วันศุกร์, สิงหาคม 18, 2560

"นปช." ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการคดีสลายการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มนปช. เมื่อปี2553 ใหม่





"นปช." ฟื้นคดีสลายการชุมนุม'53 ห่วงความอยุติธรรมทำสังคมแตกแยก


17 สิงหาคม พ.ศ. 2560
TV 24 สถานีประชาชน

"นปช." ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. เพื่อให้ดำเนินการคดีสลายการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มนปช. เมื่อปี2553 ใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เดินทางมายื่นหนังสือเพื่อดำเนินคดีสลายการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 ใหม่ โดย นายณัฐวุฒิกล่าวว่า "ที่พวกผมเดินทางมาในวันนี้ก็เพื่อยื่นหนังสือและเอกสารข้อมูลหลักฐานประกอบร้องต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้มีการพิจารณากรณีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม 2553 ใหม่ ทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 86 (1) พระราชบัญญัติ ป.ป.ช. ซึ่งเปิดให้สามารถที่จะยื่นพยานหลักฐานใหม่อันเป็นสาระสำคัญแห่งคดีให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาคำร้อง ซึ่งได้มีการยกคำร้องไปแล้วได้ พยานหลักฐานใหม่ซึ่งมีสาระสำคัญต่อคดีที่พวกผมหยิบยกมาก็คือ ผลแห่งคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกรณีสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่ง ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และคณะ ซึ่งเป็นจำเลยร่วมทั้งหมด ประเด็นก็คือว่าในการดำเนินการฟ้องร้องคดีดังกล่าวกับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ป.ป.ช. มีมติชี้มูลอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ มีกรรมการ ป.ป.ช. เสียงข้างน้อยที่เห็นควรยกคำร้อง หลังจากนั้นก็ใช้มติ ป.ป.ช. เสียงข้างมากยื่นเรื่องต่อไปยังอัยการสูงสุด ซึ่งอัยการสูงสุดก็ชี้ข้อไม่สมบูรณ์จนนำไปสู่การตั้งคณะทำงานร่วม และเมื่อคณะทำงานร่วมได้ปรึกษาหารือทำงานร่วมกันแล้วก็ยังมีความเห็นแตกต่าง โดยฝ่ายอัยการสูงสุดเห็นว่า การสั่งการและการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายจำเลยเป็นไปอย่างเหมาะสมและชอบธรรมแล้ว จึงเห็นควรไม่สั่งฟ้อง เมื่อเรื่องกลับมาที่ ป.ป.ช. แล้ว ป.ป.ช.ก็ใช้อำนาจหน้าที่ยื่นฟ้องเองโดยว่าจ้างทนายจากสภาทนายความ หลังจากนั้นคดีก็เข้าสู่ขบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจนถึงที่สุดศาลพิพากษายกฟ้อง"





นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า "จากตรงนี้จะเห็นว่า การใช้ดุลยพินิจตามอำนาจหน้าที่ของกรรมการ ป.ป.ช. นั้น นอกจากไม่เป็นเอกฉันท์ในชั้น ป.ป.ช. แล้ว ยังมีความแปลกแตกต่างจากองค์กรอื่นในกระบวนการยุติธรรมคืออัยการสูงสุด แล้วในที่สุดก็แตกต่างจากดุลยพินิจของคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นี่เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ดุลยพินิจของ ป.ป.ช. ต่อคดีสลายการชุมนุมทางการเมืองในเหตุการณ์ปี 2553 ก็อาจจะแตกต่างกับอัยการและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน แต่ในกรณีของกลุ่มพันธมิตร ป.ป.ช. ใช้อำนาจหน้าที่อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ถึงขั้นจ้างทนายฟ้องเอง ในขณะที่คดีของกลุ่ม นปช. ป.ป.ช. กลับยกคำร้องยุติเรื่องเพียงแค่ในชั้นพนักงานสอบสวน เท่ากับเป็นการตัดโอกาสของประชาชนที่จะเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงของคดีอย่างถึงที่สุด ประการต่อมาในคำฟ้องของ ป.ป.ช. ต่อคดีของกลุ่มพันธมิตร ได้มีการระบุชัดเจนถึงจำนวนของผู้เสียชีวิตว่ามี 2 ราย แต่ในรายละเอียดกลับชี้เฉพาะรายกรณีของนางสาวอังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือโบว์ เท่านั้น ไม่ได้พูดถึงกรณีของ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือสารวัตรจ๊าบ แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงก็คือว่าในคำฟ้องคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้ว่าการเสียชีวิตของนางสาวอังคณาน่าจะเกิดจากแก๊สน้ำตา แต่ในคำพิพากษาของศาลชี้ว่ามีความแตกต่างกับความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช. โดยอ้างคำให้การของผู้เชี่ยวชาญหลายคนประกอบกัน ส่วนกรณีของสารวัตรจ๊าบ ซึ่ง ป.ป.ช. ไม่ได้ระบุรายละเอียดลงในคำฟ้องเลยนั้น จากรายงานของเจ้าหน้าที่ก็พบว่า มีการขับรถบรรทุกวัตถุระเบิดที่มีอำนาจทำลายล้างสูงเข้าไปในพื้นที่สถานการณ์และเกิดเหตุระเบิดจนเสียชีวิต ซึ่งตรงนี้เป็นสาระสำคัญแห่งคดี เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ยืนยันว่า การชุมนุมในวันนั้นก็มิได้ปราศจากอาวุธ ซึ่งจะถือเป็นเหตุสำคัญในการยกคำร้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และคณะได้ แต่ ป.ป.ช. เมื่อไม่ใส่ข้อเท็จจริงนี้ลงไปก็สั่งฟ้อง ในขณะเดียวกันกรณีของกลุ่ม นปช. ป.ป.ช.อ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบไม่ปราศจากอาวุธ จึงให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ทหารและอาวุธสงครามเข้าดำเนินการกับกลุ่มผู้ชุมนุม ยกคำร้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพวก ในเรื่องของการชุมนุม ซึ่งมีการกล่าวอ้างคำพิพากษาของศาลนั้น กลุ่มพันธมิตรก็ได้อ้างว่าศาลเคยรับรองการชุมนุมนี้ว่าเป็นไปตามกฎหมาย แต่ในท้ายที่สุดคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีข้อสรุปที่แตกต่าง โดยชี้ว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย"





"ดังนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่เราบอกว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ ที่มีสาระสำคัญต่อคดีเพราะชี้ว่า การใช้ดุลยพินิจของ ป.ป.ช. อาจจะมีความแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคดีความ เมื่อเข้าไปสู่ชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อีกประการหนึ่งในเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร เหตุที่เกิดและจบลงกินเวลาภายในวันเดียว คือวันที่ 7 ตุลาคม 2551 แต่กรณีของกลุ่ม นปช. นั้น หากนับเริ่มต้นจากการที่มีผู้เสียชีวิตจนถึงยุติการชุมนุมคือวันที่ 10 เมษายน ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 นั่นแสดงว่ากว่า 1 เดือนที่สถานการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน แล้วการบาดเจ็บเสียชีวิตของประชาชนก็เกิดขึ้นกันต่างกรรมต่างวาระต่างสถานที่ ผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งก็มิได้เป็นผู้ชุมนุม เป็นเพียงผู้สัญจรผ่านไปมาหรือผู้มาพบเห็นเหตุการณ์แล้วเข้าไปสังเกตการณ์เท่านั้น บางรายเป็นอาสาสมัครพยาบาลซึ่งมีเครื่องหมายสัญลักษณ์บ่งบอกสถานะชัดเจน แต่การพิจารณาคำร้องของกลุ่มพันธมิตรแม้เกิดขึ้นและจบลงภายในวันเดียว แต่กรรมการ ป.ป.ช. ได้แยกเหตุการณ์เป็น 3 ช่วงเวลา คือ ภาคเช้า ภาคบ่าย และภาคค่ำ ของวันเดียวกัน ขณะที่สถานการณ์ของกลุ่ม นปช. ซึ่งเกิดขึ้นเดือนกว่า กลับพิจารณาแบบเหมารวมเป็นเหตุการณ์เดียว โดยอ้างคำวินิจฉัยของศาล ซึ่งชี้ก่อนการยุติการชุมนุมจะเกิดขึ้นเกือบหนึ่งเดือนเอามาครอบคลุมทั้งหมดแล้วนำไปสู่การยกคำร้องให้จำเลยพ้นจากการถูกดำเนินคดี ในการเรียกร้องวันนี้เราจึงบรรจุประเด็นว่า ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. นอกจากหยิบยกเอากรณีนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่แล้ว ขอให้พิจารณาโดยแยกเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์ที่วัดปทุมวนาราม เหตุการณ์ที่แยกบ่อนไก่ เหตุการณ์ที่ถนนราชปรารภ เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมและเพื่อความเป็นมาตรฐานเดียวในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เครื่องมือที่ถูกระบุว่าเป็นอาวุธหรือเป็นเหตุทำให้ประชาชนบาดเจ็บและเสียชีวิตมีเพียงแก๊สน้ำตาเท่านั้น แต่เหตุการณ์ในปี 2553 มีอาวุธสงคราม มีปืนติดลำกล้อง แล้วก็มียุทโธปกรณ์ต่างๆมากมาย มีการประกาศเขตใช้กระสุนจริงซึ่งเห็นปรากฏชัดไปทั่วโลก พวกผมมีคำถามในใจมาตลอดว่า สั่งฟ้องแก๊สน้ำตา แต่ไม่ฟ้องอาวุธสงครามและปืนติดลำกล้องได้อย่างไร?"





นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยังกล่าวด้วยว่า "คนมือเปล่าถูกยิงร่วมร้อยชีวิตกลางเมืองหลวง แต่ทุกวันนี้ยังไม่รู้จะไปเอาผิดกับใคร? ซึ่งพวกผมหวังจะได้รับโอกาส จากกระบวนการยุติธรรมด้วยเช่นกัน ที่ผมเรียกร้องครั้งนี้ไม่ได้เรียกร้องเพื่อตนเอง ผมเรียกร้องให้ความยุติธรรมต่อผู้คนที่บาดเจ็บล้มตาย ถูกผิดต้องว่ากัน ไม่ใช่จะมายุติเรื่องจาก ป.ป.ช. ที่มีความเห็นแตกต่างกัน ยิ่งเฉพาะสถานการณ์แบบนี้ ยากที่พวกผมจะส่งเสียงใดๆได้ ซึ่งพวกผมเจ็บปวด แต่พวกผมก็จะรวบรวมรายชื่อประชาชน 20,000คน ยื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา ให้ทำเรื่องยื่นต่อศาลเพื่อให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนข้อเท็จจริงการสลายการชุมนุม โดยพวกผมจะรอดูว่าหากมีการยื่นอุทธรณ์คดีพันธมิตรฯ ป.ป.ช. จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อคดีการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช."

"ความยุติธรรมไม่เคยทำร้ายใคร แต่ความอยุติธรรม ต่างหากที่เป็นตัวสร้างความแตกแยกในสังคม" นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กล่าว