วันศุกร์, ธันวาคม 04, 2558

‘สถาบันกษัตริย์ไทยกับทรัพย์ศฤงคาร’ :ถอดถ้อยบทความนิวยอร์คไทมส์ที่ถูกลบไป

ภาพประกอบจากข่าวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยของ นสพ.นิวยอร์คไทมส์เมื่อเดือนกันยายน
จากข่าว ‘The Monarchy and Its Money’ เขียนโดย ทอม เฟลิกซ์ โจ๊นค์ เมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๘


“สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งบริหารธุรกรรมในสินทรัพย์และการลงทุนของราชวงศ์ จากการควบคุมทรัพย์สมบัติปริมาณอาจถึง ๑.๙ ล้านล้านบาท หรือราว ๕๓ พันล้านดอลลาร์ เป็นกลุ่มบรรษัทใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ที่สุดในนครหลวง แล้วยังเป็นแขนขาอันลี้ลับน่าพิศวงที่สุดของรัฐบาลไทย

องค์กรนี้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๔๗๙ และอยู่ในการบริหารงานของเอกชนจนถึงปี ๒๔๙๑ อันเป็นช่วงที่กลุ่มเชิดชูกษัตริย์ทรงอิทธิพลสูง เมื่อการกำกับควบคุมถูกโอนไปให้สำนักพระราชวัง เป็นที่รับรู้กันน้อยมากว่าสำนักฯ มีการจับจ่ายอย่างไรบ้าง ไม่มีการเปิดเผยบัญชีการเงินต่อสาธารณะ กรรมการหกคนในเจ็ดผู้จัดการได้รับการแต่งตั้งโดยตรงจากพระมหากษัตริย์ แม้ว่ารัฐมนตรีว่าการคลังจะนั่งเป็นประธานคณะกรรมการ รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานได้

รายได้รายปีของสำนักงานทรัพย์สินฯ ปัจจุบันตกราวๆ เกือบ ๘๔๐ ล้านดอลลาร์ (ประเมินจากพอร์ตโฟลิโอกิจการที่สำนักฯ บริหารจัดการตามแนวการลงทุนที่สุขุมที่สุด คือจัดสัดส่วนหนึ่งในสามไว้เป็นทรัพย์สินที่มีการเสี่ยงน้อย เช่นเงินสด เงินฝากธนาคาร พันธบัตร และหลักทรัพย์ของรัฐบาล) สำนักฯ ถือหุ้นมากกว่า ๒๑ เปอร์เซ็นต์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินเก่าแก่และมีอิทธิพลที่สุดในประเทศไทย สำนักฯ เป็นเจ้าของ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ในกิจการของกลุ่มสยามซีเมนต์ ที่เป็นบรรษัทอุตสาหกรรมใหญ่สุดของประเทศ เงินทุนส่วนเกินของสำนักฯ ยังเข้าไปดำเนินการกิจการเครือโรงแรมเค็มปินสกี้ กับมีหุ้นส่วนย่อยในสาขาโรงงานผลิตรถยนต์ฮอนด้าในประเทศไทยด้วย เช่นเดียวกับการมีส่วนในกิจการช้อปปิ้งมอล โรงแรม ธุรกิจประกันภัย และเครือข่ายแฟ้สฟู้ด มากมายหลายแห่ง
ช่องว่างขาวบทความบนหน้า นสพ.นิวยอร์คไทมส์ที่ถูกลบ

โดยที่ตามกฎหมายนั้นรายรับประจำปีของสำนักงานทรัพย์สินฯ จะใช้ได้เฉพาะตามพระราชประสงค์ และผลตอบแทนจากการลงทุนไม่ต้องเสียภาษี

พูดได้อีกอย่างหนึ่งว่าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันคร่ำครึที่มีอภิสิทธิ์ฝังลึก ดำเนินงานอย่างปกปิดเป็นส่วนใหญ่ โดยรัฐบาลไม่สามารถเข้าไปสอดส่องได้

การดำเนินงานเช่นนี้ไม่สอดคล้องกับสังคมยุคใหม่ องค์กรนี้จำต้องมีการปฏิรูปเพื่อประโยชน์ของประเทศและของสถาบันกษัตริย์เอง จากการที่ประเทศไทยง่อยเปลี้ยเสียขาด้วยการฟาดฟันทางการเมืองระหว่างข้างเสรีนิยมกับค่ายปฏิกิริยา การปรับสำนักงานทรัพย์สินฯ ให้ทันสมัยจะทำให้ราชสำนักโดดเด่นประดุจดังตัวแทนของความก้าวหน้า

เกียรติยศขององค์กรกับอำนาจอิทธิพลในวงการตลาดทำให้เป็นผู้ประสานที่หาตัวจับยากต่อโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯและหมู่ชนชั้นสูงดั้งเดิม อาทิกลุ่มทหาร ธุรกิจยักษ์ใหญ่ และพวกที่เชิดชูเจ้า สำนักฯ เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ถึง ๕ ตารางไมล์ในบริเวณสุดสวยของใจกลางนครหลวง แต่ก็ให้เช่า ๙๓ เปอร์เซ็นต์ของที่ดินเหล่านี้ในอัตราต่ำกว่าตลาด แสดงถึงการให้ความกรุณาต่อผู้เช่าเหล่านั้นเป็นพิเศษ ตัวอย่างเช่นรัฐบาลสหรัฐ กล่าวกันว่าจ่ายค่าเช่าที่ต่อเดือนเพียงเท่าราคาตั๋วชมละครบรอดเวย์ใบเดียวสำหรับสถานที่ตั้งในใจกลางกรุงเทพฯ

วิธีการอย่างนี้ต้องเปลี่ยนเสียทีแล้ว เริ่มแรกทีเดียวสำนักงานทรัพย์สินฯ ควรที่จะจัดพิมพ์รายงานละเอียดเกี่ยวกับการลงทุน การครอบครองที่ดิน และทรัพย์ศฤงคารอื่นๆ พร้อมไปกับรายรับที่ได้มาจากทรัพย์สินเหล่านี้ รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยรายได้เหล่านั้นกับมูลค่าต้นทุนการดำเนินการ องค์กรนี้ควรที่จะอยุ่ภายใต้การกำกับควบคุมของคณะเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้แต่งตั้ง

อันเป็นแบบเดียวกับในบริเตน นอร์เวย์ เดอะเนเธอร์แลนด์และสถาบันกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญทั้งหลาย ซึ่งสำนักงานฯ ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายปีให้โดยการอนุมัติของรัฐสภา รัฐบาลร่วมกันกับราชสำนักเป็นผู้ตัดสินว่าอัตราการสนับสนุนต่อสำนักฯ ควรเป็นเท่าไร และควรเป็นผู้ตัดสินในการแจกจ่ายผลตอบแทนของสำนักงานฯ แก่ผู้เกี่ยวข้องด้วย

รายงานจากสำนักข่าวเอบีซีในสหรัฐว่าผู้พิมพ์ในประเทศไทยลบบทความออกเป็นครั้งที่สาม
รายรับของสำนักงานฯ ควรที่จะแบ่งไปลงทุนส่วนหนึ่ง และส่งคืนแก่คลังอีกส่วนหนึ่ง ไม่ควรที่จะให้ราชวงศ์ใช้แต่ผู้เดียวเลยแม้แต่นิด เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายของประเทศไทย รายรับของสำนักงานทรัพย์สินฯ ควรต้องเสียภาษี

เป้าหมายของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในทุกวันนี้ที่ว่ามุ่งมั่นในการลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศไทย นี่ก็ควรจะยกเลิกได้แล้ว จุดมุ่งหมายในการลงทุนควรจะโอนไปให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนด

สำนักฯ น่าที่จะเปลี่ยนมาเป็นเพ่งเล็งในการได้รับผลตอบแทนสูงเท่าที่รับได้ในความเสี่ยง หมายถึงทำการกระจายทรัพย์สินให้หลากหลาย แทนที่จะประสานการลงทุนเพียงเพื่อโอกาสงามๆ สำหรับชนชั้นปั่นเงินเท่านั้น หุ้นส่วนของสำนักงานฯ ที่ทุ่มถมอยู่บานเบอะตามกิจการธนาคารและอุตสาหกรรมควรที่จะค่อยๆ ลดระดับลงไปเหลือสักแค่ ๕ เปอร์เซ็นต์

การยกเอาความลี้ลับที่ปกคลุมการดำเนินงานของสำนักงานทรัพย์สินฯ ออกไปเสียก่อนแล้วโอนไปอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล จะเป็นสัญญานว่าสถาบันกษัตริย์ไทยจริงใจกับการแสดงความโปร่งใส การปฏิรูปเช่นนี้จะเป็นเหมือนดั่งแจ้งให้กองทัพ นักการเมืองและนักธุรกิจรับปฏิบัติหลักการรับผิดชอบในการกระทำของตน มันจะแผ้วทางไปสู่ระบบเศรษฐกิจเปิด อันแบบแผนเดียวที่สอดคล้องอย่างจริงจังกับประชาธิปไตย