วันอาทิตย์, มิถุนายน 15, 2557

ปลัด กต. แจง ข้าหลวงใหญ่ฯ ยัน สิทธิมนุษยชนไทยมีพัฒนาการดีขึ้น


ที่มา ไทยรัฐออนไลน์

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แจง ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนยูเอ็น ปมควบคุมตัว ยันไม่มีการละเมิดสิทธิฯ โดยประชาธิปไตยไทย มีพัฒนาดีขึ้นเป็นลำดับ คาดยูเอ็นจะส่งหนังสือรับรู้ ถึงหัวหน้า คสช.

วันที่ 14 มิ.ย. ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยภายหลังเข้าพบหารือกับ นางนาวาเนเธ็ม พิลเล ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในค่ำของวันที่ 13 มิ.ย. 57 ที่นครเจนีวา ว่า ได้ชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังวลของทางสหประชาชาติ เกี่ยวกับการควบคุมตัวบุคคลและเสรีภาพของประชาชน ว่า ได้พัฒนาไปในทางทีดีขึ้น โดยได้แจ้งกับข้าหลวงใหญ่ว่า ผู้ที่ถูกควบคุมตัวส่วนใหญ่ไม่ได้มีใครถูกควบคุมนานเกิน 7 วัน และปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่จะได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว อีกทั้งการควบคุมตัวก็ไม่ได้เป็นไปในลักษณะของการคุมขังอย่างที่เข้าใจกัน โดยทั่วไป แต่เป็นการเชิญตัวมาพบ เพื่อพูดคุยขอให้ทุกฝ่ายได้สงบลง

ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยอีกว่า ได้ชี้แจงกับ นางพิลเล่ ถึงสถานการณ์ล่าสุด ที่ได้มีการยกเลิกเคอร์ฟิวไปแล้ว ทำให้เสรีภาพของประชาชนได้รับการปรับปรุงมากขึ้น ส่วนเสรีภาพด้านอื่นๆ เช่น ของสื่อมวลชนนั้น ปรากฏชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้วว่า สื่อมวลชนไม่ได้ถูกจำกัดเสรีภาพมากนัก และภายหลังจากที่ได้มีการอนุญาตให้เปิดสถานีโทรทัศน์จำนวนหนึ่งแล้ว เสรีภาพสื่อมวลชนโดยทั่วไปก็ดีขึ้น สามารถรายงานข่าวได้อย่างเสรี โดยเฉพาะสื่อมวลชนต่างประเทศนั้น สามารถเดินทางทำข่าวได้ทั่วราชอาณาจักร โดยไม่มีข้อจำกัด

นอกจากนี้ ยังได้ขอให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ติดตามพัฒนาการของสถานการณ์และการดำเนินงานของฝ่ายไทย จะทำให้ได้เห็นพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

นายสีหศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากที่ตนได้เข้าพบ ชี้แจงทำความเข้าใจในครั้งนี้แล้ว คาดว่า ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนจะได้มีหนังสือ ไปยังประธาน คสช.อีกครั้งหนึ่ง เพื่อแสดงถึงความรับรู้ต่อพัฒนาการของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย โดยการเข้าชี้แจงครั้งนี้ เป็นไปโดยความเข้าใจอันดีระหว่างกัน โดยข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติ ยินดีรับฟังข้อมูลจากฝ่ายไทย และการแสดงความกังวลนั้น ก็อยู่ในขอบเขตในเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชนเท่านั้น 

ก่อนหน้านี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้มีหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งขาติ (คสช.) แสดงความกังวลต่อสถานการณ์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และได้มีแถลงการณ์แสดงความกังวล เกี่ยวกับการคุมขังบุคคล ทั้งนักการเมือง นักวิชาการ และนักกิจกรรมต่างๆ จำนวนถึง 440 คน อีกทั้งยังเรียกร้องให้ทางการไทย เร่งยกเลิกมาตรการใดๆ ที่เป็นการละเมิด หรือจำกัดสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน.

Navi Pillay
เรื่องเกี่ยวข้อง...

ยูเอ็นออกแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย

เมื่อ 13 มิ.ย. ที่นครเจนีวา สวิสเซอร์แลนด์ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชนอิสระของสหประชาชาติออกแถลงการณ์เรื่องสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในไทยความว่าเสถียรภาพและความปรองดองจะไม่เกิดขึ้นได้ในประเทศไทยถ้าหากสิทธิขั้นพื้นฐานไม่ได้รับการรับรอง พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกมาตรการใดๆที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและเร่งฟื้นฟูประชาธิปไตย

"ในท่ามกลางวิกฤตทางการเมือง เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องส่งเสริมหลักการนิติรัฐ" ผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิทธิมนุษยชนกล่าว
แถลงการณ์ระบุว่ามีการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานหลายอย่างในประเทศไทยนับแต่ทหารยึดอำนาจ รัฐธรรมนูญถูกยกเลิก มีบุคคลจำนวนมากถูกคุมขัง และมีการจัดกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม

สิ่งที่เป็นข้อห่วงกังวลอย่างมากคือ ทางการทหารไทยได้เรียกบุคคล 440 คนรวมทั้งผู้นำทางการเมือง นักวิชาการ สือมวลชนและนักเคลื่อนไหวไปรายงานตัวในค่ายทหาร หลายคนยังถูกควบคุมตัวโดยไม่มีโอกาสได้พบกับครอบครัวและทนายความ หลายคนถูกคุมขังในที่ซึ่งไม่เปิดเผย ติดต่อไม่ได้ ซึ่งอาจจะเสี่ยงต่อการซ้อม ทรมาน หรือได้รับการปฎิบัติไม่ดี
มาตรการหลายอย่างของทางการไทยกระทบต่อการวิพาษ์วิจารณ์และเสรีภาพสื่อมวลชน รวมทั้งการสั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และมีการสั่งปิดสถานีวิทยุจำนวนมาก การฟื้นฟูพื้นที่ให้สาธารณะมีการสานเสวนาเป็นสิ่งสำคัญที่จะก่อให้เกิดแนวทางในการผ่าทางตันทางการเมืองออกไปได้

ทั้งนี้คณะผู้เชี่ยวชาญได้ร้องขอข้อมูลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาเรื่องสิทธมนุษยชนหลายอย่างจากทางการไทยหลังจากการประกาศกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 แต่ก็สรุปในตอนท้ายของแถลงการณ์ว่าพร้อมที่จะติดต่อและพูดคุยกับทางการไทยต่อไป 
ooo

คสช.โต้กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนอิสระ ยูเอ็น ไม่รู้ข้อเท็จจริงของไทย


เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า   พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. กล่าวถึงกรณีข้อกังวลของกลุ่มนักวิชาการอิสระของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่า ข้อห่วงใยดังกล่าวเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นเฉพาะของกลุ่มบุคคล ซึ่งยังไม่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอย่างครบถ้วนในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้การสนับสนุนของประชาชนต่อการเข้ามาแก้ปัญหาเร่งด่วนของประเทศซึ่งยืดเยื้อมานานหลายปี จึงขอเรียนว่า สถานการณ์ในประเทศไทย เนื่องจากประเทศอยู่ในช่วงภาวะที่ไม่ปกติตามที่หลายฝ่ายทราบดี มาตรการบางอย่าง ใช้เพื่อดูแลคุ้มครองสิทธิมนุษยชนให้กับคนส่วนใหญ่มากกว่า ไม่ใช่การละเมิดอย่างที่กังวล เพราะ คสช.คำนึงถึงและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยเพียงพอต่อการใช้ชีวิตในสังคมชุมชนเมืองปัจจุบัน จะหนึ่งคนหรือหนึ่งชีวิตก็ไม่เป็นการสมควรที่จะยอมให้มีผู้หนึ่งผู้ใดไปละเมิดกัน ยืนยันที่ผ่านมาพยายามใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อให้พียงพอต่อการดูแลคุ้มครองให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และก็ใช้ด้วยความระมัดระวังมาตลอด ซึ่งผลการปฏิบัติสะท้อนเชิงบวกสามารถเห็นได้ชัดอย่างเป็นรูปธรรม
                 
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า สำหรับมาตรการต่อสื่อมวลชนนั้น ต้องแยกเป็นกรณีๆ ไป เพราะที่ผ่านมาการนำเสนอสื่อมีผลต่อความขัดแย้งนำไปสู่ความไม่สงบที่เกิดขึ้น กรณีที่ 1. กลุ่มสื่อที่มีการจัดตั้งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้มีส่วนโดยตรงกับสถานการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา สามารถประกอบการนำเสนอได้ตามปกติ ไม่ได้มีมาตรการใดไปลิดรอน เพียงแต่ขอความร่วมมือให้ระมัดระวังการจะนำเสนออะไร กรณีที่ 2. กลุ่มสื่อที่มีการจัดตั้งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดก็จริง แต่ได้มีส่วนโดยตรงกับสถานการณ์ความไม่สงบที่ผ่านมา ด้วยการนำเสนอในลักษณะปลุกระดมปลุกปั่น บิดเบือน ใส่ร้ายป้ายสี ละเมิดสิทธิ์กันไปมา จำเป็นต้องมีการปรับความเข้าใจหรือแนวทางการนำเสนอใหม่ให้เหมาะกับสถานการณ์ กรณีที่ 3. คือสื่อที่ไม่ได้จัดตั้งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา จะสามารถดำเนินการได้ แต่ต้องเข้าตามเงื่อนไขของหน่วยงานที่กำกับดูแลคือ กสทช. ในการให้รายละเอียดที่ชัดเจนต่อรูปแบบและลักษณะของการดำเนินกิจการ พร้อมทำข้อตกลงกันไว้ให้ชัดเจน เพื่อให้การกำกับดูแลสื่อนั้นๆ เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
                
พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของการเชิญตัวให้มารายงานตัวหรือขอเชิญให้อยู่ในพื้นที่พิเศษ เพราะแต่ละคนมีส่วนในเรื่องของความไม่สงบในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม โดยในทางปฏิบัติไม่ใช่ปฏิบัติต่อกันในฐานะผู้ทำความผิด เป็นการเชิญพูดคุยทำความเข้าใจในฐานะฉันมิตร มีหารือขอความร่วมมือหาแนวทางสร้างความสงบให้กับประเทศร่วมกัน และในขั้นนี้ไม่ได้ปฏิบัติในฐานะผู้ถูกกล่าวหา จึงยังไม่จำเป็นต้องมีทนายซึ่งเป็นเรื่องปกติ ยืนยันว่าไม่มีการซ้อมทรมานตามที่องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้แสดงความกังวล คงเป็นมุมมองในทัศนคติเดิมๆ คสช.ได้เคยนำเสนอภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแกนนำหลายๆท่าน ในขณะที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่พิเศษว่ามีความเป็นอยู่อย่างไร ภาพที่เห็น สามารถตอบข้อกังวลของสังคมได้เป็นอย่างดี

"สำหรับกรณีที่ คสช.ไม่เปิดเผยสถานที่ในการควบคุมได้นั้น เพียงต้องการให้เกิดความสงบ ไม่มีอะไรไปรบกวนหลบพ้นจากความวุ่นวายต่างๆ เพื่อมาตั้งสติใช้สมาธิสงบสติอารมณ์กัน ซึ่งก็ไม่ได้ใช้เวลานานมากมาย เพียงเพื่อให้เหมาะสมเพียงพอต่อการทำความเข้าใจกัน บางท่านมาแล้วกลับเลย บางท่าน 1 วัน บางท่าน 3 วัน มากที่สุดไม่เกิน 7 วัน ส่วนบางบุคคลที่อาจมีฐานความผิดทางกฎหมาย ทางเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการไปตามขั้นตอนของกระบวนการ โดยถ้ามีการตั้งข้อกล่าวหา ก็มีสิทธิ์ตั้งทนายแก้ต่างได้ปกติ เหมือนกรณีทั่วไป ถึงแม้ว่าบางคดีอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลทหารก็ตาม" พ.อ.วินธัย กล่าว