จะจะ จังจัง คำสั่ง คสช.ออกมาเกื้อหนุนกิจการ ‘ดูด’
ของพรรคพลังประชารัฐโดยตรงอย่างไร ‘ไอลอว์’ แฉไว้แจ่มแจ้งชนิดเรียงหัวเลยทีเดียว
คสช.ใช้อำนาจวิเศษ ม.๔๔ ออกคำสั่ง ๔ ฉบับเพื่อ “คืนตำแหน่งให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒๒ คน” ตั้งแต่ปี
๒๕๕๙ ถึง ๒๕๖๒ ในจำนวนนี้ ๙ คนเข้าไปเป็นผู้สมัคร
และ/หรือทำงานการเมืองให้แก่พรรคพลังประชารัฐ
อีก ๔ คน ยังคืนตำแหน่งกันไม่เสร็จ
แต่ก็เข้าไปอยู่ในพรรคของสมศักดิ์ เทพสุทิน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และสี่รัฐมนตรี
คสช. รอลงสมัคร ส.ส.กันเรียบร้อยแล้ว อันได้แก่
๑.ชนม์สวัสด์ อัศวเหม แกนนำกลุ่มปากน้ำ (ตั้งชื่อใหม่ว่า ‘สมุทรปราการก้าวหน้า’) ส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ ๒.พรชัย โควสุรัตน์ หลานของสิทธิชัย
อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทยในรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ตอนนี้ตระกูลการเมืองดังของอุบลราชธานีย้ายค่ายไปอยู่พลังประชารัฐ
๓. ยุทธนา ศรีตะบุตร แห่งตระกูลการเมืองท้องถิ่นหนองคาย
เคยเป็นนายก อบจ. เช่นเดียวกับอีกสองคนข้างต้นที่ถูกคำสั่ง คสช.ที่ ๑๙/๒๕๕๘
ให้ออกจากตำแหน่ง ในกระบวนการตรวจสอบทุจริตระยะต้นๆ ของรัฐบาล คสช.
อีกคนคือ วิเชียร อุดมศักดิ์ เป็นอดีต ส.ส.อำนาจเจริญ
พรรคเพื่อไทย แล้วย้ายพรรคไปอยู่ภูมิใจไทย หลังรัฐประหารไปเป็นนายกเทศมนตรีเมืองอำนาจเจริญ
แล้วถูกคำสั่ง คสช.ที่ ๓๕/๒๕๖๐ ให้ออกจากตำแหน่ง
หลังจากที่สมศักดิ์ เทพสุทิน และทีม ‘สามมิตร’ ออกไล่ล่าดูดอดีต ส.ส.เข้าพลังประชารัฐ
ทำให้วิเชียรอ่อนระทวยเข้าไปอยู่ในอ้อมอก คสช. แต่โดยดี
แม้ขณะนี้ยังไม่ปรากฏคำสั่งให้กลับคืนตำแหน่งเดิม
แต่ดูจะไม่ใช่เรื่องน่ากังวลอันใด
อดีตนักการเมืองท้องถิ่นอีก ๙ ราย ที่ย้ายค่ายไปเข้าสังกัดพรรค
คสช. ส่วนมากเป็นนายก อบจ. มีคนเดียวเป็นนายกเทศมนตรี
ที่ได้รับตำแหน่งเดิมกลับคืนกันแล้วในปี ๒๕๖๑ ตามคำสั่งฉบับที่ ๖ ได้แก่ สถิรพร
นาคสุข จังหวัดยโสธร บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ จังหวัดเชียงใหม่
มลัยรัก ทองผา แห่งมุกดาหาร และชัยมงคล ไชยรบ แห่งสกลนคร
รายหลังนี่พอได้ตำแหน่งคืนก็เข้าไปเป็นประธานยุทธศาสตร์เลือกตั้งพลังประชารัฐ ๔
จังหวัดอีสาน คือสกล นครพนม มุกดาการ และบึงกาฬ คนอื่นๆ แม้ไม่ได้ลงสมัครหรือเข้าไปบริหาร
ก็จะมีญาติหรือคนใกล้ชิดลงสมัคร หรือช่วยงานหาเสียงให้พลังประชารัฐ
ยังมีกรณีที่นักการเมืองท้องถิ่นได้รับคำสั่งคืนตำแหน่งเพราะมีพี่น้องใกล้ชิดอยู่ในพรรคพลังประชารัฐ
เช่น อนุสรณ์ นาคาศัย แห่งจังหวัดชัยนาท มีพี่ชาย (อนุชา) เป็นกรรมการบริหารของ
พปชร. ส่วนโกมุท ทีฑธนานนท์ นายกเทศมนตรีสกลนคร โดนคำสั่งปลดเมื่อปี ๕๙ ได้รับคำสั่งแก้ปี
๒๕๖๑ (ฉบับที่ ๑๐ เช่นเดียวกับอนุสรณ์) ก็ให้ลูกชายลงสมัคร ส.ส.ครั้งนี้ในสังกัด
พปชร.
ด้านอัครเดช ทองใจสด นายก อบจ.เพชรบูรณ์
ถูกระงับตำแหน่งเมื่อปี ๖๐ ได้คืนเมื่อตุลาคม ๖๑ นี่ก็มีพ่อเป็นอดีต ส.ส.เพื่อไทย ที่คราวนี้ย้ายไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ
และลงสมัคร ส.ส.เขต ๕ ของเพชรบูรณ์
ยังไม่หมด มีนายก อบจ.อีกสองคนที่เพิ่งได้รับคำสั่งหัวหน้า
คสช. ให้คืนตำแหน่งเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่เอง คือ สุนทร รัตนากร นายก อบจ.กำแพงเพชร
พี่ชายของ วราเทพ รัตนากร ซึ่งพาทีมย้ายออกจากพรรคเพื่อไทยไป พปชร. ตามพลังดูด
ด้าน สมชอบ นิติพจน์ นายก อบจ.นครพนม ที่โดน
คสช.ปลดตั้งแต่ปี ๕๘ เพิ่งได้รับคำสั่งคืนตำแหน่งเมื่อ ๒๒ มกราคมนี้เอง
ข่าวว่าเป็นเรี่ยวแรงแข็งขันช่วยการหาเสียงของ พปชร.ที่นครพนม ชนิดที่ “เมื่อเครื่องเสียงพังยังได้นำรถยนต์ตัวเองมาช่วยใช้แทน”
เช่นนี้ไม่ว่า คสช.
และพลังประชารัฐจะปฏิเสธหรือแถไถไปอย่างไรว่า ไม่ได้ใช้อำนาจ (ที่ยึดมา)
โดยมิชอบในการให้ประโยชน์
เป็นคุณต่อความได้เปรียบทางการเมืองของพรรคที่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.ได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง
ความจริงปรากฏอย่างโจ่งแจ้งอยู่แล้ว
เมื่อใดก็ตามเมื่อประชาชนได้อำนาจอันเป็นโดยชอบธรรมของพวกเขาคืนมา และลบล้างคำสั่งนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร
เมื่อนั้นความผิดฐานละเมิดหลักนิติธรรมของ คสช. จักต้องได้รับการชำระ