“OK Thailand” ภาพสีน้ำมันสุดเจ็บ ของ “ชุมพล คำวรรณะ” สังคมไทยยังโอเคอยู่ไหม?
มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11 - 17 มกราคม 2562
อิสราชัย จงภัทรนิชพันธ์ / รายงาน
ชีวิตต้องต่อสู้และอึดทน โอเคไหม?
ระบบการศึกษาแบบนี้ โอเคไหม?
สาธารณสุขที่เป็นอยู่ โอเคไหม?
อาหาร อากาศ สังคม สิ่งแวดล้อม โอเคไหม?
ข่าวสาร วิชาการ ความรู้ โอเคไหม?
กฎหมาย กฎหมู่ ความยุติธรรม โอเคไหม?
จะเมื่อวาน วันนี้ วันพรุ่งนี้ โอเคไหม?
จะเรียนรู้ อยู่กิน หรือพรุ่งนี้ โอเคไหม?
เกิด แก่ เจ็บ ป่วย และตายไป โอเคไหม?
คุณ เธอ เรา เขา ผม โอเคไหม?
ในบ้านนี้ เมืองนี้ ประเทศนี้ โอเคไหม?
นี่คือบทเกริ่นนำบางส่วนในสูจิบัตรงานภาพเขียนสีน้ำมันชุด “OK Thailand”
ซึ่งเป็น 1 ใน 2 งานแสดงศิลปะชุด Endless War ที่เปิดแสดงประเดิมปีใหม่ 2562 ในหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ
โดยครั้งนี้ ชุมพล คำวรรณะ ศิลปินหนุ่มจากชลบุรี ซึ่งเคยฝากผลงานเสียดสีสังคมอย่าง “เซลฟี่ ซีรี่ส์” (ตุลา) ในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา 2519 เมื่อปี 2559 ได้ฉายภาพสังคมที่เสรีภาพผ่านร้อนหนาวหลายปีอย่างกระท่อนกระแท่น ทับซ้อนกับยุคของการเซลฟี่ ที่ทุกคนมีเสรีภาพแสดงตัวตนของตัวเองได้อย่างเต็มที่
กลับมาครั้งนี้ ชุมพลได้โชว์ฝีมือภาพสีน้ำมันตีแผ่สีหน้าอันยิ้มแย้มแต่อยู่ในภาวะย้อนแย้งกับชีวิตที่เต็มไปด้วยการกดขี่ ข่มเหง เอารัดเอาเปรียบ พร้อมกับตั้งคำถามกับผู้ชมผ่านภาพเขียนเหล่านี้ว่า
ประเทศไทย สังคมไทย และคนไทยอย่างเรา โอเคอยู่ใช่ไหม?
ชุมพลเล่าที่มาจนกลายเป็นภาพสีน้ำมันชุดนี้ว่า ภาพสีน้ำมันเกิดจากความรู้สึกถึงสภาวะอย่างหนึ่งคือ ความกดดันของคนในสังคม ไม่ว่าจากการเมืองภาพใหญ่ ภาพเล็กหรือแม้แต่ครอบครัว เราจะถูกกดขี่โดยสาเหตุบางอย่าง โดยบางคนหรืออำนาจบางอย่างอย่างนี้มาตลอด การเมืองย่อยจนถึงท้องถิ่น ระดับหมู่บ้าน เพื่อน เลยอยากถ่ายทอดออกมา
“ไม่ว่าใครจะขึ้นมามีอำนาจในสังคม เรื่องพวกนี้ไม่เคยหมดไป ไม่ว่าจะใส่เสื้อสีอะไร รองเท้าแบบไหน อยู่สังกัดไหน ก็ไม่เคยหมดไปจากสังคม วันหนึ่งผมเลยอยากตั้งคำถามว่า จะทำยังไงต่อไป เราจะปล่อยให้เรื่องราวพวกนี้ผ่านไป หรือจะใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ต่อสู้ หรือละลายความรู้สึกบางอย่างที่เป็นเส้นแบ่งการเมืองระหว่างคนหลายกลุ่ม ละลายตรงนั้นออก และร่วมกันสร้างสังคม แค่อยากรู้สึกว่าเมื่อไหร่วันนั้นจะมาถึง”
ชุมพลยังกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เคยมีภาพเขียนชุดก่อน แต่เป็นรุ่นทดลอง โดยตัวเองอยากตั้งคำถามว่าสภาพที่เราอยู่ยังโอเคไหม?
โดยใช้วัตถุดิบจากข้อมูลข่าวสารที่รับรู้และส่วนหนึ่งจากความรู้สึกตัวเอง รู้สึกอย่างไรต่อสังคม รู้สึกต่อการเมือง ไม่เพียงแค่ในอดีตแต่ยังมาถึงปัจจุบันที่เติบโตมา ซึ่งเป็นผลจากความเป็นนักอ่านและบิดาที่ชอบเล่าการเมืองให้ฟังตั้งแต่เด็ก
โตมาก็ได้อ่านวรรณกรรม ฟังเพลง เรียนศิลปะ ซึมซับเข้าไปโดยไม่รู้ตัว
ภาพชุด OK Thailand ถ่ายทอดเรื่องราวด้วยการใช้สีน้ำมันที่เน้นหนักในความเข้มของแสง เงาและสีสันผ่านก้อนสีที่นูนเด่นบนผ้าใบ ให้รู้สึกได้ถึงการโดนกดทับไม่ว่าจากอำนาจ ความเชื่อหรือแม้แต่เรื่องราวในสังคมที่ชวนน่าเย้ยหยันกับสามัญสำนึกของเรา
โดยชุมพลกล่าวถึงสาเหตุที่เลือกสีน้ำมันว่า สีน้ำมันจะมีความรู้สึกบางอย่างซึ่งเวลาเราลงสี เราอยากให้สีหนา สีน้ำมันจะอยู่ตัว ผิดกับสีอะครีลิก พอสีแห้ง เนื้อสีที่วาดจะยุบตัว การใช้สีน้ำมันจะทำให้ความรู้สึกเป็นก้อนจะคงอยู่ และยังสะท้อนถึงอารมณ์ที่ไม่ราบรื่น ขรุขระ ทำให้เรารู้สึกบางอย่างกระแทกออกมา
บางภาพที่วาดออกมาก็อาจกระแทกความรู้สึกไม่น้อย อย่างภาพคนยิ้มแย้มแต่ถูกคอมแบตบู๊ตของทหารเหยียบบนใบหน้า หรือเท้าเปล่าเหยียบปิดตาสองข้างแต่คนถูกเหยียบยังยิ้มพร้อมทำนิ้วที่หมายถึงโอเค ชุมพลอธิบายสภาวะอันย้อนแย้งนี้ว่า ผมว่านิสัยคนเอเชียหรือคนไทย บางทีไม่ค่อยกล้าแสดงความรู้สึกลึกๆ ของตัวเองออกมา บางทีเรารู้สึกเสียใจหรือว่าไม่ดีกับอะไรบางอย่าง แต่พอเจอคนอื่นถามว่าโอเคไหม เราก็ตอบโอเค
แต่ที่จริงไม่รู้ว่าข้างในใจยังโอเคไหม หรือคำพูดเช่นนี้ก็เพียงทำให้ดูดีหรือรักษาหน้าตัวเอง หรือเป็นบุคลิกเฉพาะถิ่นซึ่งมีความน่าสนใจ
นั้นทำให้รู้สึกย้อนแย้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ที่มีบางสิ่งกดทับเราอยู่ โดยอำนาจทั้งที่มองเห็นและไม่เห็น ซึ่งมีอยู่
เมื่อถามประสบการณ์ว่าเคยเจอกับความย้อนแย้งที่ซ่อนอยู่ภายใต้คำว่าโอเคหรือไม่
ชุมพลกล่าวว่า เรามีกันอยู่ทุกคน แต่ผมคิดว่าลึกๆ ข้างในที่เรายังอยู่กันได้ เพราะยังมีสิ่งที่เชื่อมโยงเราอยู่ บางทีเราวิจารณ์บ้านเมืองของเราอย่างนี้เต็มที่อย่างรุนแรง แต่ที่เราทำเพราะรัก เรามีความรู้สึกผูกพัน มีผู้คน ไม่ว่าพ่อ แม่ หรือเรา มีเพื่อน พี่น้อง มีความผูกพันอยู่ ดังนั้น เวลาเราพูดก็ไม่พูดเชิงทำเสียหาย แต่เรากำลังพยายามพูดถึงความจริงให้คนตระหนัก
เมื่อคนตระหนักไม่รู้กี่ส่วน แล้วเรามาเชื่อมโยงกัน จากจุดเล็กๆ ทีละน้อย ผมคิดว่าสังคมน่าจะมีความหวัง ในขณะที่การเมืองภาพใหญ่หรือผู้มีอำนาจ อาจไม่ได้คิดเรื่องเหล่านี้ และอาจต้องการแค่กดทับคนต่อไป
สภาวะที่ผู้มีอำนาจสร้างมโนภาพซ่อนการกดขี่และให้คนในสังคมยังอยู่กันได้ มีมาตลอดหลายทศวรรษของการเมืองไทย แต่ชุมพลมองว่า วันหนึ่งคนในสังคมก็จะไม่ทนต่อสภาพเช่นนี้ คนมีลิมิต เพราะอย่างนี้ถึงได้ถามว่ายังโอเคอยู่ไหม? ถ้าไม่โอเค พวกคุณจะทำอย่างไร ผมคิดว่าเหมือนกับการตั้งคำถามกลับไปให้กับคนไปดูสิ่งที่ผมเขียนว่า ถ้าเป็นอย่างนี้ โอเคไหม?
ถ้าโอเคก็ปล่อย แต่ถ้าวันหนึ่งคุณไม่โอเคจะทำยังไง คนกลุ่มหนึ่งหรือส่วนหนึ่งอาจทำอะไรไม่ได้มาก จะต้องเป็นคนส่วนใหญ่ช่วยกัน
คําถามต่อยอดของ OK Thailand จึงอยู่ที่คนส่วนใหญ่ต้องตระหนักและร่วมแก้ไขแทนที่จะก้มหน้ายอมรับและยิ้มกับสภาพเช่นนี้หรือไม่ ซึ่งชุมพลตอบว่าใช่ บางที (คนส่วนใหญ่) อาจเห็นอะไรไม่ตรงกัน แต่จะต้องมีจุดเชื่อมบางอย่าง เช่น เรื่องของ “ความดี” ยังต้องมีการตีความ เป็นไปได้ยังไง ความดีต้องเป็นความดี
ถ้าเรารู้สึกว่าความดีเป็นสิ่งสากล เสมอหน้าเท่ากัน เราต้องรู้สึกได้ แต่ถ้าความดีโดนตีความแล้ว ความคิดแตกแยกก็เกิด บางสิ่งที่เป็นจุดเชื่อมโยงก็น่าจะมี
แต่ผมไม่แน่ใจนักว่าบ้านเมืองนี้ยังมีสิ่งนี้อยู่หรือไม่?
เมื่อถามถึงสภาวะที่คนรุ่นใหม่เริ่มแสดงความอัดอั้นตันใจต่อสังคมผ่านโซเชียลมีเดีย ชุมพลมองสิ่งที่เกิดขึ้นว่า คิดว่าปัญหาการรับรู้เรื่องราวในแต่ละยุคสมัยก็แตกต่างกัน อย่างตัวเองที่เกิดก่อน 14 ตุลา 2516 เราอ่านหนังสือก็โตมามีความคิดแบบนี้ พอคนรุ่นใหม่เติบโตก็มีความคิดอีกอย่าง แต่ตัวเองยังคงเชื่อว่ามีจุดเชื่อมบางอย่าง ซึ่งถ้าเราเจอปัญหาร่วมกัน เราจะช่วยกันได้
และสิ่งที่ตัวเองต้องการบอกผ่านชุดภาพ OK Thailand คือ สังคมที่อยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าวงการไหน ยังโอเคอยู่ไหม? ถ้าคุณโอเคก็ปล่อย แต่ถ้าไม่โอเค คุณจะทำยังไง แต่ถ้าถามตัวเองว่ายังโอเคอยู่ไหม?
ตัวเองก็จะตอบว่า บางเรื่องโอเค แต่บางเรื่องไม่โอเค!