นี่เป็นอีกข้อยืนยันว่า ‘ดีสิ’ ตามคำถามเชิงปรารภของ วรเจตน์ ภาคีรัตน์
นักกฎหมายมหาชนแห่ง ‘คณะนิติราษฎร์’ เอ่ยไว้เมื่อปี
๒๕๕๙ เมื่อ มีชัย ฤชุพันธุ์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ‘วิเศษ’
ให้ คสช.เสร็จหมาดๆ ว่า
“ไม่มีศาลรัฐธรรมนูญเสียดีไหม”
คำวินิจฉัย (๗ ต่อ ๒) ของศาลรัฐธรรมนูญ
๑๔/๒๕๖๒ เมื่อ ๒๐ พฤศจิกายน ว่า ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ สิ้นสุดสภาพการเป็น ส.ส.
(ย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่ถูกสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ ๒๓ พฤษภาคม
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องจาก กกต.ไปพิจารณา) นั้น
เป็นอีกหลักฐานที่แสดงว่าศาลรัฐธรรมนูญแสดงบท
‘องค์กรวิเศษ’ สูงสุดทางการเมือง
มีอำนาจเด็ดขาด “ผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี
ศาลและองค์กรอื่นของรัฐ” ทั้งที่องค์กรชนิดนี้ควรต้องยึดโยงทางประชาธิปไตย
และมีที่มาตรงจากประชาชน แต่นี่ไม่ใช่
แล้วยังการวินิจฉัย
“เป็นการวางทับ
‘มาตรหรือบรรทัดฐานใหม่’ ที่ศาลรัฐธรรมนูญสร้างขึ้นมาเอง” อีกทั้ง “อ้างอิง
‘ตัดต่อ’ บทบัญญัติแห่งกฎหมายบางมาตรามาเพียงบางท่อนบางส่วนเพื่อประกอบให้สอดรับกับธงแห่งคดี”
บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยฯ
เขียนโดย ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ นักวิชาการนิติศาสตร์ อีกหนึ่งในคณะนิติราษฎร์
ซึ่งอยู่ระหว่างทำปริญญาเอกในเยอรมนี ตีพิมพ์โดยนิตยสาร ‘เวย์’ ชี้ให้เห็นการบิดผันหลักการทางกฎหมายสามัญ
(และสากล) โดยศาลรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง
ข้อแรกเลย
การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคราวนี้
ในประเด็นการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก้าวเลย ‘กลไก’ ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบออกไป ในเมื่อ “ไม่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญได้บัญญัติกลไกและผู้มีอำนาจวินิจฉัย”
เรื่องการขาดคุณสมบัติ ส.ส.ไว้
“จะมีก็แต่เฉพาะใน
พ.ร.ป.เลือกตั้ง สส.
เท่านั้นที่บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละกรณี”
ซึ่งในกรณีนี้ปูนเทพอธิบายว่า “พ.ร.ป.เลือกตั้ง สส.
ไม่ได้มีการกล่าวไว้ถึงกรณีที่ปัญหาเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครพรรคการเมืองแบบบัญชีรายชื่อ”
นั่นคือขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร
ส.ส. กับการตรวจลักษณะต้องห้ามไม่ให้เป็น ส.ส.นั้นแยกจากกัน
แต่ว่าศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องกรณี ‘ธนาธร’ โดย “ผสมปนเปให้ทั้งสองเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน”
ประเด็นต่อมาเกี่ยวกับ
“ลักษณะต้องห้ามการเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน”
ปูนเทพชี้ว่าศาลตีความอย่าง ‘ล้นเกิน’ จน “สะท้อนทัศนคติว่าผู้ใช้กฎหมายนั้น
ไม่เคารพในวิจารณญาณหรือความมีเหตุมีผลในตัวเอง ของประชาชนหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง”
ทั้งนี้จากการที่ศาลฯ
ให้นิยามความหมายของ ‘หนังสือพิมพ์’ อัน ‘ต้องห้าม’
ต่อการเป็น ส.ส.ของธนาธร เพราะ (เคยได้) เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ‘วี-ลัคมีเดีย’ แม้จะ
“หยุดกิจการโดยยุติการผลิตนิตยสารและเลิกจ้างพนักงานบริษัท” แล้ว
แต่
“ตราบใดที่ยังมิได้จดทะเบียนเลิกบริษัทและแจ้งยกเลิกเป็นผู้พิมพ์...ก็ยังคงเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อมวลชนอยู่”
การตีความเช่นนี้ไม่ได้คำนึง ‘เคร่งครัด’ ถึง “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมาย (มาตรา ๓๔)” ฯลฯ
ประการที่สาม
ศาลอ้าง “ข้อพิรุธหลายจุดหลายประการ” ในข้อต่อสู้ของผู้ถูกร้องเรื่อง “ประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสาม และมาตรา ๑๑๔๑ นั้น” ปูนเทพแย้งว่า
“ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้
‘มี’
หรือ ‘อ้าง’ พยานหลักฐานใดเลยที่เป็นการโต้แย้งปฏิเสธ”
ได้ “มีก็แต่เพียงการสอดแทรกวิสัยที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าผู้ถูกร้อง
มารดาผู้ถูกร้อง หรือภริยาผู้ถูกร้อง ‘ควรทำ’ หรือ ‘อาจทำได้’”
ศาลรัฐธรรมนูญจัด ‘สร้าง’ แบบแผนทางประพฤติให้แก่ผู้ถูกร้องว่า
“ปกติวิสัยของนักลงทุนทั่วไป และแนวทางการดูแลกิจการในครอบครัว” ขึ้นมาเอง เพื่อเป็นมาตรวินิจฉัยความน่าเชื่อถือของผู้ถูกร้องในคดีนี้
“แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่ ‘ต้องทำ’ ตามกฎหมายก็ตาม”
มิหนำซ้ำศาลยัง
“อ้างอิง ‘ตัดต่อ’
บทบัญญัติแห่งกฎหมายบางมาตรามาเพียงบางท่อนบางส่วนเพื่อประกอบให้ ‘เจือสม’ หรือสอดรับกับธงแห่งคดีอย่างบิดเบือน”
เช่นอ้าง กม.แพ่งฯ มาตรา ๙๙๐ ด้วยการ “สรุปและแทรกเพิ่มคำ”
ว่า “ผู้ถูกร้องมี
‘หน้าที่’ นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินภายในหนึ่งเดือน”
แต่กลับนำเช็คไปขึ้นเงินล่าช้า จนเป็นข้อพิรุธให้ศาลวินิจฉัยว่าผิด เพราะถ้าเอาเช็คไปขึ้นช้าแล้วธนาคารไม่จ่ายก็จะเสียหาย
เป็นต้น
ทั้งๆ
ที่ “ในกรณีอื่นๆ ซึ่งแม้จะล่วงพ้นเกินระยะเวลาหนึ่งเดือนไปแล้ว
ก็สามารถเรียกเก็บเงินจากธนาคารได้โดยไม่มีปัญหา”
(https://waymagazine.org/analysis-constitutional-court-disqualified-thanathorn/ และ https://prachatai.com/journal/2016/02/63944)
สรุปว่าการวินิจฉัยด้วยความ ‘วิเศษ’ ของศาลโดยไม่ต้องตรงตามหลักการและข้อกฎหมาย
แสดงความยิ่งใหญ่ ‘เหนือรัฐธรรมนูญ’
ของคน ๗ คนที่ คสช. (คณะยึดอำนาจ) จับวางไว้นี้
กระทำโดยไม่เห็นหัวประชาชนเลยแม้แต่นิด
แล้วประชาชนจะยังอยากเก็บไว้ให้หนักกบาลไปทำไม