ปีหน้าเตรียมรัดเข็มขัดให้แน่น ผ่านไป 10 เดือน โรงงานปิดแล้วกว่า 1,400แห่ง
ที่มา zab7.com
12 พ.ย.62
ณ ตอนนี้ต้องเรียกได้ว่า ไม่มีสัญญาณที่ดีทางเศรษฐกิจออกมาจากทั้งภาคการผลิต ภาคเอกชน ภาคการเงิน และประชาชนเลยครับ ถ้าหากไม่นับการแถลงข่าวว่า “ตัวเลขทางเศรษฐกิจยังดีอยู่” แม้จะขัดความรู้สึกประชาชนหลายคนว่า “เศรษฐกิจไทยกำลังแย่” เพราะตัวเลขจากกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม ชี้ชัดว่า…
เศรษฐกิจไทยค่อนข้างน่ากังวลแล้ว ดูได้จากข้อมูลในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 มีผู้ประกอบการมาแจ้งจำหน่ายทะเบียนโรงงานหรือมาแจ้งเลิกกิจการแล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,339 โรงงาน มีพนักงานรวมทั้งสิ้น 34,569 คน และคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวมราว 56,957 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมาก หากเทียบเท่ากับจำนวนการลงทุนและพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการเลิกจ้างและครอบครัว
บางบริษัทเลือกที่จะประกาศหยุดงาน โดยจ่ายค่าจ้างไม่เต็มจำนวน เป็นผลกระทบจากยอดออเดอร์ที่ลดลงจากต่างประเทศและวิกฤตเงินบาทไทยแข็งตัวมากเกินไป ซึ่งการจ่ายเงินไม่เต็มจำนวนนั้น เป็นเสมือนการบีบอ้อมๆ ให้พนักงานนั้นลาออกโดยบริษัทไม่ต้องชดเชยการเลิกจ้าง เพราะพนักงานส่วนมากนั้นแทบจะใช้เงิน 100% ในการประทังชีวิต หากได้หยุดงานจริง แต่ได้เงินในสัดส่วนเพียง 70-80% ก็ไม่สามารถอยู่รอดในชีวิตประจำวันได้
ปัญหาต่อมาก็คือผลกระทบทางครอบครัวซึ่งบางคนที่ถูกเลิกจ้าง นอกจากครอบครัวของตัวเองแล้ว ยังมีคุณพ่อคุณแม่ญาติผู้ใหญ่ที่ต้องดูแลอีกด้วย แถมมีภาระการผ่อนชำระรายเดือนอีกด้วย
สิ่งที่น่าวิตกก็คือตลาดแรงงานในปัจจุบันนั้น
มีตำแหน่งงานรองรับไม่เพียงพอหรือไม่?
เพราะหลายบริษัทก็ชลอตัวในการขยายกิจการออกไปเพื่อดูสถานการณ์เศรษฐกิจ อีกทั้งปีหน้าก็จะมีบัณฑิตจบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มอีกด้วย
สิ่งที่ aomMONEY มองว่าพอจะช่วยได้ตอนนี้ก็คือ “การรัดเข็มขัด” เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสในการสร้างวินัยทางการเงิน เช่น การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างแม่นยำครบถ้วน การตัดความไม่จำเป็นในส่วนการบริโภคให้ลดลงเช่น การทานข้าวนอกบ้าน หรือเครื่องดื่มราคาแพงก็ควรลดลง งดการช้อปปิ้งออนไลน์ในกรณีที่ไม่จำเป็น
เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าวิกฤตดังกล่าวจะอยู่กับเราไปนานเท่าใด
หรือเราจะต้องพบเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกี่ยวกับงานที่เราทำอยู่เมื่อไหร่
แต่สิ่งที่เราต้องรู้ ก็คือ ณ สถานการณ์ปัจจุบันนี้และอนาคตที่กำลังจะมาถึง เรามีความพร้อมในการรับมืออย่างไร มีน้อยใช้น้อย มีเยอะก็ต้องเหลือเก็บ ไม่ใช่ว่าใช้หมด เพราะอนาคตนั้นไม่แน่นอน
แม้เศรษฐกิจจะไม่ได้แก้ได้ที่ตัวเรา
แต่การเอาตัวรอดนั้นตัวเรามีส่วนสำคัญที่สุด
ยุคนี้อาจไม่ใช่ยุคเติบโตร่ำรวย แต่คือยุคแห่งการเอาตัวรอดให้ได้
ขอบคุณ aomMONEY
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ https://www.thansettakij.com/