วันศุกร์, มิถุนายน 20, 2557

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สังคมอณู


ที่มา มติชนออนไลน์

ร้องเพลงเต้นรำก็มีความสุข แต่เป็นความสุขชั่วคราว อีกทั้งสังคมไทยก็ไม่ใช่สังคมที่ขาดแคลนการร้องเพลงเต้นรำ ธุรกิจบันเทิงเช่นนี้ยังปรับตัวให้คนต่างฐานะทางเศรษฐกิจเข้าถึงได้อย่างค่อนข้างทั่วถึง

ดังนั้น ร้องเพลงเต้นรำจึงไม่อาจสมานรอยร้าวหรือความแตกแยกในสังคม เพราะท่ามกลางความแตกแยกที่ผ่านมา ร้องเพลงเต้นรำก็มิได้ขาดหายไปไหน ความไร้พลังของร้องเพลงเต้นรำที่จะสมานรอยร้าว ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความแตกแยกนั้นร้าวลึกมานานเท่านั้น แต่มันได้สร้างความเจ็บปวดเป็นส่วนตัวให้แก่คนจำนวนมาก ไม่เฉพาะแต่ผู้ที่สูญเสียญาติมิตรไปในการปะทะกันเท่านั้น

มีบางอย่างที่คล้ายคลึงกับสถานการณ์ในภาพยนตร์ เมื่อใครสักคนถูกปืนจ่อหัว บังคับให้ลั่นไกปืนยิงเพื่อนที่คบกันมาตลอดชีวิต ระหว่างชีวิตเรากับชีวิตเขา มีทางเลือกได้เพียงอย่างเดียว ในฐานะมนุษย์ปุถุชน คุณลั่นไก ผมก็เข้าใจ คุณไม่ลั่นไก แต่ยอมถูกยิงหัวเละ ผมก็เข้าใจ

และในฐานะมนุษย์ปุถุชนเหมือนกัน มันเจ็บปวดเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในสถานการณ์อย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นคนที่ต้องลั่นไก หรือคนที่จะถูกลั่นไก

ผมเข้าใจ (ซึ่งอาจผิด) ว่า สตาลินเป็นคนแรกที่พัฒนาอำนาจครอบงำของเผด็จการเบ็ดเสร็จไปถึงขั้นที่ทุกคนถูกปืนจ่อหัวให้ยิงเพื่อนของตนเอง นั่นก็คือเหนือกว่าตำรวจลับซึ่งเผด็จการเบ็ดเสร็จทุกแห่งย่อมใช้อย่างได้ผลทั้งสิ้น สตาลินได้สร้างระบบที่ทำให้ทุกคนกลายเป็นสายลับของรัฐเผด็จการทั้งหมด พฤติกรรมใดๆ ที่น่าระแวงสงสัยว่าเป็นปฏิปักษ์กับเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ จะถูกรายงานให้รัฐได้ทราบ เพราะการไม่รายงาน

ทั้งๆ ที่รู้เห็นการกระทำเช่นนั้น อาจทำให้ได้รับโทษไม่ต่างจากกัน หรืออย่างน้อยก็ตกเป็นผู้ที่รัฐระแวงสงสัย ถึงตนเองไม่รายงาน ก็อาจมีผู้อื่นที่ใกล้ชิดกับบุคคลผู้นั้นรายงาน และในกรณีเช่นนั้น การไม่รายงานให้ทันเวลาก็คือร่วมมือหรืออย่างน้อยก็รู้เห็นเป็นใจกับปฏิปักษ์ของเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ

ปืนที่จ่อหัวอยู่เช่นนี้ บังคับให้ทุกคนยิงให้เร็ว ยิงโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก ยิงก่อนที่ตนเองจะถูกยิงจนหัวเละ ยิงก่อนที่คนอื่นจะยิงเพื่อนของเรา เพราะเท่ากับเราจะต้องถูกยิงหัวเละอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ฮิตเลอร์ไม่ได้ใช้วิธีการเช่นนี้ จึงทำให้มีเรื่องแบบ "ชินด์เลอร์′ส ลิสท์" ในภาพยนตร์ได้ (และที่จริงมีกรณีเช่นนี้อีกหลายกรณี ทั้งที่มีบันทึกและไม่มีโดยตรง)

ในสหภาพโซเวียตสมัยสตาลิน เราได้รู้เห็นเรื่องราวอันเจ็บปวดเช่นนี้เกิดขึ้นแก่บุคคลต่างๆ ตลอดมา หนึ่งในเรื่องที่จะเล่าในที่นี้คือเรื่องของเดวิด ออยสตร๊าค นักไวโอลินฝีมือหนึ่งกับรอสโตรโปวิทช์ นักเชลโลฝีมือหนึ่งเช่นกัน ทั้งคู่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลโซเวียตให้ออกไปแสดงในกรุงปารีส เย็นวันแรกที่ทั้งคู่ซึ่งเป็นเพื่อนกันออกเดินเที่ยวชมเมือง จู่ๆ ออยสตร๊าคก็คุกเข่าลงต่อหน้าเพื่อนของเขา จับมือของเพื่อนขึ้นทูนหัวแล้วร้องไห้ สารภาพว่าก่อนจะออกเดินทางมาปารีส เขาได้เขียนบทความลงอิสเวสเตีย ประณามเพื่อนของเขาอย่างสาดเสียเทเสีย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์สร้างความเสื่อมเสียให้รอสโตรโปวิทช์ ตามความประสงค์ของสตาลินซึ่งไม่โปรดรอสโตรโปวิทช์แล้ว

รอสโตรโปวิทช์เล่าว่า เขากลับไปอพาร์ตเมนต์เล็กๆ ของเขาที่มอสโก บอกเมียและเตรียมเข้าของสำหรับการถูกส่งตัวไปไซบีเรีย นอนไม่หลับเพราะรอฟังเสียงเคาะประตูทั้งคืน ติดต่อกันหลายคืน กว่าจะรู้ว่าโทษของเขาไม่หนักถึงเพียงนั้น เขาได้แต่ถูกเพื่อนทุกคน "ยิง" โดยไม่ร่วมงานและไม่คบค้าสมาคมด้วยอีกต่อไปเท่านั้น

นี่เป็นกรณีเดียวที่มีเรื่องเบื้องหลังและสร้างความประทับใจเท่านั้น แต่มีกรณีอื่นอีกนับล้านที่เพื่อนรายงานเพื่อน, นายรายงานลูกน้อง, ลูกน้องรายงานนาย, ลูกรายงานพ่อแม่, พ่อแม่รายงานลูก, ครูรายงานศิษย์, ศิษย์รายงานครู ฯลฯ คนทั้งสังคมกลายเป็นอณู หมุนไปตามแรงขับเคลื่อนของรัฐ โดยไม่มีความสัมพันธ์กันเองอีกเลย นี่คือบรรยากาศของนวนิยาย 1984 ของจอร์ช ออร์เวลล์ ที่มนุษย์ไม่มีความสัมพันธ์อะไรอื่นต่อกัน นอกจากความสัมพันธ์กับรัฐ แม้แต่ความสัมพันธ์ตามธรรมชาติ คือความรักกับคนต่างเพศ รัฐก็ไม่อนุญาตและเข้ามาทำลายให้กลับลงไปเป็นอณูตามเดิม

หลังการรัฐประหาร เราได้ยินข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย แนะนำให้คอยตรวจตราสอดส่องกันเองว่าใครมีพฤติกรรมที่ทำลายความมั่นคงของรัฐ (ตามนิยามของ คสช.กระมัง) ก็พึงรายงานให้หน่วยเหนือทราบ มีการปิดเฟซบุ๊กในช่วงสั้นๆ เพื่อสอดแทรกโปรแกรมตรวจสอบ ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถปิดเฟซบุ๊กของบุคคลได้ เฟซบุ๊กในโลกปัจจุบันเข้ามาแทนที่การสื่อสารทั้งส่วนบุคคลและสาธารณะที่คนไทยยี่สิบกว่าล้านคนใช้ในชีวิตประจำวัน จึงเกือบไม่ต่างจากการเปล่งเสียง ร.เรือไม่ชัด แล้วห้ามพูด ที่ปรึกษาของกระทรวงไอซีทีแจ้งในเชิงขู่ว่า เพื่อนและผู้ติดตามในเฟซบุ๊กอาจเป็นสายลับที่คอยแจ้งให้กระทรวงตามปิดเฟซบุ๊กนั้น หรือจับเจ้าของดำเนินคดีก็ได้ กฎอัยการศึกห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แต่ในทางปฏิบัติคนอ่านหนังสือเพียง 4 คน ก็อาจถูกเรียกตัวไปสอบสวน ผู้หญิงคนหนึ่งประกาศความเห็นทางการเมืองผ่านผ้าปิดหน้าของตนเพียงคนเดียว ก็ถูกนำตัวไปสอบสวนเช่นกัน

รัฐรุกเข้ามายึดครองพื้นที่ความสัมพันธ์และการสื่อสารทุกชนิด ความสัมพันธ์และการสื่อสารคือพื้นฐานของสิ่งที่เราเรียกว่า "สังคม" รัฐทุกรัฐในโลกนี้นับตั้งแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว ที่จะต้องจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคมเสมอ แต่การจัดความสัมพันธ์ให้ไม่มีสังคมเหลืออยู่ มีแต่รัฐ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากและไม่พบว่าทำได้อย่างยั่งยืนในสังคมใด

ความกระตือรือร้นของข้าราชการซึ่งต้องการจะเอาใจนายใหม่ เพื่อช่วงชิงตำแหน่งกันเองนั้น เข้าใจได้ไม่ยาก แต่ความกระตือรือร้นของพวกเขาเพียงอย่างเดียว ไม่อาจสร้างบรรยากาศของรัฐที่ไร้สังคมได้ถึงขนาดนี้ หากไม่ได้รับความสมยอมของอำนาจ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือด้วยความกระตือรือร้นเสียเอง

เพื่อความเป็นธรรมควรกล่าวด้วยว่า สภาพที่พื้นที่ความสัมพันธ์และการสื่อสารของสังคมไทย ไม่ได้เพิ่งถูกเบียดเบียนหลังรัฐประหาร แต่ดำเนินมาหลายเดือนหรืออาจหลายปีมาแล้ว คนจำนวนไม่น้อยในสังคมถูกทำให้เชื่อว่าชีวิตมีความภักดีได้เพียงอย่างเดียว ใครจะเป็นเพื่อน หรือแม้แต่ญาติกันได้ ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีความภักดีเพียงอย่างเดียวนั้นตรงกันหรือไม่ ใครที่มีความสัมพันธ์หรือการสื่อสารที่ทำให้ระแวงได้ว่าไม่ได้มีความภักดีตรงกัน ก็พึง unfriend คนนั้นเสีย

(คำนี้ในทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์อาจไม่มีความหมายอะไรมากนัก เมื่อคุณสมัครรับการสื่อสารในฐานะ friend ผมก็ไม่อนุญาตให้คุณรับการสื่อสารนั้นต่อไปด้วยการ unfriend คุณ แต่ในภาษาไทยความหมายมันโหดร้ายกว่านั้นแยะ ในฐานะเพื่อน เราไม่ได้ตัดเฉพาะการสื่อสารบางเรื่อง แต่เราถอดเขาออกไปจากความเป็นเพื่อนโดยสิ้นเชิง ความสัมพันธ์ที่มีมาทั้งหมดถูกถอดกองทิ้งไว้อย่างไม่ไยดี และในชีวิตจริง "เพื่อน" จริงๆ ก็ถูก unfriend กันมาไม่น้อยแล้ว)

โดยส่วนตัว ผมรู้สึกเจ็บปวดเมื่อพ่อแม่ต้องสั่งให้ลูกสาวเปลี่ยนนามสกุล หรือพ่อต้องแจ้งความฟ้องลูก เพราะทนต่อแรงกดดันของคนรอบข้าง (ซึ่งอาจรวมเพื่อนบ้านด้วย) ไม่ได้ หลายคนบ่นให้ฟังว่า เพื่อนจากชั้นมัธยมเลิกคบตนเองหมด เพราะความเห็นทางการเมืองหรือความภักดีสูงสุดไม่ตรงกัน แม้ตัวผมเองไม่เคยโดนด้วยตัวเอง (หรือโดนแล้วไม่รู้สึกก็ไม่ทราบ) แต่ก็ยอมรับว่าเจ็บปวดกับความสูญเสียซึ่ง "มนุษยภาพ" ของคนไทย ตระหนกกับการที่เราเลื่อนไหลเข้าไปอยู่ในสหภาพโซเวียตภายใต้สตาลินได้อย่างไร

Hannah Arendt เล่าถึงความเจ็บปวดเช่นนี้ไว้ใน Responsibility and Judgement ว่า เมื่อนาซีได้อำนาจในเยอรมัน พฤติกรรมอันเหี้ยมโหดของนาซีเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แม้แต่เมื่อคนธรรมดาเข้าไปร่วมมือกับนาซีด้วยความกลัวก็เป็นพฤติกรรมที่เข้าใจได้ แต่เมื่อคนใหญ่คนโต หรือแม้แต่เพื่อนของเราเองกลัวจะพลาดกระบวนรถไฟพากันออกมาส่งเสียงสนับสนุนนาซี นี่ต่างหากที่เข้าใจยากและเจ็บปวดกว่ากันมาก

ยิ่งกว่า unfriend คือการล่าแม่มด ซึ่งคุกคามความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ถูกล่า เพราะมีการเผยภาพ, ที่ทำงาน, เบอร์โทรศัพท์, บ้านพัก, ฯลฯ ของเหยื่อ ข้อมูลเหล่านี้ใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน หากข้อมูลเหล่านี้จะถูกใช้ ก็เพื่อการละเมิดเหยื่อเท่านั้น นับตั้งแต่ละเมิดด้วยวาจา, ร่างกาย หรือการร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อให้เหยื่อได้รับความยากลำบากในชีวิต

ท้ายที่สุดถึงกับตั้งองค์กรเก็บขยะแผ่นดิน ซึ่งไม่แน่ชัดว่าทัณฑ์ที่จะลงแก่เหยื่อคืออะไร อาจร้ายแรงถึงความปลอดภัยในชีวิตหรือร่างกายก็ได้ เพราะผู้จัดตั้งประกาศระดมอาวุธ และช่วยเหลือทางคดีแก่ผู้ร่วมมือเก็บขยะ

การยึดอำนาจของกองทัพจะระงับความแตกแยกได้หรือไม่ก็ตาม แต่อย่างน้อยจากการที่เป็นฝักฝ่ายหลายฝ่าย กองทัพก็ทำให้เหลือฝ่ายเดียว แต่การทำให้เหลือฝ่ายเดียวนี้หมายถึงใช้กำลังบังคับให้มีความภักดีสูงสุดอยู่เพียงหนึ่งเดียว และการใช้กำลังบังคับให้ไม่เหลือพื้นที่ของความสัมพันธ์และการสื่อสารอื่นใด นอกจากความสัมพันธ์และการสื่อสารกับรัฐ แก่นแท้ของมันจึงเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจากความภักดีต่อสีเสื้อให้เป็นรัฐแต่อย่างเดียว เพื่อความปลอดภัย ผู้คนยังต้อง unfriend กันในชีวิตจริง พ่อแม่ยังต้องฟ้องกล่าวโทษลูก ผู้คนยังต้องเปลี่ยนนามสกุลเพื่อไม่ให้กระทบถึงธุรกิจของครอบครัว

เราก็ยังเป็นอณูเหมือนเดิม

................

(ที่มา:มติชนรายวัน 16 มิ.ย.2557)