หวยออกเลขล็อค
ซีพีคว้าปลามันสัมปทานรถไฟฟ้าอีอีซีเฟสสองไปกิน “โดยไม่ต้องเปิดประมูล เพื่อความสะดวกสบายของประชาชน”
ประโยคหลังนี่ การรถไฟน่าจะพูดผิด ต้องบอก ‘เพื่อความสะดวกสบายของประชารัฐ’ จึงจะถูก
ชวนให้นึกถึงคำของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง
ประธานการหาเสียงพรรคเพื่อไทย เขาเพิ่งพูดเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า “นายทุนที่สนับสนุนเงินล้มรัฐบาลเพื่อไทย
มีสามพวก พวกแรกเครื่องบินตกตายไปแล้ว พวกที่สองขายเนื้อหมูเนื้อไก่
พวกที่สามขายเบียร์ขายเหล้า”
พวกขายเนื้อหมู-ไก่ เดี๋ยวนี้ขายรางด้วย เรียกกันว่า ‘ซีพีเดินรถ’
รับเหมาเมกกะโปรเจ็คระเบียงตะวันออกทั้งแถบ ตั้งแต่แปดริ้ว บางปะกง ยันอู่ตะเภา
เขาสอยดาว เชียวละ
แหล่งข่าวกระทรวงคมนาคมของ ‘โพสต์ทูเดย์’ แจ้งว่า รฟท.กำลังเร่งปิดจ๊อบ ‘โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม
๓ สนามบินอีอีซี’ โดยเฉพาะ “เฟส ๒ ช่วงอู่ตะเภา-ตราด ระยะทาง
๓๐๐-๔๐๐ กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนกว่า ๓ แสนล้านบาท” นั้น “ถือว่าล่าช้ากว่ากำหนด
เนื่องจากขั้นตอนจัดซื้อที่เพิ่มขึ้นตามกฎหมายใหม่และเจ้าหน้าที่ขาดประสบการณ์
ดังนั้น รฟท.จะเร่งลงนามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวให้ได้ภายในเดือน ม.ค.-ก.พ.นี้”
ก็เลยป๊งเฉ่ง “รฟท.ได้ระบุในข้อเสนอการว่าจ้างให้บริษัทที่ชนะประมูลไปศึกษาแนวทางให้เอกชนที่เดินรถเฟส
๑ ช่วงกรุงเทพฯ-อู่ตะเภา นั้นเข้ามาเดินรถในเฟส ๒ ด้วย”
โดยไม่ต้องมีการประมูลนั่นละ ง่ายดี
ซึ่งไม่บังเอิญ ‘ทุนใหญ่’ เจ้าสัวที่คาดว่าจะได้สัมปทานเฟสแรกเป็น
“กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง” ที่ได้เสนอราคาต่ำสุดเอาไว้ “ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาในรายละเอียดข้อเสนอเงื่อนไขพิเศษ
(ซองที่ ๔) ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป”
แต่ รฟท.คงจะรวบรัดในการนัดพบกันวันที่ ๒๕ มกราคมนี้
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หัวหินนั่นให้พักไว้ก่อน เนื่องจาก “ระยะทางดังกล่าวไม่คุ้มค่าในการลงทุน
(แค่ ๑ แสนล้าน ระยพทาง ๒๐๙ ก.ม.)
จึงเกรงว่าเอกชนจะไม่สนใจเข้าประมูลโครงการ โดยจะพัฒนาเป็นเส้นทางสายยาวแทน
ช่วงกรุงเทพฯ-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง ๖๓๕ กม. วงเงินลงทุนมากกว่า ๖ แสนล้านบาท”
จะได้ดึงดูดใจพวกทุนใหญ่ ‘ประชารัฐ’ อื่นๆ อีก
ส่วนโครงการรถไฟไทย-จีน ก็ “มีความคืบหน้าไปมาก”
จะมีการประชุมอีกครั้งที่ปักกิ่งปลายเดือนกุมภาพันธ์ (เลื่อนจากปลายเดือนนี้)
ขณะนี้จีนได้ส่งตัวเลขค่าใช้จ่ายมาให้แล้ว ฝ่ายไทยพอใจว่าตรงสเป็คเป๊ะ อย่างเช่น
“งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล
รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงิน ๔ หมื่นล้านบาท”
ก็จะได้มีการลงนามแน่ๆ ตอนเจอกันครั้งหน้า “ต้องรีบลงนามสัญญาให้จบ”
เพราะเหตุใหญ่ใจความ “รถใช้เวลาผลิตนานถึง ๖ ปี
และทยอยนำเข้ามาประกอบทีละชิ้นเพื่อให้ทันกับการเปิดเดินรถในปี ๒๕๖๕-๒๕๖๖”
ไม่รีบๆ เซ็นสัญญาเสียวันนี้
ถ้าเกิดรัฐบาลหน้าเข้ามาจากการเลือกตั้ง สเป็คเรื่องราคาและค่าป่วยการอาจเปลี่ยนไป