ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
ปรากฏการณ์แรงงานต่างด้าว หรือที่เรียกกันในภาษาสมัยใหม่ว่า “แรงงานข้ามชาติ” โดยเฉพาะแรงงานชาวกัมพูชาต่างพากันอพยพกลับบ้านเกิดพร้อมๆ กันเป็นจำนวนกว่าแสนคน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นเรื่องที่มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะในปัจจุบันต้องยอมรับว่า “แรงงานข้ามชาติ” ไร้ฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา เมียนมาร์และลาวหลายล้านคน ได้เข้ามาเติมเต็มการขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือในภาคธุรกิจต่างๆ ในประเทศไทย นับตั้งแต่งานบ้านไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมและเรือประมง
แน่นอนว่า แรงงานเหล่านี้ ย่อมมีทั้งที่เข้ามาทำงานโดยถูกและผิดกฎหมาย หรือแม้กระทั่ง “กึ่งถูกกึ่งผิด” (กลุ่มที่ทำงานโดยถูกกฎหมายมาจนครบกำหนดต้องกลับประเทศแล้ว แต่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานไปได้อีกระยะหนึ่ง) ก็มีอยู่ไม่น้อย ดังนั้น การแยกแยะว่า แรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานโดยถูกหรือผิดกฎหมาย จึงทำได้ยากในทางปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง การมีแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายจำนวนมากในประเทศไทย ย่อมก่อผลกระทบต่อความมั่นคงและสังคมพอสมควร ทั้งในเรื่องของการแฝงตัวเข้ามาของขบวนการก่อการร้าย หรือแก๊งค้ายาเสพติด รวมทั้งการก่ออาชญากรรมและปัญหาการสาธารณสุขที่เกิดจากแรงงานต่างด้าวที่มีเป็นข่าวให้เห็นอยู่เนืองๆ
เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ปัญหา “แรงงานต่างด้าว” ถูกเลือกเป็น 1 ในปัญหาที่ คสช. ให้ความสนใจเป็นพิเศษ และได้มีคำสั่งที่ 59 และ 60/2557 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าว ตามลำดับ
แรงงานต่างด้าว ณ ด่านพรมแดนคลองลึก |
แต่ในทันทีที่คำสั่ง 2 ฉบับนี้ถูกประกาศออกไปในคืนวันที่ 10 มิถุนายน ข่าวลือว่า เจ้าหน้าที่ทหารจะดำเนินการกวาดล้างจับกุม หรือแม้กระทั่งทำร้ายทรมานจนถึงแก่ชีวิตต่อแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ได้แพร่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็ว แบบปากต่อปาก โดยเฉพาะในหมู่แรงงานชาวกัมพูชาที่มีความอ่อนไหวและเชื่อถือในข่าวลือมากกว่าข่าวที่มาจากสื่อมวลชน
ชาวแรงงานต่างด้าวพร้อมกลับประเทศ |
จนกระทั่ง คสช. ต้องออกประกาศที่ 67/2557 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2557 เรื่องมาตรการชั่วคราวในการดำเนินการต่อแรงงานต่างด้าว เพื่อชี้แจงมาตรการในการดำเนินการกับแรงงานต่างด้าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนให้ผู้ประกอบการ นายจ้างจัดเตรียมรายชื่อลูกจ้างให้พร้อมตรวจสอบ เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยยืนยันว่าไม่มีการใช้อาวุธ หรือกวาดล้างจับกุมแรงงานต่างด้าวแต่อย่างใด
ประกาศดังกล่าวของ คสช. ถูกประกาศออกมาในห้วงเวลาที่แรงงานชาวกัมพูชาได้ทยอยอพยพกลับประเทศตั้งแต่หลังจากที่มีคำสั่งออกมาเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ไปแล้วไม่น้อยกว่า 1 แสนคน และดูเหมือนว่าจะไม่สามารถหยุดยั้งการอพยพกลับบ้านเกิดเมืองนอนของแรงงานชาวกัมพูชาได้มากนัก
การเชิญเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย มาพบกับปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเมื่อวันอังคารที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา แม้จะเป็นอีกความพยายามที่จะหยุดยั้งปัญหา แต่ก็ถือว่าสายเกินไปและแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะหากใครติดตามสื่อในกัมพูชาจะพบว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น สร้างความไม่พอใจให้กับผู้บริหารระดับสูงในคณะรัฐมนตรีของกัมพูชาหลายคน ทั้งรัฐมนตรีมหาดไทยและรัฐมนตรีแรงงาน ไม่ใช่แค่ระดับเอกอัครราชทูต
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคำสั่งเรื่องการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว ถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของการใช้อำนาจพิเศษแบบเบ็ดเสร็จของ คสช. โดยที่ไม่มีองค์กรใดทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล ซึ่งมีข้อดีในเรื่องความรวดเร็วและเด็ดขาด แต่ก็มีข้อเสียด้านความรอบคอบ และเสี่ยงต่อการที่จะถูกข้าราชการประจำสอดไส้มาตรการที่หากมีการดำเนินการแล้ว อาจเกิดผลกระทบในแง่ลบต่อภาพลักษณ์ของ คสช.
ดังนั้น การใช้อำนาจของ คสช.จากนี้ไป น่าจะต้องนำตัวอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน เพราะการพยายามตามแก้ปัญหาหลังจากที่ผลกระทบเกิดขึ้นแล้ว อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อความเชื่อมั่นในการทำงานของ คสช. ซึ่งต้องยอมรับว่า การบริหารราชการแผ่นดินในช่วงที่ไม่มีองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลเหมือนช่วงเวลาปกติ จะประสบความสำเร็จได้ ต้องอาศัยความเชื่อมั่นจากประชาชน
ความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ แม้แต่น้อยนิดที่อาจจะเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจที่ไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรมของคณะ คสช. จะมีผลอย่างยิ่งต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน ไม่ว่าผู้ใช้อำนาจนั้น จะมีเจตนาดีแค่ไหนก็ตาม
แนวคิด “สันติประชาธรรม” ของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ว่า “ธรรมคือ อำนาจ มิใช่ อำนาจคือ ธรรม” ยังเป็นเครื่องเตือนใจผู้มีอำนาจในทุกยุคทุกสมัยได้เป็นอย่างดี...
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
Twitter: @chavarong
chavarong@thairath.co.th