ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้เมื่อไรรัฐบาลจะประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเสียที
ทำให้คนที่รอใช้สิทธิออกเสียงมาเกือบจะห้าปี คิดกันไปต่างๆ นานา
โดยเฉพาะข้อกังขาว่า คสช.จะหาเรื่องเลื่อนเลือกตั้งไปเรื่อยๆ เนื่องจากการประพฤติซ้ำซากอย่างนี้มีมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง
เห็นว่าสายด่วนของคณะกรรมการเลือกตั้งดังระงมกับข้อซักถามเรื่องกำหนดวันเลือกตั้ง
ซึ่งความจริง กกต.น่าจะขีดไว้แล้วว่าเป็นวันไหน เพียงแต่ยังพูดไม่ได้ โดน
คสช.ปิดปากไว้ ให้รอจนกว่าจะมีการประกาศ พรฎ. ในราชกิจจานุเบกษา
ฉะนี้ เลขาธิการจึงผ่อนสั้นด้วยการออกมาย้ำเตือนเรื่องระเบียบและข้อกำหนดสำหรับการเลือกตั้ง
ที่ กกต.ได้ประกาศออกมาแล้วเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม อันมีทั้งสิ้น ๙ ฉบับ
เป็นระเบียบ ๖ ฉบับ และข้อกำหนด ๓ ฉบับ
อย่างน้อยๆ เพื่อทำให้ประชาชนเบาใจว่า พรฎ.ตามมาแน่
ถึงแม้ไม่รู้เมื่อไหร่ก็ตาม
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา
ไล่เรียงตั้งแต่เรื่องการหาเสียงทางอีเล็คโทรนิคส์ ที่ระเบียบระบุให้ทำได้
แต่ต้องขออนุญาตก่อน โดยแจ้งรายละเอียดกรรมวิธีต่อ กกต. ผู้สมัครรายบุคคลแจ้งกับ
ผอ. กกต.จังหวัด ส่วนพรรคการเมืองแจ้งกับเลขาฯ กกต.ส่วนกลาง
สำหรับการหาเสียงในช่องทางปกติ “พรรคการเมืองไม่สามารถหาเสียงผ่านสื่อโทรทัศน์และวิทยุได้
แต่ กกต.จะจัดเวทีดีเบตให้” โดยแยกพรรคการเมืองที่จะไปปราศรัยประชันนโยบายกันออกเป็น
๓ กลุ่ม ตามจำนวนเขตที่ส่งผู้สมัคร
กลุ่มแรกที่ส่งผู้สมัคร ๓๐๐-๓๕๐ เขต กลุ่มสอง ๒๐๐-๒๙๙ เขต
และสาม เป็นพวกพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครต่ำกว่า ๒๐๐ เขต
ด้านการแจกใบปลิวและการติดป้ายหาเสียง เลือกตั้งครั้งที่ไม่รู้เมื่อไหร่นี้
‘เฮี้ยบ’ มาก แผ่นปลิวต่างๆ
ต้องแจกถึงมือผู้รับโดยตรง ห้ามวางทิ้งไว้ให้หยิบหรือโปรยในอากาศให้ไขว่คว้ากัน
ส่วนป้ายที่ปิด ติด ปัก ตามสถานที่ต่างๆ
จะต้องมี “ภาพผู้สมัคร หัวหน้าพรรค
กรรมการบริหารพรรคและบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคเท่านั้น” จะเอาภาพคนแดนไกล
หรือภาพ ‘ปู’ (ทั้งปู crab และปูยิ่งลักษณ์)
ไม่ได้ทั้งนั้น อนุโลมว่าใช้ภาพบิ๊กตู่จับมือกับเทเรสซ่า เมย์ ก็ไม่ได้
นอกนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินๆ ทองๆ ท่านเลขาฯ เตือนว่าผู้สมัครอย่าได้เที่ยวใส่ซองหรือหยอดพาน
‘ปัจจัย’ เวลาไปร่วมงานบวช งานแต่ง ดำหัว วันเกิด ชาปนกิจ
ฯลฯ เป็นอันขาด จะเข้าข่ายกระทำผิด “สุ่มเสี่ยงถูกตัดสิทธิ์การสมัครรับเลือกตั้ง”
กลางอากาศเลยเชียว
ข้อควรระวังอย่างยิ่งอีกอย่าง นักการเมืองต้องไม่ลืมว่าคราวนี้
กกต. มีอำนาจมาก สามารถสอยผู้สมัครด้วยใบเหลืองใบแดงทันทีทันใดได้ จำไว้ว่าผู้สมัครแต่ละคนสามารถใช้เงินหาเสียงได้แค่
๑.๕ ล้านบาทเท่านั้น อย่าเผลอไผลมือเติบ พรรคการเมืองใช้งบประมาณทั้งสิ้นได้เพียง
๓๕ ล้านบาท
กรณีที่จะต้องมีการเลือกตั้งเขตใดเขตหนึ่งใหม่ และมีการรับสมัครผู้เข้าแข่งใหม่ให้ผู้สมัครใช้เงินได้คนละ
๗ แสน ๕ หมื่นบาท ถ้าไม่ต้องรับสมัครใหม่ให้ผู้สมัครเดิมใช้เงินหาเสียงได้ไม่เกิน
๕ แสนบาท ถ้าเป็นการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างหลังมีการประกาศผลเลือกตั้งแล้ว
ผู้สมัครมีวงเงินหาเสียง ๑.๕ ล้านบาท
เรื่องสำคัญที่ถกเถียงกันมาเป็นวักเป็นเวร (ทั้งที่ใจตุ๊มๆ
ต่อมๆ ไม่รู้จะได้เลือกตั้งหรือเปล่านี่ละ) ว่าที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้
กตต.จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน ๑๕๐ นั้นน่ะ
รวมถึงวันประกาศผลเลือกตั้งด้วยหรือเปล่า
ผู้ ‘ลอบ’ รู้บางคนบอกว่าไม่เกี่ยวกัน
๑๕๐ วันแค่จัดให้มีการกาบัตรหยอดคะแนนเสียงเท่านั้น
ส่วนการประกาศให้ถือตามกฎหมายลูก นับไปอีก ๖๐ วันหลังจากเสร็จหย่อนบัตร
ตรงนี้ทั่นเลขาฯ บอกว่า โน โน
“กกต.ยืนยันเจตนารมณ์ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง
ที่จะจัดการเลือกตั้งรวมประกาศผลเลือกตั้งภายใน ๑๕๐ วัน” นั่นคือถ้ามีการประกาศให้เลือกตั้งวันที่
๒๔ กุมภาพันธ์ อย่างที่คนส่วนใหญ่หมายมั่น แต่ทั่นรองฯ วิษณุ เครืองาม
กลัวระคายเคืองเบื้องยุคลบาท ให้เลื่อนไปเป็น ๒๔ มีนาคม
“กกต.ยังยืนยันประกาศผลภายในวันที่ ๙ พฤษภาคม” ว้าว
เท่านั้นไม่พอ “การประกาศผลอาจจะบีบเหลือเพียง ๔๕ วันจากที่กฎหมายกำหนด ๖๐ วัน
เพราะการเลือกตั้งในอดีตกำหนดไว้ ๓๐ วันยังสามารถดำเนินการได้ทัน”
จรุงวิทย์ว่างั้น
อ้อ เลขาฯ กกต. มีพูดถึง ‘กู๊ดมันเดย์’ นิดนึงเพราะนักข่าวดันถามว่า ถ้ามีการพูดถึงนโยบายของพรรคการเมืองหนึ่งใดล่ะ
จรุงวิทย์ทำหน้าตายตอบว่าต้องดูก่อนว่ามีใครร้องเรียนหรือเปล่า
ยังดีที่นักข่าวไม่ถามว่าทำไมเช้าวันจันทร์ดังกว่าคืนวันศุกร์
ทั่นเลขาฯ คงต้องล้อเล่นสไตล์เดียวกับที่เฮียป้อมตอบเรื่องโรงแรมไทยที่เคเนีย
สำหรับเรทติ้งนี่ต้องบอกว่า ก็เพราะดีเจผมบ็อบดูเซ็กซี่กว่าคนผูกสองแกละ มั้ง