วันศุกร์, สิงหาคม 11, 2560

ไทยต้องทำอะไรให้ "ลุงแซม" บ้าง เพื่อให้ "ลุงตู่" ได้ไปเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการและสมภาคภูมิ - BBC Thai




ที่มาข่าว เวป BBC Thai

เพิ่มเติม : “ราคา” ที่ไทยต้อง “จ่าย” ก่อนนายกฯ ไปอเมริกา

9 สิงหาคม 2017
(Excerpt)

ตุลาคม 2560 คือ ห้วงเวลาที่หัวหน้าคณะรัฐประหารของไทย มั่นใจว่า จะได้ไปเยือน นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีแห่งประเทศเสรีประชาธิปไตย แต่กว่าจะถึงวันนั้น ไทยต้องทำอะไรให้ "ลุงแซม" บ้าง เพื่อให้ "ลุงตู่" ได้ไปเยือนสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการและสมภาคภูมิ

.

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานตรงกันว่า สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยตัดท่อน้ำเลี้ยงทางการเงินของเกาหลีเหนือด้วยการปราบปรามบริษัทหลายแห่งของเกาหลีเหนือที่ใช้ไทยเป็นศูนย์ในการทำการค้าผ่านธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นบังหน้า

.

เอเอฟพี อ้างข้อมูลจากระทรวงต่างประเทศของไทยว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยและเกาหลีเหนือระหว่างปี 2552-2557 เติบโตขึ้นเกือบ 3 เท่า เป็นมูลค่า 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 4.3 พันล้านบาท







ซูซาน ธอร์นตัน รักษาการหัวหน้าของฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก ของกระทรวงต่างประเทศ สหรัฐฯ พูดเรื่องนี้กับนักข่าวที่ร่วมเดินทางมาในเครื่องบินลำเดียวกับนายทิลเลอร์สันว่า สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยปิดกิจการเหล่านี้

เอเอฟพี รายงานด้วยว่าสหรัฐฯ ต้องการให้รัฐบาลไทยเพิ่มกฎเกณฑ์การออกวีซ่าแก่ชาวเกาหลีเหนือที่เข้ามาในไทย รวมทั้งสกัดกั้นการดำเนินงานของสถานทูตเกาหลีเหนือในกรุงเทพฯ ด้วย

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังต้องการให้ไทยอนุญาตให้ผู้อพยพจากเกาหลีเหนือผ่านเข้ามาประเทศไทย เพื่อลี้ภัยไปเกาหลีใต้ได้มากขึ้น

ทว่า พล.ท.วีรชน รองโฆษกรัฐบาล ซึ่งทำหน้าที่ล่ามของ พล.อ. ประยุทธ์ในการหารือด้วย ปฏิเสธว่าไม่มีการหารือเรื่องนี้ระหว่างการพูดคุยของ พล.อ.ประยุทธ์ และ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ

.

พล.ท.วีรชน แถลงต่อผู้สื่อข่าว หลังการหารือว่า ในประเด็นสำคัญในภูมิภาคและของโลก เช่น ประเด็นทะเลจีนใต้ และสถานการณ์ในคาบสมุทรเกาหลี "ไทยพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุน และเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะคลี่คลายสถานการณ์เพื่อความสันติสุขในภูมิภาค รวมทั้งปฏิบัติตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ" โดย ไม่ได้อธิบายรายละเอียด

แหล่งข่าวด้านความมั่นคงของรัฐบาลไทย กล่าวว่า สหรัฐฯ ได้เสนอข้อเรียกร้องเรื่องให้สกัดกั้นบริษัทเกาหลีเหนือในไทยจริง แต่ไทยต้องขอดูเงื่อนไขว่า ตรงกับ มติของสหประชาชาติหรือไม่

"เราต้องดูว่า คำร้องขอ ถูกต้องตามมติสหประชาชาติหรือไม่ บริษัทเหล่านี้ มีไม่ถึง 10 บริษัทในไทย และจ้างงานคนไทยน้อยมาก " แหล่งข่าวรายนี้กล่าว

.

นอกจากเรื่องเกาหลีเหนือแล้ว ประเด็นสิทธิบัตรยา ก็เป็นอีกเรื่องที่สร้างความกังวลแก่ภาคประชาสังคม

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชนหรือ FTA Watch แสดงความกังวลว่าการหารือครั้งนี้ จะนำไปสู่การเร่งรัดให้มีการอนุมัติสิทธิบัตรยาของต่างประเทศที่ตกค้างกว่า 3,000 ฉบับ ซึ่งเรื่องสิทธิบัตรยา เป็นหนึ่งในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่บริษัทผู้ผลิตยาต่างประเทศกดดันไทยมาตลอด

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch แถลงว่า รัฐบาล คสช.อาจใช้เครื่องมือ มาตรา 44 แก้ปัญหาความล่าช้านี้ "เพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนทางการเมืองให้ คสช.ได้รับการยอมรับระหว่างประเทศมากขึ้นจนอาจละเลยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสังคมไทย"

แต่ในจำนวนร้อยละ 84 ของสิทธิบัตรยาที่ถูกขอ FTA Watch ระบุว่า เป็นคำขอที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ยาใหม่ ซึ่งหากไม่พิจารณาคัดกรอง จะส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องใช้ยาแพง ต้นทุนการรักษาพยาบาลย่อมเพิ่มสูงขึ้น

ข้อกังวลของภาคประชาสังคมมีน้ำหนักมากขึ้น เมื่อประเด็นการหารือวันนี้ รัฐบาลไทยได้หยิบยกผลงานการแก้ปัญหาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่พัฒนาขึ้นในหลาย ๆ ด้าน มาโชว์สหรัฐฯ แสดงให้เห็นความแข็งขันจริงจังเพื่อแลกกับการปรับสถานะของไทย ดังที่ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการหารือวันนี้ ว่า ไทยได้ฝากให้สหรัฐฯ พิจารณาทบทวนสถานะของไทยที่ขณะนี้ถูกขึ้นบัญชีจับตาเป็นพิเศษ (Priority Watch List)