วันเสาร์, มิถุนายน 28, 2557

ขอแนะนำ กนส., ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)...ผู้ช่วยเหลือคดี–บันทึกประวัติศาสตร์ ‘ความทุกข์’ ยุครัฐประหาร

ผู้ช่วยเหลือคดี–บันทึกประวัติศาสตร์ ‘ความทุกข์’ ยุครัฐประหาร

Thu, 2014-06-26 20:59

โดยทีมข่าวการเมือง 
ที่มา ประชาไท

“เราก็พยายามปกป้องตัวเอง เคยมีหนังสือถึง คสช.ว่าการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนไม่ถือเป็นการสนับสนุน หรือช่วยคนผิดกระทำความผิด คุณจะมองว่าเราสนับสนุนไม่ได้ เราเพียงใช้สิทธิ ใช้วิชาชีพ ใช้ความเป็นมนุษย์ในการช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ประชาชน” วิญญัติ ชาติมนตรี หนึ่งในกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน (กนส.) กล่าว

ในห้วงเวลาแห่งความยากลำบากสำหรับผู้ต่อต้านรัฐประหาร หรือแม้แต่เพียงผู้ที่เคยเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย ซึ่งต้องเผชิญกับการคุกคามเสรีภาพหลากรูปแบบ ทั้งการจับกุม คุมขัง กักตัว แจ้งข้อกล่าวหา ข่มขู่ บุกตรวจค้น ยึดสิ่งของ ฯลฯ ดูเหมือนจะมีหน่วยงานรูปธรรมเฉพาะกิจที่เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นและดำเนินการอย่างแข็งขันตลอด 1 เดือนเศษที่ผ่านมาอยู่ 3 หน่วยหลัก (หากไม่นับรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

นั่นคือ กนส. , ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

สองกลุ่มแรกเป็นกลุ่มทนายความที่ให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิ การต่อสู้คดี การประกันตัวแก่ผู้ถูกกล่าวหา ขณะที่ไอลอว์เป็นหน่วยงานที่ทำงาน “ฐานข้อมูล” รูปแบบการละเมิดสิทธิเสรีภาพ

กนส. กับหลากคดีความมั่นคง

กล่าวสำหรับกลุ่ม กนส. เป็นการรวมกลุ่มทนายความรวม 22 ชีวิตที่เข้าให้การช่วยเหลือทางคดีกับผู้ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีทั้งในศาลยุติธรรมปกติและศาลทหาร นำโดย วิญญัติ ชาติมนตรี ซึ่งเคยร่วมกับทีมทนายให้ความช่วยเหลือทางคดีแก่ประชาชนในปี 2553 หลังการสลายการชุมนุมมากกว่า 200 คดี จึงไม่แปลกที่เมื่อนักข่าวเห็นหน้าเขาในช่วงนี้แล้วจะพาดหัวข่าวว่า ทนาย นปช. แต่ครั้งนี้เป็นการรวมกันเฉพาะกิจของเหล่าทนายเองโดยไม่ขึ้นกับองค์กรใด โดยได้ก่อตั้งกันตั้งแต่วันแรกหลังการยึดอำนาจ และเริ่มมีการเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว



เครือข่ายของ กนส.แบ่งประเภทความผิดที่เกิดขึ้นแล้วและกำลังเกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งที่ไปสู่การต่อสู้ในศาลยุติธรรมและศาลทหาร ดังนี้

1.ความผิดตามประกาศของ คสช. ฉบับที่ 37 คดีที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ มาตรา107-112 ,คดีความมั่นคง 113-118, พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ความผิดตามประกาศหรือคำสั่งของ คสช.

2.ความผิดตามประกาศของ คสช.ฉบับที่ 38 คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน ให้อยู่บนอำนาจศาลทหารนั้นหมายความว่าอาจเกิดขึ้นก่อนการยึดอำนาจก็ได้ ตรงนี้ต้องขึ้นศาลทหาร บางคนอาจตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นการกวาดล้าง กลุ่มทางการเมืองหรือไม่

3.ประกาศฉบับที่ 39 ความผิดที่กำหนดเงื่อนไขของการมารายตัว ใครผิดเงื่อนไข มีโทษ 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท

4.ประกาศฉบับที่ 40 ความผิดการกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวของผู้ที่ถูกกักตัว เงื่อนไขเหล่านี้ออกตาม มาตรา 15 ทวิ ของพ.ร.บ.กฎอัยการศึก มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท แม้ว่าตามมาตรา 15 ทวิฯ จะกำหนดให้ฝ่ายทหารมีอำนาจกักตัวได้ไม่เกิน 7 วันและไม่มีบทลงโทษหลังจากนั้นก็ตาม

5.ประกาศฉบับที่ 41 กำหนดให้การฝ่าฝืนคำสั่งเรียกมารายงานตัวนั้นเป็นความผิด

6.ประกาศฉบับที่ 49 การสนับสนุนการชุมนุมทางการเมืองเป็นความผิด ซึ่งตรงนี้ตีความได้หลายอย่าง เป็นประกาศที่อันตรายกับประชาชนทั่วไปด้วย

7. ประกาศฉบับที่ 50 ให้ศาลทหารมีอำนาจพิพากษา คดีที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนและกระสุนปืนที่เกี่ยวข้องกับการสงคราม เป็นประเภทสุดท้ายที่ประกาศออกมาในปัจจุบัน

ปัจจุบัน กนส.ติดตามและช่วยเหลือคดีความแก่ประชาชนทั่วไปที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจำพวกขัดคำสั่ง คสช.ในเรื่องต่างๆ ในช่วงเวลานี้ โดยมากจะเป็นเรื่องการประกันตัวในศาลทหาร พวกเขายังช่วยคดีใหญ่อย่าง “ขอนแก่นโมเดล” ที่มีผู้ถูกกล่าวหาและคุมขังแล้ว 24 รายจากข้อกล่าวหามั่วสุม มีอาวุธ และก่อการร้าย ที่ผ่านมามีการยื่นประกันตัวบางคนไปแล้วแต่ศาลยังคงไม่อนุญาต

“มันเป็นงานอาสา เราช่วยในส่วนเรื่องขั้นตอนทางกฎหมายได้ แต่เงินทองในการยื่นประกันก็ยังต้องเป็นของผู้ต้องหาเอง” วิญญัติกล่าว

เขาอธิบายภาพรวมการคุมคามสิทธิเสรีภาพในช่วงหลังรัฐประหารด้วยว่า ตั้งแต่มีการประกาศยึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค.มีบุคคลที่ถูกดำเนินคดีโดยเจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ตามมาตรา 11 เรื่องของการห้ามมั่วสุม ห้ามชุมนุม ห้ามใช้เครื่องมือสื่อสาร เหล่านี้เป็นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจได้ตลอดเวลาซึ่งถือว่าเป็นอันตรายและกระทบต่อสิทธิของประชาชน

นอกจากนี้ยังมีมาตรา 15 ทวิฯ คือแค่การสงสัย เช่น การแสดงออกแบบปิดหน้าปิดตา ชูสามนิ้ว ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลต้องสงสัยว่าจะเป็นอริราชศัตรู ใช้การกักตัวไม่เกิน 7 วันได้ ส่วนมาตรา 8 ทาง กนส.ระบุว่าได้รับข้อมูลจากภาคเหนือบางจังหวัด ภาคอีสาน เช่น ขอนแก่น หนองบัวลำพู อุบล อุดร มหาสารคาม ว่าเมื่อมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะเข้าตรวจค้น ที่จะขับไล่ ที่จะห้าม ที่จะยึดทรัพย์สินฯ มีการยึดเงิน ยึดทรัพย์สินของแกนนำ สถานีวิทยุชุมชนก็มีบางที่ที่โดนทำลายทรัพย์สิน

“นอกจากนี้ยังมีประชาชนทั่วไปถูกจับแล้วถูกตั้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนห้ามชุมนุม อีกข้อหาคือยุยงปลุกปั่น มีกรณีหนึ่งที่ทหารเห็นว่ามีการใช้โทรโข่งจึงแจ้งข้อหานี้ ทั้งที่เขาพยายามควบคุมประชาชนไม่ให้สร้างความวุ่นวายแต่กลายเป็นว่าเป็นการยุยง”

“อีกคนคือ นายสุทธิพงศ์ ปัจจุบันยังไม่มีการตั้งข้อกล่าวหา แต่ทหารได้รับข้อมูลว่าเป็นสาวก บก.ลายจุด เพราะมีการตรวจสอบการใช้ facebook สุทธิพงษ์เพียงแค่ซื้อไก่ย่างให้เพื่อนแล้วถูกจับ เพราะก่อนหน้านั้นเขาถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นผู้ทำลาย ลบหลู่ผู้นำทหารเพราะมีการไปกางแผ่นป้ายไวนิลรูป พลเอก ประยุทธ์ ในที่ชุมนุม เขาเป็นโรคไต อายุ 56 ปี ตอนนี้ต้องขอให้ประกันตัวโดยเร็วที่สุด แต่ไม่รู้ว่าศาลจะปราณีหรือไม่”

“สำหรับผู้ที่ถูกปล่อยตัวไปก่อนหน้านี้ ถ้าโดนอีกครั้งหนึ่งจะไม่มีการกักตัว แต่จะถูกแจ้งข้อหา ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขที่ติดตัวเหมือนเป็นเครื่องจับตาดูอยู่” วิญญัติกล่าว

กลุ่มนี้มีทนายอาวุโสหลายคนที่มีประสบการณ์ขึ้นศาลทหาร และพร้อมต่อสู้คดีให้กับจำเลยในศาลทหาร แม้ว่าเขาจะรู้สึกกังวลอย่างยิ่งกับกระบวนการของศาลทหาร เพราะไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา และหลายคนอาจยังไม่รู้ด้วยว่าการบันทึกการสืบพยานในศาลทหารนั้นใช้ “การเขียน” โดยตุลาการพระธรรมนูญ แทนการบันทึกเสียงแล้วพิมพ์เหมือนศาลพลเรือน นั่นก็เป็นอีกหนึ่งข้อกังวลของ กนส.ว่าการบันทึกจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกดำเนินคดีมากน้อยเพียงใด

“มีประกาศของ คสช. ฉบับที่ 63 เรื่อง นโยบายเกี่ยวกับความยุติธรรมเกี่ยวกับนโยบายของรัฐว่าจะต้องดำเนินการอย่างถูกต้อง รวดเร็วและเป็นธรรมกับประชาชน เพราะฉะนั้นการย้ายจากศาลทหารไปศาลยุติธรรมก็ต้องทำเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ คสช.เอง เรากำลังจะยื่นเรื่องนี้ภายในอาทิตย์หน้า ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งของศาลทหารคือ ผู้ที่เข้าฟังได้คือผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นญาติ หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตจากศาล และทนายหากไม่ได้รับอนุญาตให้พูดก็ไม่สามารถพูดได้”

สำหรับหนังสือเวียนเพื่อทำความเข้าใจของศาลยุติธรรมที่เป็นข่าวตามหน้าสื่อนั้น วิญญัติอธิบายว่า โดยเนื้อความแล้วมีนัยว่าศาลยุติธรรมยินดีที่จะให้ความร่วมมือทุกอย่างอย่างไม่ขัดข้องในการโอนย้ายคดีใดๆไปยังศาลทหาร ศาลยุติธรรมกำลังอำนวยความสะดวกให้กับ คสช.อย่างเต็มที่” วิญญัติกล่าว
เครือข่ายทนายเลือดใหม่กับภารกิจใต้บรรยากาศความกลัว

ท่ามกลางความเงียบและการออกตัวช้าของนักสิทธิมนุษยชน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นอีกหนึ่งหน่วยที่ถือกำเนิดมาอย่างกระทันหัน เป็นการรวมตัวของทีมทนายความรุ่นใหม่ 5-6 คน ประกอบกับทนายอาวุโสหัวก้าวหน้าจำนวนหนึ่ง นำโดย เยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ทนายความผู้มีประสบการณ์ทำคดีละเมิดสิทธิในจังหวัดชายแดนใต้ คดีครอบครัว คดีผู้หญิง มายาวนาน


แรกเริ่มเดิมทีเครือข่ายทนายดังกล่าวก่อตัวอย่างหลวมๆ และช่วยดูแลคดีของนักกิจกรรม นักวิชาการที่ถูกเรียกรายงานตัว ถูกกักตัว หรือประชาชนที่ถูกจับกุมจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกต่อต้านรัฐประหาร รวมไปถึงคดีมาตรา 112 ด้วย นี่เป็นแนวคดีที่พวกเขาเข้าไปช่วยเหลือดูแล ดังเช่นกรณีของอภิชาติ นักศึกษาบัณฑิตอาสา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ก่อนที่สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ที่มีไพโรจน์ พลเพชร จะรับช่วงคดีต่อ), คดีของสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด, คดีของจิตรา คชเดช ผู้นำแรงงาน, คดีนักกิจกรรมที่แจกใบปลิวต่อต้านรัฐประหาร, คดีกินแม็คโดนัลด์ต้านรัฐประหาร, คดีประชาชนที่ร่วมชุมนุมต้านรัฐประหารบริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมในช่วงสัปดาห์แรกของการรัฐประหาร เป็นต้น นอกเหนือจากเรื่องเหล่านี้ คงทำหน้าที่เป็นเพียงที่ปรึกษาด้านกฎหมายหรือส่งต่อให้ทนายกลุ่มอื่นๆ ช่วยเหลือเพิ่มเติม

นอกเหนือจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยังประสานกับองค์กรพัฒนาเอกชนอื่นๆ ที่สนใจเรื่องการละเมิดสิทธิของประชาชน จัดตั้งศูนย์ฮอตไลน์ ‘ศูนย์รวบรวมข้อมูลการละเมิดสิทธิมนุษยชน’ มีอาสาสมัครคอยรับเรื่องร้องเรียนและขอความช่วยเหลือด้านกฎหมายอันเกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์การเมือง

ความร่วมมือที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของกลุ่มนี้ คือ อาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุม มีคนรุ่นใหม่ร่วมด้วยนับสิบราย พวกเขาจะคอยสอดส่องการจับกุมในพื้นที่ประท้วงต่างๆ คอยติดตามว่าคนเหล่านั้นคือใคร ถูกนำตัวไปไหน ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลพื้นฐานและให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่บุคคลได้อย่างรวดเร็วทันเหตุการณ์ พวกเขานับเป็นผู้ปิดทองหลังพระที่สำคัญยิ่ง

เยาวลักษ์ เล่าอีกว่า หลังสถานการณ์การจับกุมผู้คนเริ่มเบาบางลงบ้าง งานต่อเนื่องที่กำลังเริ่มทำกันอยู่คือ การบันทึก “กระบวนการ” ของเจ้าหน้าที่ในการจับกุม ควบคุมตัว กักตัว กระทั่งสอบประวัติประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร เหล่าอาสาสมัครหนุ่มสาวจะได้รับการอบรมก่อนลงสนามพร้อมแบบฟอร์มบันทึกที่ปรับปรุงมาจากแบบฟอร์มสอบถามการละเมิดสิทธิฯโดยรัฐในภาคใต้ พวกเขาจะสอบถามข้อมูลจากผู้ที่ผ่านประสบการณ์ถูกจับกุม กักตัว และปล่อยตัวอย่างมีเงื่อนไขทั้งหลาย เพื่อเก็บรายละเอียดการกระทำการของเจ้าหน้าที่ว่ามีลักษณะใด ละเมิดสิทธิหรือไม่ เพียงใด

ไอลอว์ กับ งานฐานข้อมูล

ไอลอว์เป็นหน่วยงานเล็กๆ ที่เป็นรู้จักพอสมควรกับงานฐานข้อมูลคดีเสรีภาพ รวมถึงงานที่ไม่มีใคร (อยาก) ทำ นั่นคือคดีมาตรา 112 กลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่กี่คนช่วยกันรวบรวมคดี โดยบันทึกคดีอย่างละเอียดแม้แต่การสืบพยานในชั้นศาล เมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนไป ไอลอว์หันมาเก็บข้อมูลของประชาชนที่ถูกเรียกรายงานตัว ถูกจับกุม ถูกตั้งข้อหา ถูกคุมขัง ถูกกักตัว ถูกค้นบ้าน รวมถึงการการโยกย้ายข้าราชการและการบล็อคเว็บไซต์ เท่าที่พวกเขา 7 แรงและอาสามารถสมัครอีกเล็กน้อยจะสามารถทำได้

สถิติการเรียก, จับกุม, ปล่อยตัวบุคคล รอบอาทิตย์ที่สาม มิ.ย. 57

ข้อมูลการบุกบ้านหรือสถานที่ของเอกชนโดยกองทัพหลังรัฐประหาร 2014

รายงานการตั้งข้อหาทางการเมืองหลังรัฐประหาร2557

รายงานการปิดกั้นสื่อออนไลน์หลังรัฐประหาร 2557

Q&A 10 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับศาลทหาร

ฯลฯ

“งานนี้เป็นงานที่จริงๆ แล้วไม่ควรมีใรายงานการตั้งข้อหาทางการเมืองหลังรัฐประหาร2557ครต้องทำ เพราะมันไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วการบันทึกข้อมูลเป็นแค่ส่วนหนึ่งของหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งทำหน้าที่บันทึกข้อเท็จจริงไม่อยากให้มันหายไปเฉยๆ แต่สุดท้ายข้อมูลเหล่านี้จะเป็นกุญแจในการเรียนรู้ของสังคมอย่างไร ขึ้นอยู่กับการเอาข้อมูลไปใช้เมื่อจังหวะและเวลามาถึง” ยิ่งชีพ อัฌชานนท์ หนึ่งในทีมงานกล่าว

หัวขบวนหรือผู้อำนวยการของไอลอว์ คือ จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตเอ็นจีโอคนสำคัญที่แสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารในครั้งนี้อย่างชัดแจ้ง นอกจากนี้เขายังดำรงตำแหน่งเป็นอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติด้วย จอนยอมรับว่าแม้บทบาทโดยรวมของ กสม.จะน่าวิจารณ์อย่างยิ่งและเขาก็เห็นด้วยกับข้อวิจารณ์ แต่การทำงานในอนุกรรมการก็ยังคงมีประโยชน์ทำให้ได้ข้อมูลต่างๆ อยู่บ้าง เช่น การเชิญภาครัฐมาสอบถาม การเข้าเยี่ยมผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ



จอนเห็นว่าสิ่งที่ถูกกระทบกระเทือนหนักหลังการรัฐประหาร มีอยู่ 3 เรื่องหลัก คือ 1. เรื่องสิทธิมนุษยชน 2. ระบอบประชาธิปไตย 3. กระบวนการยุติธรรมและหลักนิติธรรม

“การกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยไม่ต้องพูดอะไรมาก เพราะชัดเจนในตัว แต่การกระทบด้านสิทธิมนุษยชน เกิดจากการใช้อำนาจกฎอัยการศึกกับพลเรือน ไม่ว่าจะเป็นการเรียกบุคคลรายงานตัว ไม่รายงานตัวมีโทษ เมื่อรายงานตัวแล้วหลายคนถูกกักกัน ส่วนใหญ่ไม่เกิน 7 วันโดยยังไม่ได้ตั้งข้อหาใดๆ ตรงนี้ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง หรือ ICCPR ที่ไทยเป็นภาคี ที่เป็นการละเมิดสิทธิซ้ำเข้าไปอีกคือ พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อใครว่าอยู่ที่ไหน มีข่าวว่าบางคนถึงขนาดถูกปิดตาระหว่างทาง ไม่มีการแถลงว่าขณะใดขณะหนึ่งมีใครบ้างถูกกักตัว กักนานเท่าไร กักที่ไหน ญาติพี่น้องก็ไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมได้ ในทางสากลเขาไม่ทำกัน ในประเทศประชาธิปไตยทำไม่ได้ เป็นการละเมิดสิทธิที่ร้ายแรงพอควร”จอนกล่าวถึงส่วนหนึ่งของการละเมิดสิทธิ

เขากล่าวต่อว่า ระบบยุติธรรมก็ถูกกระทบอย่างแรงด้วยเช่นกัน ที่สำคัญคือการใช้ศาลทหารแทนศาลพลเรือน การเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารมีปัญหาตั้งแต่เรื่องของการไม่มีสิทธิในการอุทธรณ์ ฎีกา บางคนถูกกล่าวหาอย่างค่อนข้างร้ายแรง

“ศาลทหารมีตุลาการพระธรรมนูญทั่วประเทศเพียง 40 กว่าคนทั้งประเทศ ในการพิจารณาโดยทั่วไปในศาลทหารซึ่งเอาไว้ใช้กับทหารนั้น จะมีตุลาการพระธรรมนูญ 1 คน และทหารชั้นสัญญาบัตร ซึ่งโดยมากคือผู้บังคับบัญชาของทหารที่ขึ้นศาลอีก 1-2 คน ในกรณีนี้ อนุกรรมการสิทธิฯ ได้สอบถามผู้แทนจากกรมพระธรรมนูญแล้วได้คำตอบว่า ยังไม่ตกลงชัดเจนว่า องค์คณะผู้พิพากษาในกรณีที่พลเรือนขึ้นศาลทหารนั้นจะมีองค์ประกอบอย่างไร ตอนนี้ยังเป็นแค่การฝากขัง แต่ยังไม่มีคดีไหนขึ้นสู่การพิจารณาของศาลทหาร”

นอกจากนี้เขายังเห็นว่ายังมีการออกกฎหมายเองโดยคณะรัฐประหาร และจับกุมคนตามอำเภอใจ กำหนดเองว่าอะไรผิด

“โดยรวมแล้วสิ่งที่เกิดขึ้น มันกระทบต่อกลุ่มคนในสังคมจำนวนมากที่รักหรือพยายามปกป้องระบอบประชาธิปไตย รวมถึงเครือข่ายของคนเสื้อแดง ซึ่งนอกจากนิยมในระบอบประชาธิปไตยแล้ว อาจมีหลายส่วนนิยมพรรคเพื่อไทยหรือคุณทักษิณ ซึ่งก็เป็นสิทธิทางการเมืองของเขา ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะสนับสนุนพรรคการเมือง ผู้นำทางการเมืองกลุ่มไหนก็ได้ แต่สองกลุ่มนี้กลับกลายเป็นเป้าของ คสช.ในการเรียกตัว ค้นบ้าน จับกุม แจ้งข้อกล่าวหา แม้ว่าฝ่าย กปปส.จะโดนเรียกตัวอยู่บ้าง แต่มาตรฐานก็ต่างกันมาก” จอนกล่าว
ยุคแห่งความซับซ้อน และประชาชนที่ไม่เป็นเอกภาพอีกต่อไป

“สำหรับผม ผมไม่ได้หนักใจมากนักกับการกระทำของทหาร สิ่งทหารทำอยู่นี้มันคาดการณ์ได้ มันละเมิดสิทธิมากมาย แต่มันเป็นเรื่องธรรมดาของการรัฐประหาร ยึดอำนาจ แน่นอน ผมไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารอยู่แล้ว แต่การที่ประชาชนส่วนหนึ่งซึ่งเยอะพอสมควร กลับเฉย กลับชอบด้วยซ้ำไปกับการรัฐประหาร มองไม่เห็นการละเมิดสิทธิที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ มองไม่เห็นตั้งแต่การเคลื่อนไหวของ กปปส.เป็นต้นมา มองไม่เห็นว่าการปิดกั้นไม่ให้เกิดการเลือกตั้งเป็นการละเมิดสิทธิของคนต้องการเลือกตั้งทั่วประเทศ ในสถานการณ์แบบนี้ในอนาคตจะลำบากมาก เพราะเรามีประชากรมากพอสมควรที่ขณะนี้เหมือนไม่เชื่อ ไม่ศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ชอบการนำแบบทหาร ตราบใดที่คิดว่าคนที่มาสั่งการไม่ทุจริตเอง อะไรทำนองนี้ ซึ่งอันนี้มันพูดไม่ได้ เพราะในการรัฐประหารนั้นเราไม่สามารถตรวจสอบคณะรัฐประหารได้อยู่แล้ว และสื่อมวลชนก็คงไม่สามารถเสนอเรื่องที่ไม่ดีเกี่ยวกับการรัฐประหาร “

“เรื่องคอร์รัปชั่นไม่ได้มีเฉพาะในแวดวงนักการเมือง มันมีอยู่ในทุกแวดวง แต่ถ้าจะจับคอร์รัปชั่นในยุคนี้ดูเหมือนจะจับยากกว่าในยุคประชาธิปไตยหลายเท่า”

“ผมคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้คือ ในอดีตหลังรัฐประหารแล้ว ถ้าไม่มีการคืนอำนาจให้ประชาชน ประชาชนก็จะลุกขึ้นมาทวงคืน อย่างเช่นในปี 2535 แต่ในปัจจุบันนี้แนวโน้มว่าประชาชนจะทวงคืน อีกส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการทวงคืน ผมคิดว่าเป็นสถานการณ์ใหม่ที่เรายังไม่เคยเจอในสังคมไทย เป็นเรื่องที่น่าหนักใจในการกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตย และความขัดแย้งในสังคมที่ดำรงอยู่ก่อนการรัฐประหารก็ยังดำรงอยู่หลังการรัฐประหาร อนาคตอะไรจะเกิดขึ้นแทบจะไม่สามารถพยากรณ์ได้เลย เพราะสถานการณ์มันซับซ้อนกว่าในอดีต"

"ในอดีต เวลาประชาชนทวงคืนอำนาจ ประชาชนค่อนข้างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน รวมถึงบรรดานักวิชาการ เอ็นจีโอ นักกิจกรรม นักธุรกิจ สื่อมวลชน แต่ในปัจจุบันสถานการณ์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น ก็เลยต้องบอกว่ามันยากลำบาก และยากที่จะพยากรณ์ว่าประชาธิปไตยจริงๆ จะกลับมาอย่างไร” จอนกล่าวและขยายความต่อว่า ยังไม่สามารถคาดเดาถึงช่วงฮันนีมูนของคณะรัฐประหารกับสังคมไทยได้เพราะมีปัจจัยที่ยังไม่สามารถประเมินได้อีกหลายประการ แต่เขาเห็นว่าอย่างน้อยมาตรการการกดดันจากนานาประเทศก็เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิของประชาชนดีขึ้น"