วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 17, 2560

จีนโขก 4พันล้าน ค่าคุมงานก่อสร้างไฮสปีดโคราช





จีนโขก 4พันล้าน ค่าคุมงานก่อสร้างไฮสปีดโคราช


วันที่ 14 สิงหาคม 2560
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

ค่าคุมงานไฮสปีดกรุงเทพฯ-โคราชทะลุ 4 พันล้าน ไทยบี้จีนลดราคา เร่งปิดดีลให้จบ ส.ค. เปิดไซต์ก่อสร้าง ต.ค.นี้ จับตาเงื่อนเวลาไม่เป็นใจ บีบนำเข้าเหล็กจีน 150 ตัน ตอกเข็ม 3.5 กม.หลังผู้ผลิตไทยเปิดไลน์ไม่ทัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 15-17 ส.ค. 2560 จะมีประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 20 เดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงรุงเทพฯ-นครราชสีมา 253 กม. เงินลงทุน 179,412 ล้านบาท โครงการร่วมมือของรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน

ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างเจรจากับจีนค่าจ้างออกแบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธาและค่าคุมงานก่อสร้าง ให้ได้ข้อสรุปโดยเร็ว จากนั้นเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติและเซ็นสัญญาต่อไป ให้ทันกับกรอบเวลาก่อสร้างระยะแรกสถานีกลางดง-ปางอโศก 3.5 กม. วงเงิน 425 ล้านบาท ภายในเดือน ก.ย.-ต.ค. 2560 จากนั้นจะทยอยอีก 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 2 อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา 11 กม. ตอนที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา 119.5 กม. และตอนที่ 4 แก่งคอย-กรุงเทพฯ 119 กม.

“ค่าจ้างออกแบบเจรจาจีนลดจาก 2,014 ล้านบาท อยู่ที่ 1,706 ล้านบาท ส่วนค่าคุมงานก่อสร้าง กำลังพิจารณากำลังคนที่ต้องจ้าง ซึ่งจีนเสนอ 500 คน วงเงิน 5,140 ล้านบาท จ้างคนจีน 50 คน และคนไทย 450 คน ตอนนี้ต่อรองลดลงมาอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท จะให้ลดลงมาที่ 3,000 ล้านบาท แต่ยังเกินจากกรอบวงเงินที่ ครม.กำหนด 1,648 ล้านบาท”

ทั้งนี้การก่อสร้างทั้งโครงการ ฝ่ายไทยจะดำเนินการ 75% ได้แก่ งานโยธา แหล่งจ่ายไฟฟ้ากำลัง โดยใช้ผู้รับเหมา วัสดุและอุปกรณ์ผลิตในประเทศไทย ส่วนฝ่ายจีนจะดำเนินการ 25% ได้แก่ ระบบราง รถไฟฟ้า และอาณัติสัญญาณ เนื่องจากใช้ระบบเทคโนโลยีจากจีน และเป็นโครงการความร่วมมือรัฐบาลต่อรัฐบาลหรือจีทูจี

สำหรับการใช้เหล็กข้ออ้อยก่อสร้างในโครงการ คาดว่าจะใช้ 7-8 แสนตัน ได้ตกลงกับจีนแล้วสามารถใช้เหล็กข้ออ้อยผลิตในประเทศได้ โดยจะส่งสเป็กให้ไทยดำเนินการผลิตต่อไป

แต่เนื่องจากเป็นเหล็กข้ออ้อยที่ใช้สำหรับรถไฟความเร็วสูงที่ไทยไม่เคยผลิตมาก่อน ทางผู้ประกอบการต้องปรับไลน์การผลิตใหม่ให้ได้ตามสเป็กของจีน รวมถึงการขอมอก.เพราะไม่มีอยู่ในประเภทที่ มอก.รับรองไว้ อาจจะใช้เวลาพอสมควร ทำให้การเริ่มงานระยะแรก 3.5 กม.ในเดือน ต.ค.นี้ ทางผู้ผลิตเหล็กไทยอาจจะผลิตไม่ทัน ซึ่งกรมทางหลวง (ทล.) ผู้ก่อสร้าง อาจจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศหรือจากจีนเพื่อให้ได้ตามสเป็กรถไฟความเร็วสูง ซึ่งงานช่วงนี้จะใช้ประมาณ 150 ตัน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ส.ค.-ก.ย.นี้จะเสนอ ครม.อนุมัติร่างสัญญาจ้างที่ปรึกษาออกแบบ 1,706 ล้านบาท ส่วนการจ้างคุมงานก่อสร้างจะหารือในการประชุมครั้งที่ 20