วันอังคาร, มิถุนายน 24, 2557

1984 : ศักราชมืดแห่งความเป็นมนุษย์

จาก Status ของ  คุณ Bentojakoze Kamatora

1984 : ศักราชมืดแห่งความเป็นมนุษย์
ถ้า “1984” ในหนังสือเล่มนี้ หมายถึง ยุคสมัย ก็คงเปรียบได้ว่า เป็นศักราชที่มืดที่สุดของสังคมมนุษยชาติ แต่ถ้าเปรียบถึง สิทธิมนุษยชน การบอกว่า 1984 คือ “กลียุคแห่งมนุษยธรรม” คงไม่เป็นการกล่าวหาผิดจากมูลความจริงนัก! เพราะ “1984” ถือเป็นคัมภีร์ดำเล่มที่กำหนดสังคมและปัจเจกภาพด้านลบที่สุดที่รัฐใดๆในโลกต่างปฏิเสธว่ามีอยู่จริงในสังคมของตนเอง เพราะผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ที่สุด หรือ บิ๊กบราเธอร์ ใช้สื่อเป็นอำนาจควบคุมมวลชนโอชันเนียอย่างเบ็ดเสร็จ โดยจับตามองความเคลื่อนไหวของประชาชนทุกคนทุกฝีก้าว ทุกวินาที ทุกลมหายใจ ทุกเสียงกระซิบ ผ่านจอโทรภาพที่ติดอยู่ทั่วทุกหนแห่งในโอชันเนีย และพยายามล้างระบบความคิดประชาชนทั้งหมดให้ “สวามิภักดิ์” สมยอมต่อบิ๊กบราเธอร์ ด้วยการรื้อประวัติศาสตร์มาบัญญัติขึ้นใหม่โดยอิงพื้นฐาน “ผู้ใดควบคุมปัจจุบันได้ ก็จะควบคุมอนาคตได้” และระบอบการปกครอง “อิงซ็อค” ยังประกาศหลัก “ผู้ใดควบคุมอดีตได้ ก็จะควบคุมปัจจุบันและอนาคตได้” โดยเข้าไปจัดการข่าวสารข้อมูลทุกรูปแบบ แม้กระทั่งตามเก็บทำลายข่าวในอดีตและจัดทำย้อนหลังขึ้นมาใหม่ เพื่อบังคับให้ประชาชนใต้ปกครองเข้าใจว่าสิ่งนั้นเคยเกิดขึ้นจริง
โดย “1984” เป็นวรรณกรรมล้ำสมัยที่เสียดสีล้อเลียนระบอบการปกครองเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) และท้าทายอำนาจทุนนิยมสมัยใหม่ที่อำนาจเทคโนโลยีถูกนำไปใช้ควบคุมมวลชนได้อย่างเบ็ดเสร็จ ซึ่งสะท้อนสิทธิสภาพความเป็นมนุษย์ของประชาชนผ่าน “บิ๊กบราเธอร์” ผู้ซึ่งถือครองอำนาจสูงสุดที่ไม่ปรากฏตัวตน แต่อยู่ในสภาวะที่แตะต้องไม่ได้ และประชาชนไม่มีเหตุให้ตั้งคำถามถึงผู้มีอำนาจสูงสุดด้วย เท่ากับว่าประชาชน คือ มนุษย์ประดิษฐ์ (Artificial Human) ที่ปราศจากความรู้สึกนึกคิดส่วนบุคคลและสิทธิเสรีภาพอย่างชอบธรรมในสังคม
จึงกล่าวได้ว่า “1984” คือ ศักราชมืดแห่งความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์ถูกกดทับสิทธิขั้นพื้นฐานทุกประการโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นความคิดอ่าน การรับรู้ การแสดงความคิดเห็น การตั้งคำถาม การรับสื่อ หรือแม้กระทั่งการร่วมกิจกรรมทางเพศ ก็ถือเป็นสิ่งต้องห้ามของรัฐด้วย
นอกจากนี้ รัฐในมโนทัศน์ของ George Orwell ยังเน้นพูดถึงมิติทาง “ภาษาศาสตร์ ” อันเป็นเครื่องมือในการควบคุมระบบความคิดของประชาชน โดยกำหนดเฉพาะคำศัพท์จำเป็นที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้มีอำนาจสูงสุด และลดคำศัพท์ที่เกี่ยวกับความเป็นขบถต่อสังคม ผ่านภาษา Newspeak หรือการสร้างภาษาทางอำนาจขึ้นมาใหม่ และ Double Think คือ ภาษาที่ต้องคิดสองชั้นจึงจะเข้าใจความหมายที่รัฐต้องการจะสื่อสาร
ดังนั้น โอชันเนีย จึงมีลักษณะของรัฐที่เป็น Negative Social Construction โดยรัฐเป็นผู้กำหนดสร้างภาพในด้านตรงข้ามกับสังคมยูโทเปียขึ้นมา เป็นสังคมที่ “เวลา” ไม่มีคำนิยาม ความเป็นปัจเจกบุคคลไม่มีตัวตนและความหมาย เป็นสังคมระบบรวมศูนย์ที่ปกครองโดยผู้มีอำนาจที่มองไม่เห็น ประกอบสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ได้เสมอเพื่อธำรงรักษา Status Quo เอาไว้ ซึ่งอำนาจรวมศูนย์ใน “1984” นี่เองที่เป็นบ่อนทำลายปัจเจกภาพของมนุษย์ไปจนหมดสิ้น เพราะรัฐควบคุมไม่ให้คนมีพื้นที่ส่วนบุคคล แม้แต่การเขียนบันทึกก็กระทำไม่ได้ โดยภาพสังคมแบบ Collective นี่เองที่เป็นต้นตอของระบอบเผด็จการ ซึ่งปรากฏเป็นอัตลักษณ์ของโอชันเนียตามทัศนะของ George Orwell ที่ดูเหมือนไม่น่าจะเป็นรัฐที่มีอยู่จริง แต่หลายประเทศของโลกในยุค 2000s ปรากฏรูปแบบการปกครองดังกล่าว ไม่เว้นแต่ ”ประเทศไทย”
สังคมไทยกับการสมยอมต่ออำนาจ