ที่มา มติชนออนไลน์
มีข่าวว่า "คณะทำงาน" คสช.กำลังเร่งศึกษา "ข้อกฎหมาย" เพื่อนำไปสู่การยุบเลิกพรรคการเมืองที่มีอยู่มากกว่า 50 พรรค
เหตุผลเพราะว่า "รัฐธรรมนูญ" ถูก"ยกเลิก" ไปแล้ว
เมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ถูกยกเลิกเว้นแต่หมวด 2 ว่าด้วยพระมหากษัตริย์ กลไกต่างๆ อันมาตามรัฐธรรมนูญก็ต้องถูกยกเลิกตามไปด้วย
เหมือนกับที่เคยทำกันมาแต่กาลอดีต
ความจริง ถึง คสช.ไม่ยุบเลิกพรรคการเมือง บทบาทของพรรคการเมืองเหล่านั้นก็แทบไม่มีความหมายอะไรเหลืออยู่ในทางเป็นจริง
จะ "ประชุม" กันก็เป็นไปได้ยาก
จะประชุมได้อย่างไรในเมื่อบ้านเมืองอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกและมีคำสั่งห้ามการชุมนุมกันเกิน 5 คน
พรรคการเมืองต่างๆ จึงได้นั่งทำตาปริบๆ
การยึดอำนาจโดย คสช.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม จึงส่งผลสะเทือนอย่างลึกซึ้งไม่เพียงแต่ต่อนักการเมือง หากยังตกกระทบไปยังพรรคการเมืองด้วย
นักการเมืองหน้าเก่า พรรคการเมืองพรรคเก่า
หลายนักการเมืองไม่ว่าจะอยู่ในพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะอยู่ในพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ว่าจะอยู่ในพรรคชาติพัฒนา ดำเนินหลักการตามสำนวนไทยที่ว่า
"อดเปรี้ยวไว้กินหวาน"
เพราะเมื่อควันจากการรัฐประหารผ่านพ้นไป เส้นทางที่จะเดินคือเส้นทางสู่ประชาธิปไตย ซึ่งจะต้องมีการเลือกตั้ง
นักการเมืองในแต่ละพรรคก็จะต้องหวนคืนมา
เป็นการหวนคืนมาตามเสียงปี่เสียงกลอง ไม่ว่าจะเมื่อหลังรัฐประหาร 2520 ไม่ว่าจะเมื่อหลังรัฐประหาร 2534 ไม่ว่าจะเมื่อหลังรัฐประหาร 2549
หลังรัฐประหาร 2557 ก็จักต้องเป็นเช่นนี้
พรรคการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังชล อาจจะหวัง "ลึก-ลึก"
ไม่กล้าแสดงออกเหมือนปลากระดี่ได้น้ำ
ขณะที่พรรคการเมืองอย่างพรรคประชาธิปัตย์อาจจะไม่ปิดบังอำพราง เพราะคิดและประเมินว่าการตัดสินใจทำรัฐประหารของ คสช.พวกของตนมีส่วนด้วยอย่างเต็มพิกัด ไม่ว่าจะทำผ่าน กปปส. ไม่ว่าจะแสดงออกโดยพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมได้เสพเสวยความสำเร็จนี้ไปด้วย
จะเป็นอย่างนั้นจริงละหรือ
พรรคอย่างพรรคเพื่อไทย หากย้อนหวนทวนไปยังพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน ก็ยับเยินมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 แล้ว
พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา ก็ร่อแร่ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 มาแล้ว
ที่เหลืออยู่ก็เสมอเป็นเพียงพรรคระดับจังหวัด ไม่สามารถเป็นพรรคระดับ "ภูมิภาค"ด้วยซ้ำไป
แล้วพรรคประชาธิปัตย์เล่า อนาคตจะเป็นอย่างไร
ความจริงตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 พรรคประชาธิปัตย์ก็มีสถานะเสมอเป็นเพียงพรรคระดับ "ภูมิภาค" เท่านั้น
เมื่อ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ สถาปนา กปปส.ขึ้นก็ทำนายไม่ยาก
ถามว่าอนาคตของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นอย่างไร อนาคตของ กปปส.ก็จะดำเนินไปอย่างนั้น
ตรงนี้ย่อมสะเทือนไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ด้วย
ยากเป็นอย่างยิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะอธิบายเหตุผลในการบอยคอตการเลือกตั้ง ยากเป็นอย่างยิ่งที่ กปปส.จะอธิบายเหตุผลในการสกัดขัดขวางการเลือกตั้ง และรวมถึงสถานการณ์วุ่นวายตลอด 6 เดือนจากพฤศจิกายน 2556 ถึงพฤษภาคม 2557
ถึงไม่ "ยกเลิก" พรรคการเมืองเหล่านี้ก็ "เดี้ยง" ไปตามๆ กันอยู่แล้ว
ความเป็นจริงทางการเมืองที่มิอาจปัดปฏิเสธได้อย่างเด็ดขาด คือ ลักษณะอันเป็นความต่อเนื่อง
1 ความต่อเนื่องของรัฐประหาร 2549 กับ รัฐประหาร 2557 ขณะเดียวกัน 1 ความต่อเนื่องของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับ กปปส.
นี่คือสถานการณ์ "ระเบิดเปรี้ยง" ในทาง "การเมือง"