แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แถลงการณ์ (คำแปล)
6 มิถุนายน 2557
ประเทศไทย: การปราบปรามรุนแรงพร้อมกับการจับกุมแกนนำระดับสูง และการเรียกตัวเพิ่มเติมโดยศาลทหาร
การจับกุมแกนนำผู้ประท้วงระดับสูงและการออกหมายเรียกตัวของศาลทหาร กรณีผู้ชุมนุมประท้วงอย่างสงบเจ็ดคน เป็นปฏิบัติการล่าสุดของกองทัพไทยในการปราบปรามสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบและขยายวงกว้างมากขึ้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวทางสังคมคนสำคัญได้ถูกจับกุมเมื่อคืนนี้ที่จังหวัดชลบุรี ก่อนหน้านี้เขาปฏิเสธไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้มารายงานตัวต่อกองทัพ และระหว่างการซ่อนตัวได้ใช้สื่ออินเตอร์เน็ตเรียกร้องให้มีการประท้วงอย่างสงบ
“นายสมบัติ บุญงามอนงค์ควรได้รับการปล่อยตัวโดยทันที เว้นแต่จะมีการตั้งข้อหาอาญาตามกฎหมาย และให้มีการควบคุมตัวระหว่างรอการไต่สวนโดยศาลพลเรือนที่เป็นอิสระ นับเป็นปฏิบัติการที่สร้างปัญหาอย่างมากกรณีการจับกุมบุคคลเพียงเพราะการแสดงความไม่เห็นด้วยต่อระบอบทหาร ปฏิบัติการของทหารมีลักษณะเป็นการปราบปรามมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด” ริชาร์ด เบนเน็ต (Richard Bennett) ผู้อำนวยการภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าว
แนวโน้มที่น่ากังวลอีกประการหนึ่ง ได้แก่ ศาลทหารจังหวัดเชียงรายได้มีหมายเรียกตัวบุคคลเจ็ดคน ซึ่งเข้าร่วมการประท้วงเชิงสัญลักษณ์ต่อการรัฐประหาร ในขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีศึกษาธิการซึ่งถูกจับกุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้รับการประกันตัวจากศาลทหารที่กรุงเทพฯ แต่น่าจะถูกฟ้องต่อศาลในข้อหาแสดงการต่อต้านอย่างสงบต่อการรัฐประหาร
“ต้องมีการยกเลิกข้อกล่าวหาโดยทันทีต่อผู้ประท้วงอย่างสงบทั้งเจ็ดราย นายจาตุรนต์ ฉายแสงและบุคคลอื่นที่ถูกควบคุมตัวเพียงเพราะแสดงความไม่เห็นด้วยอย่างสงบ แทนที่จะเพิ่มการปราบปราม ทางการต้องยกเลิกคำสั่งใด ๆ ที่ประกาศตามกฎอัยการศึก ซึ่งนำไปสู่การจำกัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างรุนแรง” นายริชาร์ด เบนเน็ตกล่าว
“การนำตัวพลเรือนขึ้นศาลทหารเป็นการแสดงความดูแคลนต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ศาลทหารละเมิดสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม และไม่เปิดให้มีการอุทธรณ์คดี”
นับแต่ยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ระบอบทหารได้ใช้มาตรการปราบปรามมากขึ้นเพื่อกดขี่และป้องกันไม่ให้มีการประท้วงจากนักการเมือง นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหว ถือว่าขัดกับพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ที่ผ่านมาทางกองทัพได้เรียกตัวบุคคลกว่า 300 คนให้มารายงานตัว ส่วนใหญ่จะถูกควบคุมตัวโดยพลการเป็นเวลานานเกือบสัปดาห์
ที่ผ่านมามีการพุ่งเป้าไปยังผู้วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และบุคคลที่ถูกข้อหาดังกล่าว เป็นเหตุให้พวกเขาถูกควบคุมตัวโดยพลการและอาจได้รับการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรมในศาลทหาร และเสี่ยงจะถูกคุมขังเป็นเวลาหลายปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลกับการที่ระบอบทหารอาจใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างกว้างขวางเพื่อลงโทษผู้ประท้วงอย่างสงบ ในขณะที่เพิ่มการปราบปรามมากขึ้น
ที่ผ่านมาทางการได้เพิ่มอำนาจการฟ้องคดีต่อศาลทหาร โดยให้รวมถึงความผิดที่เกิดก่อนการสถาปนาระบอบทหาร
“การปราบปรามของกองทัพต่อผู้ประท้วงอย่างสงบต้องยุติลงโดยทันที และต้องยุติการควบคุมตัวบุคคลโดยพลการและไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก รวมทั้งการใช้โทษจำคุกเพื่อคุกคามผู้ประท้วงอย่างสงบ มาตรการอื่นใดที่ขัดขวางไม่ให้มีการอภิปรายและโต้เถียงทางการเมือง และการขัดขวางไม่ให้บุคคลมีส่วนร่วมในชีวิตสาธารณะ ต้องยุติลงเช่นกัน” ริชาร์ด เบนเน็ตกล่าว
กองทัพได้ใช้มาตรการเซ็นเซอร์สื่อ ทั้งสื่อโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ และสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งสื่อใหม่อื่น ๆ มีการส่งทหารไปประจำการที่สื่อมวลชนที่สำคัญทุกแห่ง และมีการปิดกั้นการออกอากาศสถานีวิทยุหลายพันแห่งและโทรทัศน์หลายช่อง ผู้สื่อข่าวยังตกเป็นเป้าการเรียกตัวและควบคุมตัวโดยกองทัพเช่นกัน
For English : http://www.amnesty.org/en/news/thailand-deepening-repression-high-profile-activist-arrested-others-summoned-military-courts-20