วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 28, 2562

เปิดหลักฐานจอมฟ้องของ คสช. เจอความต่างของ 'นักรบ' กับนัก 'ตลบแตลง'


ศูนย์ทนายสิทธิมนุษยชน หรือ TLHR เปิดหลักฐานจะแจ้งยืนยันว่าในปี ๒๕๖๑ หลังจากที่ คสช.เริ่มเพลามือในการจับคนไปปรับทัศนคติเพื่อสร้างภาพพจน์เข้าสู่การเลือกตั้งนั้น มิได้ตั้งใจผ่อนปรนการกดขี่ประชาชนที่ไม่ต้องการคณะมาทหารปกครอง

หากเป็นเพียงการเปลี่ยนยุทธวิธี ตบตาชาวโลกที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยและคัดค้านเผด็จการ ให้ดูเหมือนว่า คสช.ยึดอำนาจเพียงเพื่อแก้ปัญหาความแตกแยกเท่านั้น และเหตุที่ต้องการอยู่นานถึง ๒๐ ปี เพื่อให้มีความสงบราบคาบยาวนาน

หลักฐานดังกล่าวมาจากคำฟ้องของ คสช.ต่อกลุ่มคน อยากเลือกตั้งในการชุมนุมเรียกร้องริมถนนราชดำเนินเมื่อ ๑๐ กุมภา ๒๕๖๑ ซึ่งเรียกกันว่าคดี RDN50 ฟ้องร้องแกนนำ ๗ คน ในข้อหาร้ายแรง มาตรา ๑๑๖ และการขัดคำสั่ง คสช. ที่ ๓/๒๕๕๘

มีการแยกผู้ต้องหาเป็นสองกลุ่ม ฟ้องสองคดี เนื่องจากหนึ่งใน ๗ คนนั้น (รังสิมันต์ โรม) ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทั้งสองสำนวน “ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องคดีไปเมื่อวันที่ ๒๐ ก.ย. ๖๒
 
โดยศาลเห็นว่าการชุมนุมของกลุ่มจำเลยเป็นไปโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่มีความรุนแรง ความวุ่นวาย ไม่มีการใช้กำลังบีบบังคับให้รัฐบาล” ทั้งนี้โดยมีเอกสารประกอบสำนวนชุดหนึ่ง จำนวน ๒ แผ่นเรียกว่า หมาย จ.๑๔ ที่เป็นเอกสารผี

เพราะ “ไม่ได้มีการระบุชื่อผู้จัดทำ หน่วยงานที่จัดทำ หรือไม่ได้มีการลงนามโดยเจ้าหน้าที่รัฐคนใด” แต่แสดงชัดเจนว่าเป็นหลักฐานและหลักการสนับสนุนคำฟ้อง โดยนำเสนอ ข้อดีและข้อเสียของปฏิบัติการใช้ชนักปักหลังนักกิจกรรมประชาธิปไตยด้วยคดีความ

ศูนย์ทนายฯ วิเคราะห์เนื้อหาเอกสารผีนั้นออกมาจะจะหลายประเด็น คือ

๑.มีการแบ่งฝ่ายระหว่าง คสช. (ฝ่ายเรา) กับ “ประชาชนที่ออกมาต่อต้าน หรือเคลื่อนไหวทางการเมือง” อันทำให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งถูกจัดให้เป็น ฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลและกองทัพประดุจดัง “ศัตรู ที่ต้องสู้รบด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อหยุดยั้งและป้องปรามการเคลื่อนไหวเอาไว้”

๒.คสช.ใช้ “การแจ้งความทางกฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพื่อทำให้การชุมนุมหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องยุติลง หรือเป็นไปได้ยากขึ้น” เนื่องจากแกนนำถูกจำกัดเสรีภาพ เป็นความกดดันทางรูปคดี

ชี้ให้เห็นถึงการใช้การดำเนินคดีทางกฎหมาย เพื่อปิดปากนักกิจกรรมและผู้เห็นต่าง เพื่อเป็นการสร้างภาระต่อการเคลื่อนไหวทางการเมือง (SLAPP: Strategic Lawsuit Against Public Participation)

๓.มีการมุ่งแจ้งความดำเนินคดีอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงรูปคดี คำของ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นักฟ้องของ คสช.ตัวเอกในปฏิบัติการ พูดทำนองว่าฟ้องทิ้งไว้ปล่อยให้เป็นหน้าที่พนักงานสอบสวนติดตามคดี

ทั้งนี้อ้างว่า ช่วยให้ลดแรงกดดันอันเกิดจากองค์การสิทธิมนุษยชนนานาชาติได้

และ ๔. “เนื้อหาเอกสารระบุชัดเจนถึงการเสนอให้นำปฏิบัติการข่าวสาร (IO) มาใช้ต่อประชาชน” โดย “การสร้างเนื้อหาในลักษณะโจมตีต่อกลุ่มผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง

ว่าไม่ใช่พลังบริสุทธิ์ มีแกนนำเสื้อแดงเป็นผู้ขับเคลื่อน เป็นการสร้างความแตกแยกในสังคม”
 

ในทางการเมืองของพลเรือน มีการใช้เล่ห์เพทุบายต่างๆ เพื่อเอาเปรียบ เอาชนะฝ่ายตรงข้าม ที่เรียกกันติดปากมานานว่า วิชามารทางทหารก็มียุทธวิธีและยุทธการใต้ดิน ไม่เปิดเผยและอำพราง คณะยึดอำนาจนำเอาชั้นเชิงการโกงเหล่านั้นมาใช้กับพลเรือน เพื่อการครองอำนาจยาวนาน

ความต่างระหว่างการใช้ยุทธการดังกล่าวในสมรภูมิ กับใช้ต่อประชาชนที่มีความคิดอ่านของตน ก็คือ นักรบ กับนัก ตลบแตลง