วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2562

อยากให้อ่าน เรื่องเล่าจากกรรมาธิการการแรงงาน คดีเลิกจ้างที่ค้างคา 20 ปี จำเลยคือมหาเศรษฐีติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ




เรื่องเล่าจากกรรมาธิการการแรงงาน
สัปดาห์ก่อน
คดีเลิกจ้างที่ค้างคา 20 ปี ลูกจ้างเรียกร้องค่าชดเชยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะถูกเลิกจ้างในวัยใกล้ 60 ไม่สามารถไปทำอะไรได้ ฟ้องร้องกันมา 20 ปี จาก 200คน ยังมีชีวิตอยู่เพียงแค่ 50 คนที่เหลือแก่หรือป่วยตายหมดแล้ว ฝั่งจำเลยคือมหาเศรษฐีติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศ ส่งผู้แทนมา
ข้อเสนอของฝั่งอดีตลูกจ้างไม่ใช่เรื่องเงิน แต่เป็นความเมตตาครั้งสุดท้าย เพื่อยืนยันตัวตนของพวกเขาคนงานที่ภักดีมากว่าสามสิบปี
'ให้แล้วก็คงไม่จบ...คงเรียกร้องไม่จบสิ้น เงินของท่าน...ก็มาจากการทำธุรกิจไม่ได้เก็บจากข้างถนน จะให้เรื่อยเปื่อยไม่ได้'
ฝั่งลูกจ้างวัยใกล้ 80 พวกเขาน้ำตาตก ยกมือไหว้ แต่ฝั่งอดีตนายจ้างอภิมหาเศรษฐี ปฏิเสธไม่เจรจาท่าเดียว
'บริษัทท่านร่ำรวยมาก ทำบุญทำทานมหาศาลอันนี้คนเก่าแก่ที่อยู่มานาน ขอความกรุณา เป็นการทำบุญแม้เล็กน้อยก็สำคัญสำหรับแรงงาน บริษัทท่านก็ยังได้ชื่อเสียงจากเรื่องนี้'
กรรมาธิการท่านหนึ่งเอ่ย แต่ผู้แทนบริษัทยืนกรานว่า เจ้าของบริษัทให้ทำตามสิ่งที่เคยมีมา

ผมค้นดูบริษัทนี้ค่าใช้จ่าย csr ครั้งหนึ่งหลัก 100 ล้านบาท ข้อเสนอของกลุ่มแรงงานนี้มูลค่าเพียง 5-10 ล้านบาทสำหรับ 50 คนที่ยังมีชีวิตเหลืออยู่

เพราะเขาคิดแบบนี้เขาจึงรวยระดับโลก ระดับประเทศ? ผมคิดในใจ
'ท่านไม่ได้เก็บเงินจากข้างถนน ท่านทำธุรกิจมา' คำพูดนี้มันฝังในหัวผม เงยหน้ามองผู้ใช้แรงงานที่มาฟ้องเงินงวดสุดท้ายก่อนตาย
คิดในใจว่า พวกเขาก็ไม่ได้จนจากท้องพ่อท้องแม่แต่จนเพราะทำให้นายทุนพวกนั้นรวยขึ้นๆ
ไม่ใช่เรื่องเงิน แต่คือเรื่องตัวตน เขายังเรียกเจ้าของบริษัทท่านนั้นด้วยความเคารพ เล่าถึงเรื่องราวที่เคยทำงานให้เมื่อสี่สิบปีที่แล้ว

การจากกันครั้งสุดท้าย นายทุนยังไร้หัวใจ

ภาพผู้ร้องเรียน กับสุเทพ อู่อ้น (หันหลัง) ประธานกรรมาธิการการแรงงาน