วันเสาร์, พฤศจิกายน 09, 2562

เศรษฐกิจแย่ขนาดนี้ ทำไมอัตราการว่างงานไทยยังคงต่ำระดับโลก? มีคนอธิบายได้ดี อย่าให้ตัวเลขหลอก ต้องเปลี่ยนความเข้าใจใหม่ อ่านเลย...





NEWS: เศรษฐกิจแย่ขนาดนี้ ทำไมอัตราการว่างงานไทยยังคงต่ำระดับโลก?
.
ช่วงนี้ถ้าไปถามหลาย ๆ คน เขาคงรู้สึกว่าเศรษฐกิจแย่ เพราะถึงไม่ใช่คนที่ทำมาค้าขายและยอดขายตกเอา ๆ เห็น ๆ หรือคนที่โดนบริษัทเลย์ออฟกับตัว เราก็คงจะได้ยินเรื่องพวกนี้จาก “เพื่อน ๆ” บ้าง หรือถึงไม่ได้เป็นแบบที่ว่ามา ถ้าติดตามข่าวหน่อยช่วงปีนี้เราก็น่าจะเห็นข่าวคนฆ่าตัวตายเพราะพิษเศรษฐกิจแบบไม่เว้นแต่ละวัน (จนอาจชวนให้คนที่อายุมากพอจะจำความได้นึกถึงช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง)
.
เรียกได้ว่าคนระดับกลาง ๆ ถึงล่างน่าจะรู้สึกถึงพิษเศรษฐกิจกันทั้งนั้น จะมีก็แต่คนระดับบนที่รายได้และทรัพย์สินก็ยังเพิ่มเอา ๆ และก็ไม่แปลกเลยที่ไทยเราเป็นประเทศที่ค่าผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP) มันยังขยายตัวไปเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กับความเหลื่อมล้ำ
.
อันนี้เป็นตัวเลขพื้นฐาน หาได้ทั่วไป ลวงโลกไม่ได้แน่ ๆ และรัฐบาลก็ปฏิเสธไม่ได้
.
อย่างไรก็ดี ในบรรดาตัวเลขเศรษฐกิจทั้งหมด สิ่งที่ดูจะไม่สมเหตุสมผลที่สุดที่รัฐบาล (น่าจะทุกรัฐบาล) ยกมาอ้างว่าเศรษฐกิจยังไม่เลวร้ายอะไร ก็คือตัวเลข “อัตราการว่างงาน” บ้านเรา
.
ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขคลาสสิกที่ใคร ๆ ก็ชอบเอามายันว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่เลยเมื่อเทียบกับชาวโลก เพราะตัวเลขอัตราการว่างงานไทย มันต่ำระดับติด Top 3 ของโลกมายาวนาน
.
อัตราว่างงานของไทยต่ำแค่ไหน? โดยทั่วไปมันจะไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ แต่ช่วง 2 ปีหลังนี่มันขึ้นมาถึง 1% (ดูข้อมูลล่าสุดของเดือนกันยายน 2019 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ที่ http://bit.ly/2qtjFzi)
.
ซึ่งถ้าบอกว่าประเทศไทยอัตราว่างงาน 1% แล้วไม่เทียบประเทศอื่นว่าเขาว่างงานกันกี่ % ก็คงไม่เห็นภาพ ดังนั้นคำถามคือ ทั่ว ๆ ไปอัตราการว่างงานในประเทศอื่นเป็นยังไง? คำตอบสั้น ๆ คือสูงกว่าเราเยอะโดยเฉลี่ย ค่าเฉลี่ยอัตราว่างงานของยุโรปอยู่ราว ๆ 7% ประเทศที่ถือว่าคุณภาพชีวิตดีระดับโลกแบบสวีเดนและแคนาดาอัตราว่างงานอยู่ราว ๆ 5-6 แต่เอาจริง ๆ หลาย ๆ ประเทศก็ชิล ๆ กับอัตราว่างงานราว ๆ 5% ด้วยซ้ำ เพราะระดับที่เรียกว่าเริ่มไม่ดีแล้วคือ 10% อเมริกาตอนเศรษฐกิจตกต่ำจัด ๆ อัตราว่างงานก็ขึ้นไปถึงประมาณนั้น ซึ่งก็ต้องแก้ไข
.
ถ้าพูดแค่นี้ เราก็คงจะเห็นว่าอัตราการว่างงานไทยไทยเตี้ยเรี่ยดินสุด ๆ ระดับที่หลาย ๆ ประเทศพัฒนาแล้วคงได้แค่ฝันถึงอัตราว่างงานที่ต่ำขนาดนี้ ซึ่งผลที่ตามมาถ้าเราคิดแบบนี้ก็คือ ถึงเศรษฐกิจไทยจะแย่ยังไง มันก็ยังดีกว่าชาวบ้านเยอะ
.
...ถ้าคุณคิดแบบนี้ คุณกำลังโดนตัวเลขหลอก
.
ว่าแต่เราโดนตัวเลขหลอกยังไง? มีการไปไปบิดตัวเลขให้คนตกงานน้อยลงเหรอ?
.
คำตอบคือไม่ใช่ ปัญหาทั้งหมดมันมาจากการที่เราไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์การหา “อัตราการว่างงาน” แต่แรก
.
คำถามคือ คุณรู้มั้ยว่าอะไรคือ “ว่างงาน”?
.
ในภาษาพูดทั่ว ๆ ไปการที่คนนั่งเฉย ๆ ไม่มีอะไรทำ เราก็จะเรียก “ว่างงาน” แต่นั่นไม่ใช่การ “ว่างงาน” ในแง่นี้
.
ซึ่งการ “ว่างงาน” แบบอัตราการว่างงาน ถ้าพูดในเชิงคอนเซ็ปต์แบบอธิบายง่าย ๆ ก็คือ คุณอยากทำงาน แต่คุณไม่มีงานทำ นั่นแหละคุณถึงจะ “ว่างงาน” ในแง่นี้ ถ้าคุณไม่ได้อยากทำมาหากินอะไร คุณจึงไม่มีงานทำ คุณจะไม่ใช่คน “ว่างงาน” ตามนิยามนี้
.
และอัตราการว่างงานมันก็จะคิดจากการเอา คนที่อยากทำงานและไม่มีงานทำ มาหารกับคนที่อยากทำงานทั้งหมด (ซึ่งก็คือเอามาหารกับผลบวกของคนอยากทำงานที่มีงานทำและไม่มีงานทำ) นั่นแหละครับวิธีคิดอัตราการว่างงาน
.
ในแง่นี้ การหาอัตราการว่างงาน มันเลยไม่ใช่เป็นหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม เพราะสำนักงานประกันสังคมมีตัวเลขแค่จำนวนคน “ตกงาน” ที่อยู่ในระบบ สำนักงานประกันสังคมไม่มีตัวเลขว่ามีคน “อยากทำงาน” ทั้งหมดเท่าไร ดังนั้นมันคิด “อัตราการว่างงาน” จากข้อมูลชุดนี้ไม่ได้
.
ดังนั้น ต้องเปลี่ยนความเข้าใจนะครับ ตัวเลขอัตราการว่างงาน ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยกับตัวเลข “ผู้ประกันตน” อะไรพวกนี้ของสำนักงานประกันสังคม เพราะสำนักงานประกันสังคมถึงจะเป็นหน่วยงานหลักของรัฐที่ต้องดีลกับ “คนตกงาน” แต่หน่วยงานนี้ไม่ได้มีหน้าที่ในการหาอัตราการว่างงาน
.
แล้วหน้าที่การหา “อัตราการว่างงาน” เป็นของใคร? คำตอบคือเป็นของงานของสำนักสถิติแห่งชาติ
.
แล้วเขาหาตัวเลขนี้มายังไง? อธิบายง่าย ๆ คือมันจะมีการวิจัยเชิงสำรวจแบบทุกไตรมาส ซึ่งคำถามหลักของการสำรวจก็คือ คุณต้องการจะทำงานมั้ย? คุณมีงานทำมั้ยตอนนี้? ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาคุณมีรายได้เข้ามาจากทางใดหรือไม่?
.
ในแง่นี้ไม่ว่าคุณไปรับจ้างทำความสะอาดบ้าน ซ่อมท่อ ซ่อมคอม ขับแกร็บ ขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ ขายอาหารข้างถนน ใน 1 เดือนก่อนการสำรวจ แล้วมีรายได้เข้ามาไม่กี่ร้อยบาทเท่านั้น เขาก็จะยังคิดว่าคุณ “ไม่ว่างงาน” หมด เพราะถือว่าคุณมีรายได้เข้า จะมากจะน้อยเขาไม่ได้สน
.
นี่อาจฟังดูแปลกนะครับ แต่เราต้องทำความเข้าใจใหม่ เพราะว่าในโลกนี้เวลาเขาหา “อัตราการว่างงาน” เขาทำแบบนี้หมด เขาก็ไปถามคนว่ามีรายได้ใน 1 เดือนที่ผ่านมามั้ยเหมือนบ้านเรานี่แหละ มันไม่มีเกณฑ์ว่ารายได้จะต้องได้ขนาดไหนถึงจะไม่ว่างงาน รายได้ทั้งเดือนคุณได้ต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 1 วัน เขาก็ยังถือว่าคุณ “ไม่ว่างงาน” และมาตรฐานนี้ในทางคอนเซ็ปต์ เขาใช้กันทั้งโลก
.
พูดง่าย ๆ วิธีวัดของเรา “มาตรฐานสากล” ครับ แต่สิ่งที่ไม่ใช่ “มาตรฐานสากล” คือเศรษฐกิจของเรา
.
อธิบายง่าย ๆ ก็คือสวัสดิการบ้านเราไม่ดีน่ะครับในมาตรฐานประเทศพัฒนาแล้ว แต่เศรษฐกิจนอกระบบเราก็ใหญ่โตมากเช่นกัน กล่าวคือถ้าคุณตกงาน คุณก็ต้องหารายได้ทางอื่นทุกทางไม่ให้อดตายเพราะระบบสวัสดิการสังคมในไทยมันไม่พอกิน อย่างไรก็ดี “โชคดี” ที่เรามีระบบเศรษฐกิจนอกระบบที่ใหญ่มาก คุณไม่มี “งาน” ทำคุณก็ไปขายอาหารข้างถนน ไปตั้งแผงขายของที่โน่นที่นี่ได้เต็มไปหมด หรือจะรับจ้างทำอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้ งานพวกนี้ยากจะรายได้ดีเท่า “งานประจำ” ที่คุณเคยทำ แต่มันก็เป็นอะไรที่พอจะยาไส้คุณในช่วงที่คุณ “ไม่มีงาน”
.
ภาวะแบบนี้ต่างจากพวกคน “ตกงาน” ในประเทศที่สวัสดิการดี ๆ ที่ถ้าเขา “ตกงาน” เมื่อไรเขามักจะพออยู่ได้ด้วยสวัสดิการ แล้วเขาก็จะรอได้งานใหม่ที่ควรจะทำ เขาถึงกลับไปทำงานอีก เขาไม่ต้องดิ้นรนเพื่อการอยู่รอดทันทีหลัง “ตกงาน” แบบชาวไทย
.
พูดง่าย ๆ ตัวเลข 1% ที่คนไทยว่างงานกันต่ำระดับโลก มันดูจะไม่ได้สะท้อนภาวะว่าสังคมไทย “ว่างงานต่ำ” เท่ากับที่เราเป็นสังคมแบบ “ว่างงานไม่ได้ เพราะจะอดตาย”
.
ซึ่งคำอธิบายแบบนี้ ก็เป็นคำอธิบายว่าทำไมสหรัฐอเมริกาถึงอัตราว่างงานต่ำกว่าประเทศที่คุณภาพชีวิตดีกว่าแบบสวีเดน (ตอนนี้อเมริกาอัตราว่างงานราว 3% สวีเดนอัตราว่างงานราว 7%) คำตอบคือ ก็เพราะอเมริกา สวัสดิการสังคมสำหรับคนตกงานมันแย่กว่าสวีเดนเยอะ คนไม่ทำงานก็อดตายคล้าย ๆ บ้านเรา ดังนั้นคนมันเลยต้องหางานทำตลอด
.
...ที่เล่ามาทั้งหมด ก็เพียงแต่จะบอกว่า เลิกเถอะครับการเอาอัตราว่างงานที่ต่ำมาบอกว่าเศรษฐกิจยังดีอยู่ คุณภาพชีวิตคนยังดี เพราะตัวชีวิตตัวนี้มันไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อการนี้แต่แรก หรืออย่างน้อยก็ใช้เดี่ยว ๆ ไม่ได้ ต้องประกอบกับตัวอื่น ๆ อีกเต็มไปหมด
.
หรือถ้าไม่อยากจะยังงั้นยังงี้เลยครับ สิ่งที่คนไม่ค่อยรู้กันก็คือประเทศที่อัตราว่างงานต่ำที่สุดในโลกคือ กัมพูชา นะครับ ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็คงไม่มีคนไทยคนไหนคิดว่าเศรษฐกิจหรือคุณภาพชีวิตของเขาดีกว่าเรา ซึ่งก็นั่นแหละครับเหตุผลว่าทำไมการใช้ตัวเลขอัตราการว่างงานลอย ๆ มาบอกว่าเศรษฐกิจยังดีอยู่มันใช้ไม่ได้
.
อ้างอิง: http://bit.ly/2NNsITQ
.
#Thailand #Economy #Economics #News #BrandThink
อัปเดตและติดตามข่าวสารได้ที่
�Line: @brandthink (มี @ ด้วยนะครับ)
Instagram: instagram.com/brandthink.me
Website: www.brandthink.me
Twitter: twitter.com/BrandThinkme


BrandThink