วันเสาร์, พฤศจิกายน 16, 2562

คนรักในหลวงควรอ่าน บีบีซีไทย เปิดงานวิจัย "สถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย" - "ข้าราชการสายวัง" และ ชนชั้นนำกลุ่มต่าง ๆ ที่ร่วมอยู่ใน "เครือข่ายในหลวง" ร.9




ศึกษา "ข้าราชการสายวัง" และ "เครือข่ายในหลวง" ร.9 จากดุษฎีนิพนธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

15 พฤศจิกายน 2019
บีบีซีไทย

เปิดงานวิจัยปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฉายภาพ "ข้าราชการสายวัง" และชนชั้นนำกลุ่มต่าง ๆ ที่ร่วมอยู่ในสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย ละเอียดรอบด้านจนได้คำชมว่าเป็น "ส. ศิวรักษ์ที่มีเชิงอรรถ"

ดุษฎีนิพนธ์เรื่อง "ความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495-2535" ของ อาสา คำภา สาขาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ม. เชียงใหม่ ถูกนำเสนอต่อสาธารณะครั้งแรกในงานเสวนา "นักวิจัยรุ่นใหม่ รัฐศาสตร์หลากฉากทัศน์" จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ เมื่อ 15 พ.ย.

ผู้ศึกษาวิจัยชิ้นนี้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ "สถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย" (Network Monarchy) หรือที่ ศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ เรียกว่า "เครือข่ายในหลวง"

ข้อค้นพบที่สำคัญของอาสาคือ การก่อรูปและพลวัตของสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่ายสัมพันธ์กับ "พระราชอำนาจนำ" ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในแต่ละห้วงเวลา

ธงชัย วินิจจะกูล มองทะลุประวัติศาสตร์ "ราชาชาตินิยม" และ "ผี" ในการเมืองไทย
เกษียร เตชะพีระ ชี้ "หลังเลือกตั้งเราจะเห็นความผิดหวังที่เพิ่มทวีขึ้น"น
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ มองทะลุ "รัฐเรือแป๊ะ" สู่ "รัฐอากาศยาน"

อาสาอธิบายว่า พระราชอำนาจนำของในหลวง ร. 9 เกิดขึ้นจากองค์ประกอบ 3 ส่วนคือ อุดมการณ์ราชาชาตินิยม โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเครือข่ายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยช่วงที่พระราชอำนาจนำขึ้นสู่กระแสสูง แนวโน้มสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่ายก็จะขยายตัวตาม

การก่อรูปของสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย

อาสาแบ่งช่วงเวลาของการการก่อรูปของสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย ออกเป็น
  • 2490-2500 อยู่ในวงจำกัด ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าพระราชอำนาจนำถูกจำกัดในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
  • 2500 เริ่มขยายวง ปรากฏ "ข้าราชการสายวัง" มากขึ้นทุกหมู่เหล่า ทั้งตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง ฝ่ายตุลาการ รวมถึงชนชั้นนำทางธุรกิจ
  • 2500-2510 เห็นองคาพยพเป็นรูปธรรม ประกอบด้วย ตุลาการอาวุโส ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษ์นิยม "ข้าราชการสายวัง" ทั้งในสังกัดกระทรวงมหาดไทย แพทย์ ตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) และทหารบางส่วนที่เข้ามาใกล้ชิดกับสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านงานพัฒนาในชนบท
  • 2510-2516 แม้มีการจัดรูปที่ชัดเจนของสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย แต่กลุ่มที่ครองอำนาจมากสุดยังเป็นผู้นำทหารใน "ระบอบสฤษดิ์-ถนอม" ก่อนที่สภาพการณ์นี้จะเปลี่ยนไปหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งทำให้พระราชอำนาจนำขึ้นสู่กระแสสูง

"ข้าราชการสายวัง"

"ตัวแสดง" ที่อยู่ในสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย ล้วนเป็นสมาชิกเครือข่ายชนชั้นนำไทย ซึ่งนอกจากตัวสถาบันพระมหากษัตริย์เอง ยังรวมเอากองทัพ ชนชั้นนำในระบบราชการโดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกเรียกว่า "ข้าราชการสายวัง" ชนชั้นนำทางธุรกิจ และชนชั้นกลางบางส่วนเข้าไว้ด้วยกัน

สำหรับคำว่า "ข้าราชการสายวัง" อาสาให้นิยามว่าหมายถึงกลุ่มข้าราชการที่มี "ความสัมพันธ์เป็นพิเศษ" กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจเป็นความผูกพันในฐานะเป็นราชสกุลวงศ์ ชาติตระกูล ประสบการณ์ร่วมทางประวัติศาสตร์ รวมถึงการหล่อหลอมทางวัฒนธรรม

ตัวอย่างบุคคลที่ถูกมองว่าเป็น "ข้าราชการสายวัง" ในยุคต้น


ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากการนำเสนอดุษฎีนิพนธ์ในเวทีเสวนาเมื่อ 15 พ.ย. 2562และบทความ "พลวัตสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย : ข้อสังเกตว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495-2535 โดย อาสา คำภา ในวารสารไทยคดีศึกษา ฉบับ ก.ค.-ธ.ค. 2561

อาสาระบุว่า "ข้าราชการสายวัง" เกิดขึ้นอย่างเงียบ ๆ ตั้งแต่ช่วง 2490 ก่อนเปิดเผยมากขึ้นภายหลังรัฐประหาร 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากปัจจัยหลักที่ว่าสัมพันธภาพระหว่างจอมพลสฤษดิ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์มีท่าทีสนับสนุนซึ่งกันและกัน จนถูกเรียกขานว่า "หุ้นส่วนระหว่างพระมหากษัตริย์กับนายกรัฐมนตรี" (King-Prime Minister Partnership)

ดุษฎีนิพนธ์ของอาสาแสดงให้เห็น "ข้าราชการสายวัง" ในแวดวงต่าง ๆ ได้แก่

- ข้าราชการพลเรือน เช่น พ่วง สุวรรณรัฐ ถือเป็น "ต้นแบบข้าราชการกระทรวงมหาดไทยสายวัง" ซึ่งอาสาพบงานเขียนชิ้นหนึ่งอ้างถึงพระราชกระแสรับสั่งของในหลวง ร. 9 ที่ว่า "นายพ่วงใช้ได้ดี สั่งอะไรก็ปฏิบัติได้หมด" ซึ่งสะท้อนว่าสามารถสนองงานจนเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย

WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI


- ตุลาการ เส้นทางเดินของ สัญญา ธรรมศักดิ์ ผู้ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีหลังเกษียณอายุราชการ ถูกมองว่าเป็นการปูทางให้ "ข้าราชการสายศาล" เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อนที่บุคคลเหล่านี้จะได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ประกอบ หุตะสิงห์ อดีตประธานศาลฎีกา, จิตติ ติงศภัทิย์ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และอดีตประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญปี 2521, ธานินทร์ กรัยวิเชียร อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา และนายกรัฐมนตรี

- ทหาร ในช่วงที่ในหลวง ร. 9 และบรมวงศ์เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับในต่างจังหวัด รวมถึงช่วงที่รัฐไทยต่อสู้กับภัยคอมมิวนิสต์ ส่งผลให้นายพลทหารโดยเฉพาะแม่ทัพภาคเข้ามารับใช้ใกล้ชิดราชสำนัก ก่อนได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี อาทิ พล.อ. สำราญ แพทยกุล อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 และอดีตผู้ช่วย ผบ.ทบ., พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 2, อดีต ผบ.ทบ. และอดีตนายกฯ

ประวัติ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์
วสิษฐ เดชกุญชร เล่าเรื่อง ในหลวง ร. 9 "ประชาชนของพระราชา"
"ตุลาการหมายเลข 1" กับ "แสง"แห่ง วิกฤต รธน. 2549
"เดชะพระบารมี" ตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์

- ตำรวจ ได้เกิด "ตำรวจสายวัง" อันหมายถึงนายพลตำรวจที่ทำหน้าที่ตามเสด็จและถวายการอารักขาความปลอดภัย อาทิ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ, พล.ต.อ. ชุมพล โลหะชาละ อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ, พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ ยมนาค อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

VASIT DEJKUNJORN
คำบรรยายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ที่ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร อัญเชิญมาไว้ที่โต๊ะทำงาน โดยมีตัวเขาขณะปฏิบัติหน้าที่ตำรวจราชองครักษ์อยู่เบื้องหลัง


เครื่องหมาย "คนดี" และตราเกียรติยศ

ในสายตาคนทั่วไป สัญลักษณ์สำคัญที่ทำให้สังคมรับรู้ถึงการมีอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่ายคือ การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าให้แก่บรรดาผู้ทำความดีความชอบในแผ่นดิน ซึ่งมักปรากฏชื่อ "ข้าราชการสายวัง" และเจ้าสัว/นักธุรกิจคนสำคัญ นอกจากนี้ยังมีการพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ และพระจิตรลดาซึ่ง ร. 9 ทรงสร้างขึ้นแก่บุคคลต่าง ๆ รวมถึงการพระราชทานครุฑตราตั้งแก่บริษัท/ห้างร้าน ซึ่งมีความใกล้ชิดกับราชสำนัก

"ในบางครั้ง เราจะเห็นอธิบดีกรมได้รับเหรียญตรา แต่ปลัดกระทรวงไม่ได้ หรือบางสมัย คุณนายผู้ว่าฯ ก็มีคำนำหน้าว่า "ท่านผู้หญิง"... ดังนั้นผู้ได้รับ (พระราชทาน) จะเป็นเครือข่ายไม่เป็นทางการ ซึ่งอยู่ในโครงสร้างที่เป็นทางการ" อาสากล่าว

นอกจากความสัมพันธ์ที่วางอยู่บน "ระบบเกียรติยศแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์" หลังปี 2500 ยังเกิด "วัฒนธรรมการบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล" เพื่อนำเงินไปสนับสนุนพระราชกรณียกิจด้านสาธารณสงเคราะห์และการพัฒนาของในหลวง ร. 9 อาสาได้ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นหนึ่งในหลักเกณฑ์การคัดเลือกว่าใครจะเข้าไปเป็นสมาชิกในเครือข่าย "กลุ่มราช-ประชายุคต้น" ได้ ไม่ว่าจะเป็น สภากาชาดไทย, มูลนิธิอานันทมหิดล (2502), มูลนิธิราชประชาสมาสัย (2503) และมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ (2506)

ในส่วนของชนชั้นนำทางธุรกิจที่เข้ามาอยู่ในเครือข่าย อาสาอธิบายผ่านอุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทย ซึ่งไปกดคนเชื้อสายจีนไม่ให้เหิมเกริมเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่มีพื้นที่ทำธุรกิจ อีกทั้งในสมัยก่อนชนชั้นปกครองไทยก็บริหารธุรกิจไม่เป็น ก็จะยืมมือคนเหล่านี้และทำหน้าที่ประสานกัน

"เอาเข้าจริงชนชั้นนำทางธุรกิจก็จ่ายให้ทุกฝ่าย... หลังรัฐประหาร 2500 การเข้าหาสถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะคนเหล่านี้ถวิลหาความเป็นไทย และสิ่งที่สะท้อนความเป็นไทยได้ดีที่สุดก็คือสถาบัน การได้รับเหรียญตราตั้ง ตราครุฑย่อมเป็นเรื่องดีสำหรับพวกเขา" อาสากล่าว

เช็คชื่อชนชั้นนำในสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่ายที่ร่วมงานมูลนิธิต่าง ๆ



ที่มา : บีบีซีไทยสรุปจากการนำเสนอดุษฎีนิพนธ์ในเวทีเสวนาเมื่อ 15 พ.ย. 2562และบทความ "พลวัตสถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย : ข้อสังเกตว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทย พ.ศ. 2495-2535 โดย อาสา คำภา ในวารสารไทยคดีศึกษา ฉบับ ก.ค.-ธ.ค. 2561


"ฉันทามติชนชั้นนำ"

ตัวแสดงในโครงสร้างการเมืองเชิงเครือข่ายนี้ต้องต่อสู้ ต่อรอง ประนีประนอม ผสานผลประโยชน์ ทั้งโดยเปิดเผยและโดยนัยอำพรางกับกลุ่มอื่น ๆ ในเครือข่ายเสมอ ซึ่งอาสากล่าวเพิ่มเติมกับบีบีซีไทยว่า "หลักเกณฑ์ขั้นต่ำ" ในการเป็นสมาชิกของเครือข่ายคือ "ต้องทำ political project (โครงการทางการเมือง) ตามที่มีพระราชดำริเห็นสมควร"

ขณะเดียวกันมี "ฉันทามติของชนชั้นนำไทย" ในหลายเรื่อง ในจำนวนนี้คือการ "ไม่ควบรวมอำนาจ" ของผู้มีอำนาจคนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต่อปริมณฑลทางอำนาจของคนอื่น กลุ่มอื่น หากมีการแบ่งสรรกันลงตัวแล้ว หรือที่ ศ. ดร. เกษียรสรุปความง่าย ๆ ว่าหมายถึง "อีลีท (ชนชั้นนำ) ไทย จงแบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ อย่ากินรวบ กินเหมาคนเดียว"

ศ.ดร. เกษียรชี้ว่า ในทางสากลสิ่งที่ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์มี 3 ประการคือ คอมมิวนิสต์ กองทัพ และชนชั้นกลาง แต่กรณีไทยกลับตรงกันข้าม เพราะ 3 กลุ่มนี้กลายเป็นกลุ่มจงรักภักดี และทำให้เกิด "ฉันทามติภูมิพล" (The Bhumibol Consensus)

หากถามว่า "ฉันทามติชนชั้นนำไทย" เรื่องนี้ยังเป็นมรดกตกทอดมาถึงยุคปัจจุบันหรือไม่ ศ. ดร. เกษียรเห็นว่า ฉันทามติไม่ใช่สิ่งหยุดนิ่งตายตัว แต่มีการคลี่คลายขยายตัว และอยากเติมว่าเป็นสิ่งที่เพิ่งสร้างขึ้นด้วยซ้ำ อย่างธรรมเนียมประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็เพิ่งเกิดขึ้นในรัชสมัยของ ร. 9

เขายังอ้างถึงงานวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของ ศ.ดร. ธงทอง จันทรางศุ ที่ระบุว่า พระราชอำนาจของในหลวง ร. 9 ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขส่วนที่สำคัญที่สุดคือส่วนที่ไม่ได้เขียนไว้ในกฎหมาย แต่เกิดจากการยอมรับ เห็นพ้องต้องกัน และมีอยู่จริง จนกลายเป็นฉันทามติ

ขณะที่ อาสาให้ความเห็นว่า สิ่งที่เรียกว่า "ฉันทามติภูมิพล" ไม่มีแล้ว แต่อะไรจะเป็นฉันทามติใหม่ ยังต้องหาคำอธิบายใหม่

AFP/GETTY IMAGESคำบรรยายภาพสถานีโทรทัศน์แพร่ภาพ ร. 9 โปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ. สุจินดา คราประยูร และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานกระแสพระราชดำรัสเพื่อเตือนสติ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2535


ช่วงสูงสุดของพระราชอำนาจ

ในการศึกษาการก่อรูปและความเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายชนชั้นนำไทยในห้วง 40 ปีของอาสา พบว่า หลังเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" เป็นช่วงที่พระราชอำนาจนำของในหลวง ร. 9 ขึ้นสู่กระแสสูงสุด เมื่อในหลวงเรียกคู่ขัดแย้งเข้าเฝ้าฯ ทุกอย่างก็สงบ

"พระราชอำนาจนำถือเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์ของสังคมไทยตั้งแต่ปี 2535-2540 อีกทั้งกระแสพระราชดำรัสและแนวพระราชดำริมีพลานุภาพโน้มน้าวสังคมให้เดินตามโดยไม่ต้องบังคับ และถูกนำไปปฏิบัติอย่างกระตือรือร้นจากภาคส่วนต่าง ๆ อยากสนองพระราชประสงค์เพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีงาม" อาสากล่าว

เขายกตัวอย่างว่า พระราชดำรัสในวันที่ 4 ธ.ค. ของทุกปี หลายเรื่องถูกชูให้เป็นวาระแห่งชาติ เช่น เศรษฐกิจพอเพียงมาจากพระราชดำรัสปี 2540 ส่วนการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนขุนด่านปราการชล ก็มาจากพระราชดำรัสปี 2536 จึงถือว่า "นี่คือเมกะโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นจากพระราชอำนาจนำอย่างแท้จริง"

แนวคิด "สถาบันพระมหากษัตริย์เชิงเครือข่าย" ดันแคน แมคคาร์โก นักวิชาการชาวอังกฤษ นำเสนอขึ้นเป็นคนแรกในงานเขียนของเขา ซึ่งไปท้าทายแนวคิด "อำมาตยาธิปไตย" (Bureaucratic Polity) ของ เฟร็ด ดับบลิว ริกส์ ที่มีอิทธิพลครอบงำการวิเคราะห์การเมืองไทยมายาวนาน ก่อนที่ อาสา ผู้มีอีกสถานะเป็นนักวิจัยสถาบันไทยคดีศึกษา ม. ธรรมศาสตร์ จะหยิบยกมาเป็นแนวคิดหลักในดุษฎีนิพนธ์ของเขา และใช้เวลาศึกษาค้นคว้าเอกสารหลักฐานต่าง ๆ นานถึง 6 ปี จนได้รับการยกย่องจาก ศ.ดร. เกษียรในฐานะกรรมการสอบดุษฎีนิพนธ์ว่างานชิ้นนี้คือ "ส. ศิวรักษ์ที่มีเชิงอรรถ"


BBC THAI
คำบรรยายภาพงานเสวนา "นักวิจัยรุ่นใหม่ รัฐศาสตร์หลากฉากทัศน์" จัดโดยคณะรัฐศาสตร์ ม. ธรรมศาสตร์ เมื่อ 15 พ.ย.