ธนาคารโลกบอกให้ไทยเร่งเสริมเติม ‘ต้นทุนมนุษย์’ กับ ‘ปฏิรูปเศรษฐกิจ’
เพื่อก้าวไปสู่การเป็น “ชาติที่มีรายได้สูง” ในอนาคต
รายงานการเฝ้าดูเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลกออกมาเมื่อวันที่ ๑๖
มกราคมชี้ว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตรา ๓.๘% และจะเพิ่มขึ้นเป็น
๓.๙% ในปี ๒๕๖๓
แม้ว่าเศรษฐกิจโลกยังจะเติบโตช้าและมีปัญหาตึงเครียดทางการค้าอยู่
“ทั้งๆ
ที่มีเหตุกระแทกกระทั้นจากปัจจัยภายนอกทางการค้าและการท่องเที่ยว เมื่อปีที่แล้ว
(๒๕๖๑) เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตถึง ๔.๑%” ตามการประเมินของธนาคารโลก
รายงานเน้นว่าการลงทุนทางด้านต้นทุนมนุษย์
หรือทักษะของประชาชน กับให้บริการสาธารณะเพื่อสนับสนุนพลเมือง
ประกอบกับการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ
ล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในอันที่จะทำให้ประเทศไทยยกระดับขึ้นไปเป็นชาติที่มีรายได้สูงได้
ไทยได้เป็นชาติที่มีรายได้ปานกลางขั้นสูงเมื่อปี ๒๕๕๔
หลังจากที่มีการรุดพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่องมาหลายทศวรรษ ไทยยังต้องใช้ความพยายามต่อไปอีกในการปรับปรุงบริการสาธารณะและการศึกษา
เพื่อที่จะขยับขึ้นไปเป็นชาติรายได้สูง
เบอร์กิต แฮนเซิล
ผู้จัดการฝ่ายกิจการประเทศไทยของธนาคารโลกระบุว่า “การรักษากระแสและคุณภาพของการปฏิรูปทางโครงสร้าง
จะเป็นปัจจัยอันขาดไม่ได้ในการลดระดับความยากจน
และยกระดับการเจริญเติบโตระยะยาวให้สูงกว่า ๔%
ในภาวะการณ์อันท้าทายที่มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
การจะสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้แก่คนไทยทุกคนได้
กุญแจสำคัญอยู่ที่จะต้องเน้นการลงทุนทางต้นทุนมนุษย์
เข้าไปจัดการด้านการศึกษาและสุขภาพเป็นเรื่องแรก
จะทำให้เกิดการสร้างโอกาสอย่างเท่าเทียมแก่คนรุ่นใหม่ได้ยาวนาน”
ธนาคารโลกเน้นว่าประเทศไทยควรจะให้ความสำคัญต่อปัญหาที่เผชิญหน้าบรรดาโรงเรียนขนาดย่อม
เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กยากจนได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
ด้วยการพัฒนาระบบการบริหารในโรงเรียนและงบประมาณการศึกษาสาธารณะ
รายงานย้ำด้วยว่ารัฐบาลไทยควรจะใส่ใจเรื่องบริการสุขภาพ
เพื่อทำให้อัตราการอยู่รอดของประชากรในวัยที่เติบใหญ่ต่อโรคภัยชนิดไม่ติดต่อและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนถนนดีขึ้น
ทั้งสองอย่างนั้นไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของอัตราเฉลี่ยโลก