วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2562

พลาดไม่ได้ ! คลิป"ปิยบุตร" อภิปราย "คำสั่ง คสช. - ม.44" ชี้เป็น "กฎหมายหุ้มปืน" สร้าง "ปรากฏการณ์ใหม่รัฐประหาร - มรดกบาปในระบบ" ปลุก ส.ส. ลงมติแทนประชาชน ร่วมสนับสนุนตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบฯ




https://www.facebook.com/FWPthailand/videos/1002502946766336/


[ "ปิยบุตร" อภิปราย "คำสั่ง คสช. - ม.44" ชี้เป็น "กฎหมายหุ้มปืน" สร้าง "ปรากฏการณ์ใหม่รัฐประหาร - มรดกบาปในระบบ" ปลุก ส.ส. ลงมติแทนประชาชน ร่วมสนับสนุนตั้ง กมธ.ศึกษาผลกระทบฯ ]
.
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ณ รัฐสภาเกียกกาย Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อภิปรายในญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำตามประกาศและคำสั่งของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44
.
ปิยบุตรระบุว่า เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นายทหารกลุ่มหนึ่งนำโดย พล.อ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชารัฐบาลพลเรือน ได้ยึดอำนาจและยกเลิกรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่ามีผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 เป็นกบฏ โทษจำคุกตลอดชีวิตหรือประหารชีวิต แต่ต่อมามีการออกกฎหมาย ร่างรัฐธรรมนูญ 2557 กำหนดให้การรัฐประหารไม่มีความผิด แสดงว่ากลุ่มผู้ยึดอำนาจ คือ คสช. รู้ว่ากากระทำนั้นมีความผิด แต่ก็ทำ และทำแล้วก็ออกคำสั่งว่าสิ่งที่ทำนั้นไม่ผิด ที่เรียกว่า "นิรโทษกรรมตัวเอง"
.
.
ในทัศนะของปิยบุตร การที่ คสช. ยึดอำนาจเป็นเผด็จการ มีทั้งกำลังและอาวุธใช้บังคับได้ แต่ทว่ากลับเลือกใช้มาตรการทางกฎหมายมากมาย เพื่อจุดประสงค์ 3 ประการ ดังนี้
.
1) เพื่อแปลงความต้องการ คสช. ให้เป็นกฎหมาย โดยอยากทำอะไรเขียนใส่กระดาษ ลงนามโดยหัวหน้า คสช. และบอกว่ากระดาษนั้นเป็นกฎหมาย หรือถ้าจะแนบเนียนกว่านั้นก็ช่วงที่มีรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ให้ สนช. ตราเป็นพระราชบัญญัติ โดย สนช.เหล่านั้นก็ล้วนมาจากการแต่งตั้งของหัวหน้า คสช. ทั้งสิ้น
.
2) เพื่อบังคับใช้บอกว่าทุกสิ่งที่ตนทำเป็นไปตามกฎหมาย โดยแท้จริงแล้วอำนาจนั้นมาจากอาวุธ มีการออกคำสั่งเป็นกฎหมาย แต่จริงๆ ทั้งหมดนั้นเป็นเพียงเอากฎหมายมาห่อหุ้มปืน ห่อหุ้มอาวุธ เช่น ไม่อยากให้ใครมาชุมนุมทางการเมืองก็ออกคำสั่ง 3/ 2558 ห้ามชุมนุมทางการเมือง ใครฝ่าฝืนมีโทษ ถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินคดี นี่คือสิ่งที่ คสช. พยายามบอกว่าไม่ได้ใช้ปืน แต่ใช้อ้างว่าทั้งหมดเป็นตามกฎหมาย
.
3) เพื่อใช้กฎหมายอย่างบิดผัน ไม่สุจริต เช่น มี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เรื่องยุยงปลุกปั่น หรือกฎหมายเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อยู่แล้ว แต่ คสช. ก็ยังสั่งให้นายทหารเจ้าประจำร้องทุกข์กล่าวโทษประชาชน เพื่อสร้างให้เป็นคดีความ ปักหลังคนเห็นต่าง คสช. ทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวก อยากวิจารณ์ก็มีความกังวลว่าทำไปแล้วจะถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ ดังนั้น จึงเลือกเซ็นเซอร์ตัวเอง
.
.
นอกจากนี้ ปิยบุตรได้ตั้งข้อสังเกตว่า การที่ คสช. ซึ่งมีกำลังอาวุธ แต่กลับเลือกใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ มีสาเหตุเนื่องมาจากวัตถุประสงค์ต่อไปนี้
.
1) การใช้กฎหมายสร้างความแน่นอนชัดเจนว่าทำอะไรได้บ้าง และสื่อถึงประชาชนให้จงรู้ไว้ว่า ทำอะไรได้บ้าง ทำแล้วจะโดนอะไร รวมถึงเป็นการจัดระเบียบผู้ใต้บังคับบัญชาให้รับรู้ด้วยว่า อำนาจสูงสุดอยู่ คสช.
.
2) ทำให้อำนาจดิบเถื่อนแบบ คสช. ดูนิ่มนวล เนื้อแท้ที่ดูน่าเกลียดน่ากลัว แต่เมื่อเอาเสื้อผ้า เครื่องแต่งหน้า แต่งกายใส่ ทำให้อำนาจปืน คสช. ดูสวยหล่อขึ้นมาทันที นี่คือกระบวนการเสกปืนให้กลายเป็นกฎหมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นบุคคลที่ละเมิดกฎหมายสูงสุด เป็นบุคคลที่ก่อรัฐประหารมีโทษสูงสุดประหารชีวิต เป็นบุคคลทำลายหลักกฎหมาย แต่กลับกล้าชี้หน้าให้คนอื่นเคารพและอ้างกฎหมายตลอดเวลา เพราะแท้จริงแล้วสิ่งที่หัวหน้า คสช. เรียกร้องให้เคารพคือ อำนาจของตัวเขาเอง ไม่ใช่กฎหมาย
.
.
การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ และเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการรัฐประหาร ใน 4 ประการ ดังนี้
.
1) จำนวนของการออกประกาศและคำสั่งมีมาก นับตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 รวมทั้งสิ้น 565 ฉบับ ซึ่งเปรียบเทียบกับในอดีตถือว่าสูงกว่ามาก
.
2) มีอำนาจมากที่สุดซึ่งรุนแรงกว่า ม.17 ในยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะถ้ามองในแง่ระบบรัฐธรรมนูญ จะเห็นว่า แม้เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้ว หัวหน้า คสช. ก็มีอำนาจพิเศษตาม ม.44 ด้วย นี่เป็นเรื่องประหลาด เป็นครั้งแรกมีรัฐธรรมนูญถาวรเกิดขึ้นแล้ว ยังให้อำนาจแก่คนทำรัฐประหาร
.
3) รับรองคนทำรัฐประหารอย่างรัดกุมที่สุด จนอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีองค์ความรู้ด้านรัฐประหาร และการป้องกันตนเองของรัฐประหารมีความสามารถสูงเป็นลำดับต้นๆ โลก การยกเลิกประกาศคำสั่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องทำลายเกราะคุ้มกันของคำสั่ง คือ มาตรา 279 ด้วย
.
4) ออกคำสั่งครอบคลุมหลายมิติ กระทบทุกแวดวง ไม่ใช่คำสั่งแค่เป้าประสงค์การเมือง หรือจำกัดสิทธิเสรีภาพบุคคลเท่านั้น แต่กระทบชีวิตประจำวันด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ประมง ที่ดิน องค์กรอิสระ ตำรวจ หาบเร่ เด็กแว้น สิ่งแวดล้อม กระบวนการยุติธรรม และอื่นๆ อีกมากมาย
.
.
ก่อนที่ คสช.จะสิ้นสภาพ ได้ทิ้งทวนด้วยการออกคำสั่ง 9/2562 ยกเลิกคำสั่งรวมแล้ว 78 ฉบับ แต่ยังมีเรื่องที่ยังไม่ยกเลิก และหลายเรื่องกระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน และก็มีที่แอบฝังใน พ.ร.บ.ที่เป็นกฎหมายปกติ และเหล่านี้ได้สร้างสิ่งที่เรียกว่า "มรดกบาประบบ คสช." ได้แก่
.
1) ประเทศไทยมีระบบกฎหมาย 2 ระบบ คู่กันโดยที่เราไม่รู้ตัว นั่นคือระบบกฎหมายปกติ กับประกาศคำสั่ง คสช.ที่ได้รับยกเว้น รับรองว่าถูกเสมอไม่มีวันขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เราในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจในการตรา พ.ร.บ. เสร็จแล้วส่งวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ นายกทูลเกล้า พระมหากษัตริย์ลงปรมาภิไธย นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่ง พ.ร.บ.เหล่านี้ มีโอกาสขัดรัฐธรรมนูญเสมอ หากแต่ประกาศ คำสั่ง คสช. ที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีวันขัด แบบนี้ไม่น่าจะเรียกระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
.
2) ประเทศไทยกลายเป็นรัฐทหาร กระบวนการที่ทำให้ทหารมีบทบาททางการเมืองมากขึ้น (Militarization of the state) ซึ่งมักเกิดขึ้นหลังรัฐประหาร อาทิ หลังรัฐประหาร 2549 เกิด พ.ร.บ.ระเบียบราชการรกระทรวงกลาโหม ที่ให้อำนาจทหารมากกว่ารัฐบาลพลเรือน ส่วนรัฐประหาร 2557 ยิ่งทำให้กระบวนการทำให้เป็นรัฐทหารเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ได้แก่ 2.1) ทหารเข้าไปมีบทบาทใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร มากขึ้น 2.2) ทหารเข้ามีบทบาทในกระบวนการยุติธรรมที่ให้อำนาจทหารจับกุมคุมขัง ให้ทหารร่วมสอบสวนได้ 2.3) ทหารมีบทบาทในชีวิตประจำวันประชาชน เช่น จัดการปัญหาป่าไม้ ที่ดิน ประมง อีอีซี สิ่งแวดล้อม ร้านเกมส์ ปฏิบัติการจิตวิทยาต่างๆ 2.4) ทหารฝังอำนาจเข้าอยู่ในรัฐธรรมนูญ ในแผนยุทธศาสตร์ ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ และ 2.5) การสร้างกลไกให้ทหารเข้ามามีอำนาจครอบคลุมทั่วประเทศผ่าน กอ.รมน. เกิดเป็น กอ.รมน.ภาค และ กอ.รมน.จังหวัด แล้วบูรณาการให้ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆในพื้นที่มาอยู่ภายใต้ทหาร เปรียบเหมือนผู้ว่าราชการจังหวัดทหาร ควบคู่ไปกับผู้ว่าราชการจังหวัดแบบปกติ
.
.
ในช่วงสุดท้ายของการอภิปราย ปิยบุตรสรุปว่า ด้วยเหตุนี้เราจึงจำเป็นต้อง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา เพื่อดูประกาศว่าฉบับไหนที่ดีก็แปรให้ถูกต้องในระบบ ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ยกเลิก เยียวยาผู้เสียหายด้วย
.
"มีสุภาษิตกฎหมายบทหนึ่งเป็นภาษาละตินใช้กันมาตั้งแต่สมัยโรมัน เคยได้ยินครั้งแรกในบทความของ มรว.เสนีย์ ปราโมช ในนามปากกาว่า แมลงหวี่ นั่นคือ 'เมื่อเสียงปืนดังขึ้น กฎหมายก็เงียบลง' แต่ ณ วันนี้ เสียงปืนเริ่มเงียบลงแล้ว กฎหมายก็ควรกลับมาส่งเสียง ในช่วงเวลาที่คนถือปืนยึดอำนาจตั้งตัวเป็นใหญ่ พวกเราคนธรรมดาอาจกลัวอาจไม่กล้า ในช่วงที่คนถือปืนเปลี่ยนแปลงปืนของตัวเองให้กลายเป็นกฎหมาย แล้วเอากฎหมายห่อปืนมาใช้กับพวกเรา พวกเราก็อาจจะเคารพกฎหมายของเขา แต่วันนี้เรามีการเลือกตั้ง เรากำลังทยอยเข้าสู่ระบบปกติ เรามีอำนาจนิติบัญญัติที่พี่น้องมอบให้พวกเรามาใช้แทน
.
ถึงเวลาแล้วที่พวกเราสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องยืนตรงอย่างทระนงองอาจต่ออำนาจเผด็จการเหล่านี้ ประเทศไทยไม่มีทางสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญได้หากยังมีระบอบรัฐประหารฝังตัวอยู่ ประเทศไทยไม่มีทางสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงได้ หากยังมีมรดก คสช. อยู่
.
นี่จึงเป็นภารกิจสำคัญยิ่งของพวกเรา ส.ส. องค์กรจากการเลือกตั้งองค์กรเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในประเทศไทย ผมจึงขอแรงสนับสนุนจากผู้แทนราษฎรทุกท่าน ผู้ซึ่งเป็น “ผู้แทน” ของราษฎร ช่วยกันลงมติแทนราษฎร ให้ความเห็นชอบการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศคสช. คำสั่งคสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้าคสช. ตาม มาตรา 44" ปิยบุตรกล่าวทิ้งท้าย