วันศุกร์, สิงหาคม 18, 2560

พล.อ.ประยุทธ์ มโนหรือไม่... จากคำพูด "ประวัติศาสตร์ชาติไทย มีมาเกือบ 1,000 ปี..." นักประวัติศาสตร์ไขความกระจ่าง (วาทกรรม ประดิษฐ์) ชาติไทย ประเทศไทย สยาม อายุเท่าไหร่กันแน่...



อุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย
AFP/GETTY IMAGES

นักประวัติศาสตร์ไขปริศนานายกฯ "ชาติไทยมีมาเกือบ 1,000 ปี"


โดย ธันยพร บัวทอง
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
ที่มา เวป BBC Thai

สุจิตต์ วงษ์เทศ ไขความกระจ่าง ชาติไทย ประเทศไทย สยาม อายุเท่าไหร่กันแน่ และทัศนะจาก พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อ.ประวัติศาสตร์ มธ. 3 ปี คสช. การยกเรื่องประวัติศาสตร์มาพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ สะท้อนอะไร

"ประวัติศาสตร์ชาติไทยมีมาเกือบ 1,000 ปีมีพระมหากษัตริย์มาตลอด ฉะนั้นหน้าที่ของพวกเรา สิ่งแรกจะต้องเชิดชูสถาบันด้วยความจงรักภักดีปกป้องรักษาพระบรมเดชานุภาพให้ได้ เราต้องหนักแน่น วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงเยอะ"

ข้อความตอนหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวกับคณะรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด และข้าราชการกว่า 1,200 คน ในวันที่ 16 สิงหาคม 2560 ระหว่างเป็นประธานการประชุมสัมมนาการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 กล่าวถึงยุทธศาสตร์ความมั่นคงที่สำคัญที่สุด คือสถาบันพระมหากษัตริย์

อายุเกือบพันปีของชาติไทยตามความเข้าใจของนายกรัฐมนตรีนายทหาร นับจากหมุดเวลาไหน เป็นจำนวนวงปีที่ขัดกับความรู้ทางประวัติศาสตร์ของคนไทยที่ถูกบรรจุข้อมูลจากแบบเรียนเสมอมาว่าชาติไทยมีอายุราว 700-800 ปี นับแต่ยุคที่มีสุโขทัยเป็นราชธานี



AFP/GETTY IMAGES
วัดมหาธาตุ จ.พระนครศรีอยุธยา


"ประวัติศาสตร์ชาติไทยมีมาเกือบ 1,000 ปี ไม่รู้มายังไง? มาจากไหน? อาจมาจากต่างดาว เพราะชอบอวดว่าไม่เหมือนใครในโลก" คำตอบที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่ไขความกระจ่างข้อสงสัยนี้กับบีบีซีไทย

กระนั้นนักคิด นักประวัติศาสตร์ นักเขียนรางวัลศรีบูรพาผู้นี้ อธิบายบริบทที่แตกต่างความหมายของคำว่า ประเทศไทย ชาติไทย สยาม ราชอาณาจักร ไว้ดังนี้

"ประเทศไทย มีพื้นที่อยู่บริเวณที่เรียกสยาม ของดินแดนสุวรรณภูมิ"

"สยาม เป็นชื่อดินแดน มีความเป็นมาไม่น้อยกว่า 3,000 ปี มาแล้ว"

"ราชอาณาจักรสยาม เป็นชื่อที่ชาวยุโรปเรียก กรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ.2000 (หรือก่อนหน้านั้น) แต่ชาวอยุธยายุคนั้นเรียก เมืองไทย"

"สุโขทัย ไม่ใช่ราชธานีแห่งแรกของไทย ไม่เคยพบหลักฐานว่าสุโขทัยชื่อ สยาม"

"ประเทศไทยได้ใช้ชื่อนี้ครั้งแรก พ.ศ.2482 (ค.ศ.1939) ราว 78 ปี มาแล้ว โดยเปลี่ยนจากชื่อ สยาม"

"ชาติไทย เป็นรัฐชาติสมัยใหม่แบบตะวันตก ดังนั้น ประวัติศาสตร์ชาติไทยน่าจะมีหลังรับอุดทคติรัฐชาติจากยุโรป ราวเรือน พ.ศ.2400 หรือ ยุค ร.4 ยังไม่ถึง 200 ปี"


FACEBOOK/เมด อิน อุษาคเนย์
สุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม


นำมาสู่บทจบที่ตอบเรื่องความยาวนานของประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยกมากล่อมเกลาบรรดา ครม.และข้าราชการมหาดไทยว่า อายุเกือบพันปีที่ว่าอาจมาจากดาวต่างดวง

แล้ว 1,000 ปี ของนายกฯ มาจากไหน นักวิชาการประวัติศาสตร์จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ กล่าวว่า คาดเดาความเป็นไปได้ข้อแรก ทำให้นึกถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ครั้งเมื่อทรงเปิดโบราณคดีสโมสรเมื่อราว พ.ศ.2440 ซึ่งสโมสรนี้มีเป้าหมายของการก่อตั้งเพื่อศึกษาค้นคว้าด้านโบราณคดีและประวัติสยาม พระราชดำรัสครั้งนั้น

"รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำรัสว่า ช่วงเวลาประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีที่สโมสรนี้ควรจะศึกษา คือ อยู่ในช่วง 1,000 ปี" ผศ.พิพัฒน์ ชี้ว่าช่วงเวลานั้นปรากฏหลักฐานการเรียกชื่อชาวสยามในจารึกที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ในอาณาจักรจามปาซึ่งอยู่ทางใต้ของประเทศเวียดนามปัจจุบัน พบว่าชาวสยามถูกจับเป็นเชลย ดังปรากฏอยู่ในจารึกโปนาการ์ (โพนคร) เมื่อ พ.ศ.1593 ต่อมาพบที่ชื่อกองทัพชาวสยามในจารึกปราสาทนครวัด ซึ่งคงสร้างราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 17 หลักฐานทั้งสองชิ้นก็อาจพอจะนับรวมๆ อายุก็อาจจะราวๆ 900 ปี


พิพัฒน์ กระแจะจันทร์
ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ อ.ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


อย่างไรก็ตาม การมองจุดกำเนิดของคำที่ถูกเรียกว่า ชาติไทย ประเทศไทย มีทั้งเกณฑ์การปรากฏตัวขึ้นในฐานะเป็นอาณาจักร การเกิดขึ้นของรัฐ หรือความเป็นประชากร แต่ถ้านับเป็นอาณาจักร สิ่งที่นิยามว่าเป็นอาณาจักรของชาติไทย วาทกรรมของชาติจะอธิบายว่าเริ่มต้นในสมัยสุโขทัย

"ความจริงทางประวัติศาสตร์ 1,000 ปี ที่ว่า มีที่มาที่ไปอย่างไร ผมไม่แน่ใจว่า นายกฯ คิดอะไร หรือไปอ่านข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์อะไรมา หรือแค่เป็นตัวเลขกลมๆ พูดสะดวกปากเท่านั้น แต่โดยทั่วไป ประวัติศาสตร์ไทยเริ่มต้นในสมัยสุโขทัย ซึ่งเพดานอายุของประวัติศาสตร์จะอยู่ประมาณ พ.ศ.1800 ถ้านับถึงปัจจบุันจะมีอายุ 800 ปี ไม่ถึง 1,000 ปี ที่นายกฯ กล่าว" ผศ.พิพัฒน์ อธิบาย

ทั้งนี้ ผศ.พิพัฒน์ ชี้ว่าทั้งหมดเป็นการคาดเดาว่า ทำไมต้อง 1,000 ปี ซึ่งอาจจะผิดก็ได้ และจริงๆ แล้ว ประวัติศาสตร์ของไทยนั้นเก่ากว่าเรื่องของคนไทยมากนัก



AFP/GETTY IMAGES

เมื่อพิจารณาถึงประวัติศาสตร์ในฐานะการสื่อสารทางการเมืองถูกใช้งานอย่างไรในยุคที่ทหารปกครองบ้านเมือง ผศ.พิพัฒน์ ชวนให้ย้อนมองตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 วิธีการที่เรียกว่า "การเมืองของการเอาอดีตมาใช้" ถูกนำมาใช้อย่างมาก อาทิ หนังสือประวัติศาสตร์ชาติไทย ฉบับกรมศิลปากร ด้านหนึ่งถูกใช้ในเชิงการเมืองเพื่อสร้างความสามัคคี อีกด้านคือ กระบวนการในการสร้างความชอบธรรมในสิ่งที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานของสังคม และรวมทั้งการยกเรื่องประวัติศาสตร์มาพูดกับประชาชนบ่อยครั้งของนายกฯ ด้วย

"ทำไมนายกฯ พูดอะไรก็แล้วแต่ ถึงให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ อันนี้ผมคิดว่ามันเป็น สำนึกพื้นฐานของการกระทำเพื่ออ้างสิ่งที่เรียกกันว่าความชอบธรรมในเชิงการเมือง สังคม เพื่อให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว คนจึงต้องดำเนินสิ่งนั้นสืบต่อไป" ผศ.พิพัฒน์ กล่าวกับบีบีซีไทย