บ่นกันมาหลายวันแล้วเรื่องค่าฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว (พีเอ็ม
๒.๕) ในบรรยากาศครอบคลุมกรุงเทพมหานคร เกินมาตรฐานความปลอดภัย
เช้านี้วันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุด รถราไม่อึกทึกชุลมุนเหมือนวันธรรมดา
ปรากฏว่าค่าฝุ่นแดงเถือกทั่วกรุงไม่ว่าจากกร๊าฟฟิคแหล่งไหน
เช่นของ Air
Quality Index (AQI -http://aqicn.org/city/bangkok/m/) ที่ Thidakarn @thidakarn และ Supinya
Klangnarong @supinya นำมาทวี้ตแจ้งปริมาณสูงสุดที่สะพานควาย ค่า ๓๙๔ และ ๓๗๔
นี่เข้าขั้น ‘Hazardous’ เป็นพิษร้ายแรงทีเดียว ส่วนที่ Jonathan
Head @pakhead ทวี้ตซ้ำของ Dan Fieller @iDanThaiFie เฉลี่ยที่ ๑๙๑ นั่นก็เป็นสองเท่าของอัตราอันพอควร เรียกว่า ‘Unhealthy’
ไม่ดีต่อสุขภาพ
Thidakarn เตือนว่า “สถานการณ์ PM 2.5 ในกทม.เช้านี้ แดงเกือบทั้งเมือง
สะพานควายพุ่งไปที่ 394 เลี่ยงออกกำลังกลางแจ้ง ปิดหน้าต่าง เปิดเครื่องกรองอากาศ
รักษาสุขภาพนะคะ #มลพิษทางอากาศ”
ทำนองเดียวกัน Dan Fieller บอก “Not often that #Bangkok’s #AirQuality has been quite
this bad w/ PM 2.5 levels above 190, unhealthy” เขาจะไม่ออกไปวิ่งนอกบ้านเช้านี้แน่นอน
โดยมี Jonathan Head
เสริมว่าค่า ๑๙๑ นั้น “ขึ้นเป็นสองเท่าในพื้นที่บางส่วนของนคร
ผมไม่เคยเห็นปัญหาคุณภาพอากาศอย่างนี้มาก่อนเลย มันเกิดจากสภาพดินฟ้าอากาศ ควันรถยนต์
และ (ฝุ่น) จากการก่อสร้าง...ทั้ง ๓ อย่างรวมกันหรือไร”
ด้าน Supinya Klangnarong บ่นว่า “อากาศ
กทม.แย่มากแล้วจริงๆ แต่เหมือนไม่มีการเตือนประชาชนอย่างจริงจังเลย เห็นใจคนทำงานกลางแจ้ง
รปภ. คนขับรถเมล์ร้อน พ่อค้าแม่ขาย เด็กๆ คนชรา รัฐและ
เอกชนควรมีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนป้องกันตนเอง
น่าจะเข้าข่ายเขตภัยพิบัติได้แล้ว”
สำนักข่าวไทย อสมท @TNAMCOT “เตือน!
เช้านี้ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน ยังคงปกคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ
เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ พื้นที่น่าห่วงหนัก คือ • เขตสาทร • เขตจตุจักร •
เขตธนบุรี” เช่นเดียวกับ JS100 @js100radio “RT@Attapol22294740
ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ยังคงเกินค่ามาตรฐานหลายพื้นที่”
กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) รายงานสภาพอากาศว่า “อากาศยังคงลอยตัวไม่ดี
สภาพอากาศปิด มีเมฆเป็นส่วนมากและมีหมอกในตอนเช้า และมีหมอกหนาหลายพื้นที่...ปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นเล็กน้อย”
แต่กลับแสดงค่าฝุ่นละอองพีเอ็ม ๒.๕ ว่า
“เกินมาตรฐาน” ๕๐ ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถึง
๑๙ พื้นที่ริมถนนสายหลัก ส่วนพื้นที่ห่างจากริมถนนออกไปก็มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานถึง
๑๗ พื้นที่ จึงได้ฟันธงว่า “คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในระดับ 'เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ'”
ไม่เท่านั้น “คาดการณ์ว่าคุณภาพอากาศในวันที่
๑๔ มกราคม” จะแย่ขึ้นไปอีก จึงได้ประสานงานกับ กทม. “ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไข...”
โดย กทม.กำชับทุกเขตให้ทำการกวาดถนนล้างถนน “อย่างเข้มงวดทุกวัน
พร้อมทั้งจัดอุปกรณ์ฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง
ตรวจวัดควันดำ และรณรงค์ลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง” นอกจากนั้น “คพ.
ได้ประสานกับกรมฝนหลวงฯ
ซึ่งได้มีการตั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อพร้อมปฏิติการในวันที่มีสภาพอากาศเอื้ออำนวยในการทำฝนเทียม”
ด้วย
ไม่แน่ใจนักนะว่ามาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเหล่านั้นจะได้ผลลดมลพิษได้ในระยะยาว
เมื่อสองสามเดือนที่แล้วก็เห็นมีข่าว กทม.
นำรถฉีดน้ำออกพ่นไอน้ำเพื่อกำจัดฝุ่นละอองตามถนนหนทาง
มาถึงวันนี้ยังปรากฏว่าค่าฝุ่นที่เป็นภัยต่อสุขภาพถึงขั้นวิกฤตจนได้
โดยเฉพาะการทำฝนเทียมถ้ายังต้องรอเวลาที่ “สภาพอากาศเอื้ออำนวย”
อยู่อีกละก็ ไม่ใช่หนทางแก้ไขที่ ‘ยั่งยืน’ แน่ๆ กระบวนการแก้มลพิษใช่ว่าจะทำได้ภายในอาทิตย์หรือเดือน
แม้แต่เป็นปี
มลรัฐแคลิฟอร์เนียใช้เวลา ๒๐ ปี จนทุกวันนี้กลายเป็นพื้นที่เกือบปลอด
‘สม็อก’ รัฐบาล คสช.มีความทะเยอทะยานสูงอยากครองเมืองนานถึง
๒๐ ปี แต่ว่าตอนนี้อยู่มาจะ ๕ ปีแล้ว ยังไม่ได้เริ่มอะไรที่เป็นทางป้องกันสภาพบรรยากาศเป็นพิษสักนิดเดียว
ทั้งรัฐบาล คสช. และ กทม. ซึ่ง
คสช.ส่งคนของตนเข้าไปเป็นผู้บริหารตั้งแต่ตัวผู้ว่าฯ ลงมา น่าจะได้ริเริ่มกระบวนการแก้ปัญหาด้วยเครื่องมือทางนิติบัญญัติตั้งนานแล้ว
ผ่านทาง สนช. สภา ‘กึ่งห้าร้อย’ ที่ตั้งโดย
คสช. ให้ไปนั่งหลับกินเงินบำเหน็ดกัน
ถึงกระนั้นก็ยังมีเวลาจากการ ‘ยืดเลือกตั้ง’ อีกอย่างน้อยสองสามเดือน ลองขยับทำอะไรให้เป็นผลแก่ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนสักครั้ง
แสดงความ ‘วิเศษ’ ทางนิติบัญญัติให้เห็น
เหมือนกับที่เคยผ่านกฎหมายอะไรต่อมิอะไร ‘ช่วยพวกเรา’ มาแล้วนั่น