วันพฤหัสบดี, มกราคม 10, 2562

ซีรีส์ ‘มอง 2019’ ของ เวป 101 World : “รัฐประหารเป็นเพียงระบบย่อยภายใต้ระบอบใหญ่ที่ตั้งชื่อไม่ได้” อะไรคือเนื้อหาสาระของ ‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ ?




ที่มา เวป 101 World


12 ปีผ่านไป อาจารย์มีความคิดใหม่ในการทำความเข้าใจการเมืองไทยอย่างไร

เมื่อไม่นานมานี้ ศาลอุทธรณ์ตัดสินว่า เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจได้สำเร็จแล้วถือเป็นการสถาปนาระบอบรัฐประหาร การที่ศาลพูดถึงระบอบแห่งการรัฐประหาร เหมือนกับบอกเราว่าเมื่อยึดอำนาจแล้ว ผู้ที่ยึดอำนาจสำเร็จสั่งอะไรมาก็เป็นกฎหมายทั้งสิ้น

ถึงวันนี้ ผมอยากโต้แย้งถ้อยคำที่ศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ใช้สักหน่อยว่า รัฐประหารไม่ใช่ ‘ระบอบ’ (regime) รัฐประหารเป็น ‘ระบบ’ ใน ‘ระบอบ’ ต่างหาก ถ้าถามต่อว่า แล้ว ‘ระบอบ’ ที่สังคมไทยใช้ชีวิตอยู่ในตอนนี้เป็นระบอบอะไร ก็สุดปัญญาที่จะอธิบาย ผมขอเรียกระบอบนี้ว่า ‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ เพราะเราไม่สามารถอธิบายตัวระบอบได้ภายใต้กฎกติกาในระบอบที่เป็นอยู่ในตอนนี้ คุณมองเห็นแต่คุณพูดได้ไม่หมด เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นหรือเสรีภาพทางวิชาการไม่ได้มีอยู่จริง

ในวันข้างหน้า อาจจะอีกหลายปี เราอาจจะหันกลับมาตั้งชื่อให้มันได้ รวมถึงทำความเข้าใจระบอบนี้ได้มากขึ้น จนเห็นชัดขึ้นว่าการรัฐประหารเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ฟันเฟืองของระบอบนี้หมุนไป


อะไรคือเนื้อหาสาระของ ‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’

เนื้อหาของระบอบคือ เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการช่วงชิงอำนาจในหมู่ผู้นำกองทัพหรือความขัดแย้งในลักษณะที่รัฐบาลพลเรือนไม่สามารถตอบสนองระบอบนี้ได้ จะเกิดการรัฐประหารขึ้น

รัฐประหารเป็นสิ่งที่พร้อมจะเกิดขึ้น เพราะระบอบนี้โดยตัวของมันเอง ยอมรับระบบรัฐประหารด้วย ระบบรัฐประหารก่อรูปในทางปฏิบัติจนกลายเป็นแบบแผน และมีกลไกบังคับทางกฎหมาย คือทั้งฝ่ายที่ถืออาวุธและฝ่ายที่ถือกฎหมายต่างพร้อมกันดำเนินการให้เป็นไปตามการสั่งการ นักกฎหมายและศาลต่างก็ปรับตัวจนคุ้นชินกับการรัฐประหาร ระบบรัฐประหารมีการพัฒนาตัวเองจากช่วงแรกที่เน้นกำลังของฝ่ายถืออาวุธ มาเป็นการใช้อำนาจในนามของสิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘กฎหมาย’ มากขึ้น เพราะระบบนี้พัฒนาจนถึงระดับที่นักกฎหมายเริ่มคุ้นชินแล้ว

การยึดอำนาจในปี 2549 มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญและตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมา นี่แสดงให้เห็นถึงการปรับตัวในการเขียนกฎหมายรัฐธรรมนูญ นั่นคือ เมื่อรัฐธรรมนูญถูกฉีก โดยปกติศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องถูกยุบ เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่รัฐประหารคราวนั้นไม่ได้ยุบศาลรัฐธรรมนูญเฉยๆ แต่มีการตั้งองค์กรใหม่ขึ้น คือสร้างคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมารองรับ นำคดีในศาลรัฐธรรมนูญเดิมส่งต่อมาให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตัดสิน

นักกฎหมายบางท่านพยายามอธิบายว่าการตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาก็เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องน่าขันและน่าอาย เพราะเห็นได้ชัดว่าพยายามอธิบายสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังรัฐประหาร อันที่จริงแล้วการตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาในรัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังรัฐประหารครั้งนั้น เห็นได้ชัดว่าเป็นไปเพื่อให้ภารกิจบางประการของคณะรัฐประหารสามารถบรรลุได้โดยที่คณะรัฐประหารไม่ต้องใช้อำนาจเอง ถ้าเราย้อนไปดูการรัฐประหารในอดีต การยุบพรรคการเมืองจะทำโดยคณะรัฐประหารเองในรูปของคำสั่งคณะรัฐประหาร แต่พอถึงรัฐประหาร 2549 การทำแบบนั้นอาจดูโจ่งแจ้งเกินไป และดูไม่เป็นธรรมด้วย เพราะฉะนั้นถ้าจะยุบพรรคก็ไม่ควรทำให้โจ่งแจ้งและควรจะต้องให้ดูเป็นธรรม ซึ่งอันนี้มีเนติบริกรสนองอยู่

ดังนั้นจึงเกิดการยุบศาลรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ให้คดียุบพรรคที่ค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดไปด้วย ให้โอนมาที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นใหม่ และให้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญดำเนินการต่อ พร้อมกับการออกประกาศคณะรัฐประหารให้ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคในกรณีที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ทำให้ในที่สุดแล้วก็บรรลุเป้าหมายได้เหมือนกัน และดูชอบธรรมกว่า

ไม่ว่าในความเป็นจริงจะชอบธรรมหรือยุติธรรมหรือไม่ก็ตาม แต่การที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้อ่านคำพิพากษายุบพรรคโดยมีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ก็เป็นการกล่อมเกลาให้ประชาชนเชื่อว่าทุกอย่างเป็นธรรม และเป็นการตัดสินบนฐานของกฎหมายแล้ว แม้ว่าจะเป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคคลซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานทางกฎหมายก็ตาม การยุบพรรคโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญคราวนั้น ผมมองว่าเป็นอีกขั้นหนึ่งของพัฒนาการของระบบรัฐประหาร

ต่อมา รัฐประหารปี 2557 ได้ทำเรื่องนี้ต่างออกไปจากเดิม เราเห็นการกำหนดกติกาหลังรัฐประหารที่ไม่สนใจหลักการอะไรในทางกฎหมายชัดเจนขึ้น และเห็นการกำหนดกติกาที่พยายามพรางตัวให้ในทางรูปแบบรับกับสิ่งที่เป็นสากลมากขึ้น แม้ว่าในทางเนื้อหาไม่ได้เป็นเช่นนั้น อย่างเช่นการไม่ยุบเลิกศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่บทบัญญัติในส่วนที่ว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญได้ถูกยกเลิกไปแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญก็ต่างจากศาลอื่นๆ เช่น ศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง เพราะศาลยุติธรรมหรือศาลปกครองเกิดจากกฎหมายจัดตั้งของรัฐสภา แต่ศาลรัฐธรรมนูญถือกำเนิดจากรัฐธรรมนูญโดยตรง

ความน่าพิศวงคือศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่กลับดำรงอยู่ต่อไปได้แม้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นแหล่งที่มาแห่งอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเอง จะถูกฉีกไปแล้ว เราจะอธิบายมันได้อย่างไร จะอธิบายว่าเพราะคณะรัฐประหารเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญย่อมไม่ขัดขวางความต้องการของคณะรัฐประหารแน่ๆ จึงไม่จำเป็นต้องยุบ หรือจะอธิบายว่าจริงๆ แล้ว ในบ้านเราศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่พิทักษ์สิ่งที่อยู่เบื้องหลังรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นอะไรบางอย่างที่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ

เป็นอันว่าระบอบนี้ก็เผยตัวออกมาว่า รัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรไม่ได้มีคุณค่าความหมายเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ รัฐประหารสองครั้งล่าสุดทำให้ผมมองเห็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้โดยหลักคิดในทางกฎหมาย ว่าในที่สุดแล้วในบ้านเรามันเป็นไปได้ทั้งสิ้น บรรดาสถาบันทางการเมืองที่เรารับมาจากตะวันตก พอมาอยู่ในเนื้อดินของสังคมไทย มันก่อตัวขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อแนวคิดบางอย่างในบริบทการเมืองไทยแท้ ซึ่งถึงที่สุดแล้วไม่ได้ตั้งอยู่บนคุณค่าที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับนับถือได้


แนวคิดที่ว่า ‘ระบบรัฐประหารทำงานอยู่ในระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ ทำให้เราเข้าใจการเมืองไทยชัดขึ้นอย่างไร

พอเรามองว่ารัฐประหารเป็นส่วนย่อยของระบอบใหญ่ที่ทำงานของมันไป ก็ช่วยทำให้เรามองเห็นบรรดาตัวละคร ซึ่งปกติมองเห็นไม่ชัด ได้ชัดเจนขึ้น ถ้าเปรียบเทียบสิ่งที่ผมเรียกว่า ระบบรัฐประหารในระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้ กับ แนวความคิดเกี่ยวกับวงจรอุบาทว์ อาจจะพอทำให้เราเห็นอะไรบางอย่าง

แนวความคิดเกี่ยวกับวงจรอุบาทว์ที่ยอมรับนับถือกันว่าเป็นแนวความคิดที่อธิบายสภาพความเป็นไปของการเมืองไทยได้ดี คือ มีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง มีรัฐบาล เกิดวิกฤตการณ์ ทหารยึดอำนาจ ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองหรือรัฐธรรมนูญชั่วคราว เกิดการร่างรัฐธรรมนูญ มีรัฐธรรมนูญ วนลูปไปแบบนี้ แม้จะทำให้เราเห็นสภาพทั่วไปของการเมืองไทย แต่ก็จำกัดความขัดแย้งเอาไว้ที่นักการเมืองกับกองทัพเป็นหลัก ซึ่งผมเห็นว่าไม่เพียงพอในการอธิบายการเมืองไทยจริงๆ เพราะมีสถาบันและปัจจัยอื่นๆ อีกที่ไม่ถูกผนวกเข้ามาในแนวความคิดเกี่ยวกับวงจรอุบาทว์ แต่ถ้าเรามองรัฐประหารในฐานะที่เป็นระบบของระบอบอะไรที่ใหญ่กว่า แม้ยังตั้งชื่อไม่ได้ บางทีเราอาจจะเห็นสถาบันต่างๆ ที่เข้าพัวพันกับการรัฐประหารได้ชัดเจนกว่า ถึงแม้ว่าเราจะพูดไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม

ถ้าเราทำความเข้าใจเฉพาะรัฐประหารแต่ละครั้ง ก็จะเห็นแค่รูปแบบของมันในแต่ละครั้ง ไม่เห็นภาพใหญ่ แต่ถ้าเรามองในลักษณะที่การรัฐประหารเป็นตัวระบบอะไรบางอย่างซึ่งทำให้ระบอบคงอยู่ได้ จะทำให้เราเห็นว่ามีตัวละครและองค์กรอะไรบ้างที่เข้ามาเกี่ยวพันเพื่อให้ตัวระบอบนี้อยู่ได้

เรายังไม่รู้แน่ว่า รัฐประหารคือการทำให้เกิดความมั่นคงหรือการดิ้นรนให้อยู่รอด ‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ อาจจะไม่ได้เกิดด้วยความตั้งใจที่จะสร้างมันขึ้นมา แต่มันเป็นไปโดยสภาวะของการต่อสู้ทางการเมือง จนค่อยๆ ก่อตัวขึ้น โดยคนในระบอบนี้ค่อยๆ สร้างกฎกติกาบางอย่างไปเรื่อยๆ โดยสภาพของการมีรัฐประหารขึ้นมา


‘ระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้’ เกิดขึ้นในการเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไหร่

ผมไม่อยากจะพูดว่ามันเกิดขึ้นในช่วงไหนในทันที เหตุการณ์ทั้งหมดค่อยๆ ก่อรูปขึ้น แต่มันชัดเจนขึ้นในการรัฐประหารสองครั้งหลัง ที่น่าสนใจก็คือระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้นี้จะดำรงอยู่ต่อไปอีก หรือจบลงแล้วและกำลังแปลงร่างเป็นอีกระบอบหนึ่งซึ่งอาจไม่ต้องมีรัฐประหารเป็นระบบในระบอบนี้แล้ว

ในช่วงที่ผมเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2530 หลายคนก็มั่นใจว่าจะไม่มีรัฐประหารเกิดขึ้นอีก เราผ่านการใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2521 มานานพอสมควร แม้จะมีความพยายามในการยึดอำนาจซึ่งกลายเป็นกบฏไปสองครั้งในยุครัฐบาลเปรม แต่สุดท้ายก็กลับมามีรัฐประหาร 2534 ตามมาด้วยเหตุการณ์พฤษภาเลือดปี 2535 และการปฏิรูปการเมืองปี 2540 เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 บังคับใช้ ก็ไม่มีใครคิดแล้วว่าทหารจะกลับมามีบทบาททางการเมืองอีก แต่แล้วรัฐประหาร 2549 ก็เกิดขึ้น

ถามว่าตอนนี้มีใครเชื่อไหมว่าจะไม่เกิดรัฐประหารขึ้นอีกเหมือนความรู้สึกสมัยปี 2530 หรือ 2540 ผมคิดว่าน่าจะหาได้ยาก รัฐประหารกลายเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก สิ่งที่ไม่ปกติเริ่มกลายเป็นความปกติทีละเล็กทีละน้อย ระบบรัฐประหารกำลังก่อรูปอะไรบางอย่าง หรืออาจจะเปลี่ยนไปเป็นอะไรบางอย่าง แต่เราอาจจะยังสรุปได้ไม่ชัดว่ามันคืออะไร


ความแตกต่างของรัฐประหารปี 2549 กับ 2557 ภายใต้ระบอบใหญ่เดียวกัน คืออะไร
รัฐประหารปี 2549 เป็นเหมือนปฏิกิริยาต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในระบอบ นั่นคือ รัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าคุณทักษิณจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่สิ่งที่เขาทำส่งผลให้เกิดการปะทะต่อตัวระบอบที่ดำรงอยู่

ถ้าพูดง่ายๆ ในทางหนึ่ง สำหรับระบอบที่ดำรงอยู่มา คุณทักษิณอาจเปรียบเสมือนเชื้อโรคบางอย่าง ตัวระบอบนี้สร้างแอนติบอดี ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเพื่อสู้ อันนี้เป็นการมองระบอบนี้ในแง่ดี โดยเรากำลังบอกว่าทักษิณเป็นเชื้อโรค แต่ในทางกลับกัน เราอาจมองว่าทักษิณเป็นสิ่งที่ดี และสามารถเปลี่ยนแปลงระบอบนี้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ตัวระบอบอยากจะฝืนอยู่แบบเดิมก็ได้

หลังรัฐประหารปี 2549 แม้จะสู้กับสิ่งแปลกปลอมด้วยการยุบพรรค แต่สิ่งแปลกปลอมก็พัฒนาตัวเองต่อ สร้างพรรคใหม่ ไม่ได้ตายจากไปอย่างสิ้นเชิง ในมุมของระบอบก็มองว่านี่เป็นเชื้อโรคที่ไม่ยอมตาย ยังกลับมาได้อีก ดังนั้นจึงต้องจัดกำลังที่มีเข้ามาต่อสู้กับเชื้อโรคเหล่านี้ให้เด็ดขาดขึ้น

แล้วตัวระบอบก็เผยตัวออกมาใสขึ้น ก่อนหน้าปี 2549 หลายคนอาจมองไม่เห็น แต่ในช่วงวิกฤตการเมือง เรายิ่งมองเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงหลังรัฐประหารปี 2557 และการมองเห็นโครงสร้างของระบอบนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในวงวิชาการ แต่ลามไปถึงคนทั่วไปในสังคมด้วย

เราพูดถึงเรื่องรัฐพันลึก หรือ deep state แต่ตอนนี้ผมคิดว่ามันไม่ deep แล้ว ทุกอย่างมันปรากฏตัวขึ้นมาให้เห็นอย่างชัดแจ้ง เพราะสิ่งแปลกปลอมในระบอบมีความแข็งแรงขึ้น ตัวระบอบจึงต้องออกแรงมากขึ้น การจัดการแบบลึกๆ ไม่สามารถจัดการได้ คุณต้องโผล่ขึ้นมาปริ่มผิวน้ำ กระทั่งเหนือผิวน้ำ

แน่นอนว่าในการโผล่ขึ้นมาจัดการ คุณก็ต้องพยายามพรางตัวอยู่บ้าง โดยใช้สถาบันต่างๆ ที่อยู่ในโลกตะวันตกตามหลักนิติรัฐประชาธิปไตยมาเป็นป้ายปัก แต่การโผล่ขึ้นมาเหนือผิวน้ำทำให้ไม่สามารถพรางตัวได้อีกต่อไป

ถามว่ากองเชียร์แต่ละฝ่ายรู้ไหม ทั้งสองฝ่ายรู้ แต่ฝ่ายหนึ่งเลือกที่จะสนับสนุน และไม่ปฏิเสธ รัฐประหารปี 2557 เลยทำให้เราได้เห็นอะไรหลายอย่างมากกว่ารัฐประหารปี 2549 เราปฏิเสธไม่ได้หรอกว่ารัฐประหารครั้งหลังเป็นภาคต่อของครั้งแรก ในรูปแบบที่หนักและรุนแรงกว่าเดิม เป็นความพยายามในการรักษาระบอบที่ตั้งชื่อไม่ได้เอาไว้


พอเข้าใจแบบนี้แล้ว เปลี่ยนวิธีมองการเมืองไทยจากเดิมอย่างไร

ในภาพหลัก มันทำให้ผมเข้าใจอะไรมากขึ้นกว่าสมัยเรียนหนังสือ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันการเมืองโดยตรงและส่วนที่เป็นองค์กรต่างๆ ในระบบกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่นสมัยที่ผมเรียนกฎหมายในมหาวิทยาลัย เราถูกสอนว่าระบบบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรมไทยดีที่สุดในโลก เราไม่เคยตั้งคำถามกับมัน แต่พอได้มองเห็นมันชัดขึ้นก็พบว่าไม่ใช่ เราก็เปลี่ยนทัศนะไป

12 ปีที่ผ่านมา ทำให้เราได้เห็นว่า คำอธิบายเดิมที่เคยเข้าใจมา มันไม่ถูก สิ่งที่เคยเรียนกันมา มันใช้ไม่ได้ หลายเรื่องมันผิด

อีกอย่างหนึ่งคือ ผมเห็น ‘คน’ ในฐานะที่เกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง การที่เราจะนับถือหรือเคารพใครเป็นเรื่องสำคัญ การเมืองไทยในช่วง 12 ปีมานี้ ทำให้ผมเห็นคนและเข้าใจว่าคนก็เป็นแบบนี้ คนที่ผมเคยเคารพนับถือ ตอนนี้ผมไม่ได้เคารพนับถือเขาเหล่านั้นอีกต่อไปแล้ว ยิ่งในช่วงที่ระบอบผลุบๆ โผล่ๆ เป็นช่วงที่ต้องใช้กฎหมายเป็นแกนหลัก ตัวผมเรียนกฎหมาย และเป็นกฎหมายมหาชนจากประเทศที่พัฒนาไปในทางทิศทางประชาธิปไตย มันจึงเห็นอะไรมากและกระทบกับชีวิตผมเยอะ

มันเป็นทั้งความโชคดีและโชคร้าย ผมเคยพูดกับกลุ่มคนรักประชาธิปไตยถึงการเปลี่ยนแปลง ผมบอกเขาว่าการเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่จะเกิดในชีวิตของเราหรือไม่ เราไม่รู้ เพราะชีวิตคนมันสั้น แต่หน้าของประวัติศาสตร์นั้นยาว เรามีชีวิตอยู่แค่ช่วงหนึ่งในบริบทการเมืองหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราพูดวันนี้ คนฮือฮามากที่สุด วันหน้าก็เป็นได้เพียงแค่เชิงอรรถในประวัติศาสตร์ ไม่แม้แต่จะขึ้นไปปรากฏอยู่ในเนื้อหา หรืออาจจะไม่ปรากฏในหนังสือประวัติศาสตร์เลยก็ได้ เราลงมือเปลี่ยนแปลงสังคม แต่อาจจะไม่ทันเห็นการเปลี่ยนแปลงของมันเลยก็ได้

แต่สิ่งหนึ่งที่ผมจะไม่ยอมอย่างแน่นอนคือ เราจะไม่ตายอย่างโง่ๆ เราจะไม่ตายแบบไม่รู้อะไร สำหรับผมนี่คือคุ้ม เราจะตายไปโดยรู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ถึงเราอาจจะพูดได้ไม่หมด อาจจะยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่เรารู้ว่ามันคืออะไร ทำไมมันถึงเป็นแบบนี้


ถ้าอย่างนั้นบทบาทของคนที่อยากเปลี่ยนสังคมควรเป็นอย่างไร

ผมคิดว่าเขาต้องเห็นและรู้ นอกจากนี้ควรมีหลักคิดบางอย่างที่รับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม

การตัดสินใจว่าจะลงมือทำหรือไม่ ทำอะไร เป็นเรื่องของปัจเจกที่แต่ละคนต้องวินิจฉัยเอง แต่ถ้าถามว่ามีข้อเตือนใจอะไร ผมคิดว่าเราอย่าเล็งผลเลิศ

การทำแบบเล็งผลเลิศต่างจากการทำโดยรู้ถึงข้อจำกัด การกระทำโดยเห็นข้อจำกัดของตนเองเป็นสิ่งสำคัญ เวลาที่เราเจออุปสรรคที่ทำให้การกระทำยังไม่สำเร็จ มันทำให้เราไม่หมดกำลังใจ หากคุณทำแบบเล็งผลเลิศแล้วไม่สำเร็จ คุณจะหดหู่และหมดความหวังไปเลย

ผมสนับสนุนให้คนลงมือทำ ประเด็นของผมไม่ได้อยู่ที่ว่าเราต้องเปลี่ยนแปลงโลกได้สำเร็จ แต่เราต้องลงมือทำ มันถึงจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่อย่าเล็งผลเลิศ อย่าคาดหวังว่าจะต้องมองเห็นความสำเร็จในชั่วชีวิตเรา และการลงมือทำนั้นขึ้นอยู่กับคนแต่ละคนว่าถนัดแบบไหน ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องลงมือทำในแบบเดียวกัน


อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้ที่...

(https://www.the101.world/worachet-interview-2019-01/)

[ติดตาม บทสัมภาษณ์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ตอนที่ 2 ว่าด้วยอนาคตการเมืองไทยและสัญญาประชาคมใหม่ ได้ ที่นี่ และตอนที่ 3 ว่าด้วยเนติบริกร ศาล และตุลาการภิวัตน์ ได้ทาง The101.world เร็วๆ นี้]