะอยู่กันอย่างไร”

เรื่องในประเทศ “คพ.เผยค่าฝุ่นเช้านี้ เกินทุกสถานี พระราม ๒ หนักสุด” ข่าวมติชนเช้าวันที่ ๒๙ มกราคม ขณะที่สื่อแหล่งเดียวกันเสนออีกข่าว “ปิ๊งไอเดียแก้ฝุ่น...มอบบิ๊กป้อมแก้ปัญหาฝุ่นพิษ พ่นน้ำจากตึกใบหยก”

ทำให้ sirote klampaiboon @sirotek มีคอมเม้นต์ “ใครอยู่ประตูน้ำก็อย่าตกใจว่าทำไมสงกรานต์ปีนี้มาเร็ว ส่วนคนที่สงสัยว่า PM 2.5 เยอะแถวพระรามสองแถวกาญจนาภิเษก จะฉีดน้ำจากใบหยกไปเพื่ออะไร ขอร้องว่าอย่าถามครับ เดี๋ยวนายกจะไล่ให้ไปดูแลตัวเอง”
 
เพราะมีกำลังอำนาจสามารถยึดเอาบ้านเมืองมาปกครองเอง จึงไม่รู้ตัวว่าตนคือปัญหา ปล่อยอะไรออกมางั่งๆ สม่ำเสมอ ด้วยวาทกรรมซ้ำซาก “ใครจะช่วยประชาชนเวลาเดือดร้อน ทั้งเวลามีอุบัติภัยหรือภัยพิบัติก็มีแต่ทหารที่เป็นลูกหลานท่านทั้งนั้นที่เข้าไปช่วยเหลือ”

คำถามจากการ์ตูนล้อเลียน “แล้วถ้าอาชีพอื่นๆ เค้าถามงี้บ้างอะ” พยาบาล คนขับรถเมล์ คนขายอาหารตามสั่ง พนักงานเซเว่นฯ บ้างล่ะ “จะอยู่กันอย่างไร”

แล้วกรณีที่เตรียมตัวจะเป็นแคนดิเดทของพรรคการเมืองลิ่วล้อ ขึ้นแท่นนายกรัฐมนตรีอีกยก โดยไม่ยอมผันตัวเองไป รักษาการ ระหว่างเลือกตั้ง ทั้งขาดมารยาทอันควรทางการเมืองในโลกศิวิลัย และเอาเปรียบคู่แข่งขันที่เสียเปรียบจากกฏระเบียบที่พวกตนขีดกั้นไว้ให้ด้วยแล้ว

อย่างนี้จะต้องให้ฝ่ายตรงข้ามใช้วิธี ยึด คืนแบบที่ตนทำมาละหรือ จึงจะได้สำนึกและยุติหลงตัวเองเสียที ในโลกสมัยใหม่แม้จะเป็นที่ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงด้วยการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เหมาะควรที่สุดเพื่อการอยู่ร่วมกันต่อไปยาวนานอย่างสันติสุข

แต่การประท้วง คัดค้าน และต่อต้าน หรือกระบวนการ ‘Resistance’ ก็ยังจำเป็นและได้ผล สถานการณ์ใกล้มิคสัญญีในเวเนซูเอล่า ทำให้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐแสดงบทบาทแทรกแซง แม้จะดูลูกผีลูกคนอยู่ ก็มองเห็นหนทางของการอยู่ร่วมกันโดยสันติของสองฝ่ายในประเทศได้

จึงมาถึงภาวะความล้มเหลวด้านกิจการระหว่างประเทศของรัฐบาล คสช. นับแต่กรณีแรงงานประมง โรฮิงญา ผู้ลี้ภัยอัยกูร์ สาวซาอุดิฯ ลี้ภัย มาถึงนักฟุตบอลชาวบาห์เรน ฮาคิม อัล-อาไรบิ ที่ถูกทางการไทยควบคุมตัวไว้เตรียมส่งกลับไปให้ประเทศของเขาลงโทษ

เป็นการปฏิบัติที่ฝ่าฝืนหลักการสิทธิมนุษยชนสากลอีกครั้งโดยรัฐบาล คสช. จนนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียต้องประกาศเข้าแทรกแซง เรียกร้องให้ทางการไทยปล่อยตัวเขาเดินทางต่อไปยังออสเตรเลีย สถานที่ซึ่งเขาได้รับอนุญาตให้ทำการลี้ภัยได้แล้ว
 
ข้อเท็จจริงก็คือ ฮาคิมได้รับวีซ่าให้อยู่อาศัยในออสเตรเลียภายใต้การปกป้องในฐานะผู้ลี้ภัยตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ หลังจากที่เขาหลบหนีการจับกุมของรัฐบาลบาห์เรนไปอยู่ที่นั่นแล้วสามปี เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเขาเดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กับภรรยาในประเทศไทย และถูกรัฐบาล คสช.จับตัวควบคุมไว้เตรียมส่งกลับไปให้รัฐบาลบาห์เรนดำเนินคดี

ข้อเท็จจริงยิ่งกว่านั้นมีอีกว่า “เขาถูกจับกุมเป็นครั้งแรกที่บาห์เรนเมื่อปี ๒๕๕๕ และบอกว่าเขาได้ถูกทรมานระหว่างการควบคุมตัว อันเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองของน้องชายของเขา ในปี ๒๕๕๗ เขาถูกศาลตัดสินอย่างไม่เป็นธรรมว่ามีความผิดฐานทำลายโรงพัก

ซึ่งในขณะที่เกิดเหตุนั้น อัล อาไรบีอยู่ระหว่างเล่นฟุตบอลที่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ด้วย ถึงอย่างนั้น ศาลตัดสินให้เขาได้รับโทษจำคุก ๑๐ ปี โดยเป็นการพิจารณาลับหลัง และต่อมาในปี ๒๕๕๗ เขาได้หลบหนีไปออสเตรเลีย”
 
แม้นว่าฮาคิมเล่นฟุตบอลสโมสรอาชีพของออสเตรเลีย และ “เขายังคงแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบาห์เรนอย่างเปิดเผย” ก็ตาม ไม่ใช่กงการอะไรของรัฐบาลไทยจะต้องจับตัวเขาส่งให้ประเทศต้นทาง ในเมื่อ

“ประเทศไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักการไม่ส่งกลับ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ” ดังแถลงการณ์ขององค์การฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์เรียกร้อง


เพียงแค่สองกรณีที่อ้างข้างต้นก็พอตอกย้ำได้ว่า การอ้างว่าคณะทหารและรัฐบาล คสช. ค้ำบ้านครองเมืองมากว่าสี่ปี ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงทั้งการดึงดัน “ลาออกแล้วใครจะทำ เป็นนายกฯ อยู่นี่แหละ กฎหมายไม่ได้ให้ออก ก็ไม่ออก”

กฎหมายที่เขียนเองเออเองน่ะหรือ นี่คือเผด็จการชั่วร้ายยิ่งกว่าใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่เพียงเหี้ย มโหดเข่นฆ่าพวกเห็นแย้ง (โดยวิธีลอบกัด) แล้วยังปลิ้นปล้อนกะล่อน ไร้ยางอาย