ปรากฏการณ์ ‘ไทบ้านมหาสารคาม’ เมื่อนักการเมืองพรรคพลังประชารัฐตั้งเวทีหาเสียง
เริ่มปราศรัยได้ไม่เท่าไรคนฟังพากันเดินออกเป็นแถว
เนื่องเพราะ “ไปด่าทักษิณ ไปด่าพรรคที่ตัวเองเคยอยู่ และไปด่าคนเสื้อแดงที่ตัวเองเคยเป็นแกนนำ
ชาวบ้านเลยบอกว่า กูขี้เดียดคนแนวนี้ แล้วลุกหนี” (#มึงอย่าจื่อ
-ถือแถน ประสพโชค)
เป็นเครื่องชี้แนะอย่างหนึ่งได้ว่า
พลังประสานทางการเมืองของ คสช. ที่จะนำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังเลือกตั้งนั้น ไม่ใช่ ‘ของตาย’ เสมอไปเสียแล้ว ทั้งที่มี ‘ตัวช่วย’ จัดสร้างจัดวางกันเอาไว้มากมาย
ไหนจะวุฒิสมาชิกที่ คสช. แต่งตั้ง-เลือกตัว
๒๕๐ คน ไหนจะกฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้ง รวมทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญเอง ที่นายสุริยะ
จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานยุทธศาสตร์ พปชร. ภาคอีสาน พูดอีกครั้งหมาดๆ ที่โคราช ว่า
“ซึ่งโดยระบบนี้ก็จะทำให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งจะได้เสียงเกินครึ่งคงจะยากลำบาก
เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะได้รัฐบาลผสมก็จะมีมาก”
นั่นก็หมายถึงว่าพรรคเครือข่าย คสช.
สามารถผลักดันให้ประยุทธ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยง่าย อย่างที่คาดหมายกันมานมนาน
ทั้งที่เจ้าตัวทำเป็นอิดออด กั๊กโน่นกิ๊กนี่ สลับขาเต้นให้คู่ต่อสู้เคลิ้มก็ตามที
การไปปราศรัยหาเสียงที่โคราชเมื่อ ๒๑ มกราคมของนายสุริยะ
แม้จะทำทีเสนอตัวแก้ปัญหา “ความขัดแย้งจนนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร” เนื่องจาก ‘การต่อสู้’
ระหว่างสองพรรคใหญ่ เพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ (สไตล์ ‘ตาอยู่’ เอาหัวปลาไปกินแบบ คสช. มั้ง)
สุริยะอ้างเคยมีส่วนร่วมในความสำเร็จของพรรคไทยรักไทยในการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ
แม้จะมีมลทินเรื่องทุจริตเครื่อง ‘ซีทีเอ็กซ์’ ก็เคลียร์ไปแล้ว
จึงมาอยู่พลังประชารัฐเพื่อเป็นทางเลือกใหม่จากสองพรรคที่ขัดแย้งกัน
ทว่าที่สุดแล้วก็หนีไม่พ้นเป็นเครื่องไม้เครื่องมือให้ประยุทธ์และทีมการเมือง
คสช. ได้สืบทอดอำนาจอยู่ดี ยิ่งถ้าจับตาท่าทีของสี่รัฐมนตรีผุ้บริหารพรรคพลังประชารัฐ
ที่พยายามยื้อไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งกันเสียที
๑ วันหลังประกาศกฤษฎีกาเลือกตั้ง นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล
บอกว่าขอ “คุยกันก่อนที่จะประกาศออกมาว่า เราจะพร้อมกันวันไหน”
สำหรับการประกาศลาออกจากตำแหน่ง ในเมื่อจากนี้ไปรัฐบาล คสช. ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ
ขืนยังเป็นรัฐมนตรีกันต่อไปย่อมมีโอกาสผิดระเบียบการเลือกตั้งง่าย
กอบศักดิ์อ้างด้วยว่าเหตุหนึ่งที่ยังรั้งรอ “เพื่อหาวันที่เหมาะสมในการร่วมกันตัดสินใจตามที่ได้พูดไปหลายหนแล้ว”
นั้นเพราะ “จะต้องคุยกับนายกรัฐมนตรีด้วย
เพื่อรายงานให้รู้ถึงการตัดสินใจของพวกเรา” จึงเป็นที่ชัดเจนว่าคนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ
‘ตัวช่วย’ ให้ประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ อีก
ดูจากพาดหัวข่าว นสพ.มติชนรายวันวันนี้ (๒๕ มกรา)
พรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อประยุทธ์เป็นอันดับหนึ่งสำหรับการเป็นนายกฯ ตามด้วย
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และอุตตม สาวนายน (หัวหน้าพรรค) ก็พอจะฟันธงทิศทางการเมืองในอนาคตของประยุทธ์ได้แล้ว
คำคุย ‘ฟุ้ง’ ของนายไพบูลย์
นิติตะวัน พรรคพลังประชาชนปฏิรูป (ปชช.) ที่ว่าพร้อมส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ๓๔๕
เขต และเชื่อว่าจะได้คะแนนเลือกตั้งถึง ๒ ล้านเสียง ดันให้ประยุทธ์เป็นนายกฯ
อีกได้ แม้ว่าพรรคของตนไม่สามารถเสนอชื่อซ้ำอีก
ไพบูลย์ซึ่งแสดงเจตนาการตั้งพรรคการเมืองไว้สนับสนุน คสช.
ตั้งแต่ต้นเมื่อปี ๒๕๕๙ เรื่อยมา เผยกลเม็ดว่าจะรอ “ไปโหวตในสภา สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์
เป็นนายกฯ...เพราะว่ามีพรรคที่จะเสนอชื่อ
พล.อ.ประยุทธ์ อยู่แล้ว”
(http://www.kaojorleuk-media.com/archives/173630CgSoHo, https://www.springnews.co.th/programs/insidethailand/427666 และ http://www.komchadluek.net/news/local/359650?re=)
พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช. เหล่านี้
(รวมทั้งพรรค รปช. ของสุเทพ เทือกสุบรรณ) ถึงจะมีความหวังสูงว่าสามารถได้ ส.ส.ในสภาผู้แทนฯ
รวมกันถึง ๑๒๖ เสียง พอสำหรับการโหวตกำหนดตัวนายกฯ ร่วมกับ ๒๕๐ สว.
แต่เป็นที่รู้กันว่าเท่านั้นไม่พอสำหรับการปกครองอย่างราบคาบ
เพราะการเสนอร่างกฎหมายต่างๆ หลายอย่างอยู่ในสภาผู้แทนฯ
และการลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น สว. ไม่มีส่วนร่วมด้วย
ทำให้ฝ่ายตรงข้าม คสช. มีความหวังที่จะกวาดจำนวน
ส.ส.ให้แก่พรรคตนมากที่สุด รวมกันแล้วเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้แทนทั้งสภา ๕๐๐ คน
ไม่ใช่เรื่องยาก 'สารคามโมเดล' บ่งบอกใบ้อะไรบางอย่างไว้แล้ว