"ชิมช้อปใช้" มาตรการล่มดันเศรษฐกิจเหลว
19 พ.ย. 2562
โพสต์ทูเดย์
โดย...เกียรติศักดิ์ ผิวเกลี้ยง
ในช่วงเวลาไม่ถึง 2 เดือน มีความผันผวนกับ มาตรการ "ชิมช้อปใช้" จากมาตรการที่คนแย่งกันอดหลับอดนอนเพื่อจองให้ได้สิทธิ์ กลายเป็นมาตรการที่คนเมินจองสิทธิ์ไม่หมด ทำให้มาตรการดูสิ้นฤทธิ์ที่กระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วย
หากย้อนไปไม่นานเมื่อปลายเดือน ก.ย. 2562 มาตรการ "ชิมช้อปใช้" เฟส 1 รับผู้ลงทะเบียน 10 ล้านคน มีประชาชนลงทะเบียนผ่านเว็บ "ชิมช้อปใช้" วัน ละ 1 ล้านคน ใช้เวลา 10 วันจองเต็มหมด
มาตรการ "ชิมช้อปใช้" เฟส 1 ได้รับความสนใจมาก เพราะผู้ได้สิทธิ์ จะได้วงเงินเป๋าตัง 1 จำนวน 1,000 บาท เพื่อท่องเที่ยวในจังหวัดที่ลงทะเบียนไว้ และ สิทธิ์เป๋าตัง 2 ด้วยการเติมเงินใส่แอปเพื่อใช้ซื้อสินค้าได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาท ได้เงินคืน 15% หรือ 4,500 บาท ในทุกจังหวัดยกเว้นจังหวัดที่ตัวเองอยู่
มาตรการชิมช้อปใช้เฟส 1 มีระยะเวลาถึงสิ้นเดือน พ.ย. 2562 โดยรัฐบาลคาดหวังว่า วงเงินเป๋าตัง 1 จำนวน 1,000 บาท ที่ได้ฟรี จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนเดินทางออกไปเที่ยว และเงินเป๋าตัง 2 ที่คนได้สิทธิ์ต้องเติมเงินตัวเอง เพื่อจ่ายซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการกว่า 1 แสนร้านค้า จะเป็นเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจจริงๆ
แต่เมื่อถึงเวลาที่ผู้ได้สิทธิ์เริ่มใช้เงิน ปรากฎว่า ใช้เงินแต่ในเป๋าตัง 1 ไม่ใช้เป๋าตัง 2 หรือ พูดง่ายๆ ว่า ใช้แต่เงินที่ได้ฟรี ส่วนเงินที่ต้องควักจ่ายเองไม่มีใครใช้
ปัญหาดังกล่าว ทำให้รัฐบาลออก มาตรการ "ชิมช้อปใช้" เฟส 2 เมื่อปลายเดือน ต.ค. 2562 โดยมีการรับลงทะเบียนเพิ่มอีก 3 ล้านคน มีการเพิ่มแรงจูงใจคนใช้เงินในเป๋าตัง 2 ในส่วนที่เกิน 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 5 หมื่นบาท จะได้เงินคืน 20% เท่ากับหากผู้ใช้สิทธิ์ในเป๋าตัง 2 เต็ม 5 หมื่นบาท จะได้เงินคืนจากรัฐบาลถึง 8,500 บาท พร้อมทั้งมีการขยายอายุของมาตรการไปจนถึงสิ่้นเดือน ธ.ค. 2562
ปรากฎว่า ในส่วนของการลงทะเบียนคนยังแห่ลงเต็มอย่างรวดเร็วเหมือนเฟส 1 ที่ผ่านมา แต่ในส่วนของการใช้เงินยังเหมือนเดิม คือ ใช้แต่วงเงินเป๋าตัง 1 จนหมดเกลี้ยง แต่เป๋าตัง 2 กลับมาคนใช้น้อยมาก
จากข้อมูลของกระทรวงการคลัง มาตรการ "ชิมช้อปใช้" เฟส 1 และ 2 มีผู้ได้สิทธิ์ 13 ล้านคน มีการใช้จ่ายเงินประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท กว่า 1 หมื่นล้านบาท เป็นการใช้วงเงินในเป๋าตัง 1 ที่รัฐบาลให้ฟรี 1,000 บาท แต่เป๋าตัง 2 กลับมคนเติมเงินใช้ซื้อสินค้าไม่ถึง 1,000 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้จะมีคนใช้เงินในเป๋าตัง 2 จำนวน 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่ม 0.2-0.3%
จากข้อมูลของ มาตรการ "ชิมช้อปใช้" เฟส 1 และ 2 ที่ออกมา รัฐบาลก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มาตรการ "ชิมช้อปใช้" ไม่ออกฤทธิ์อย่างที่คาดหวังไว้ ทำให้ไม่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจไทยกระเตื้องขึ้น และขยายตัวได้ 3% อย่างที่รัฐบาลฝันอยากให้เป็น
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลยังฝืนที่จะออก มาตรการ "ชิมช้อปใช้" เฟส 3 เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนทำให้มาตรการ "ชิมช้อปใช้" ทั้งหมดถึงกาลอวสาน มีมาตรการก็เหมือนไม่มี เพราะยิ่งออกมากยิ่งไม่น่าสนใจ
สำหรับ มาตรการ "ชิมช้อปใช้" เฟส 3 ให้การลงทะเบียนเพิ่มอีก 2 ล้านคน ให้สิทธิ์ได้แต่เป๋าตัง 2 ที่ต้องเติมเงินซื้อสินค้า และขยายเวลาของมาตรการไปจนถึงสิ้นเดือน ม.ค. 2563 และปลดล็อกให้ใช้จ่ายได้ทุกจังหวัด
เมื่อไม่ได้สิทธิ์เป๋าตัง 1 ที่รัฐแจกเงินฟรีให้ 1,000 บาท ทำให้คนสนใจลงทะเบียนเฟส 3 น้อยลง โดยการลงทะเบียนเมื่อวันที่ 14-16 พ.ย. ให้บุุคคลทั่วไปลงทะเบียน 1.5 ล้านคน ถึงจะเต็ม ส่วนอีก 5 แสนคน รัฐบาลให้สิทธิ์ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี เปิดให้จองวันแรก 17 พ.ย. 2562 มีคนจองแค่ 9 หมื่นคน และวันที่ 18 พ.ย. ล่าสุด มีคนจองอีก 3 หมื่นคน ยังเหลืออีก 3.5 แสนคน ที่คาดว่าต้องใช้เวลาอีกหลายวันถึงจะจองเต็ม ซึ่งทำให้มาตรการ "ชิมช้อปใช้" เริ่มดูไม่ดีไร้มนต์ขลัง
กระทรวงการคลังรายงานตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.จนถึงวันที่ 17 พ.ย. ผู้ได้สิทธิ์ชิมช้อปใช้ มีการใช้จ่ายรวม 13,117 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่ายจากเป๋าตัง 1 จำนวน 11,569 ล้านบาท สำหรับเป๋าตัง 2 มีผู้เริ่มใช้สิทธิ์จำนวน 117,859 ราย มียอดการใช้จ่ายรวม 1,548 ล้านบาท หรือเฉลี่ยรายละประมาณ 13,134 บาท โดยเพิ่มขึ้นวันละกว่า 100 ล้านบาท
จากตัวเลขที่ฟ้องชัดว่า มาตรการชิมช้อปใช้ ที่ตั้งเป้าให้การใช้เงินจากเป๋าตัง 2 เป็นเม็ดเงินก้อนโตเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจดับสนิท จำนวนผู้ใช้เงินจากเป๋าตัง 2 คิดเป็นแค่ 1% ของผู้ได้สิทธิ์ จำนวนเงินก็ยังห่างไกลจากเป้าที่ตั้งไว้ไกลมาก
การขยายเวลามาตรการไปจนถึงสิ้นเดือน ม.ค. 2563 กลายเป็นจุดอ่อนของมาตรการ ชิมช้อปใช้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ต้องการบีบให้คนใช้เงินในปีนี้ แต่เมื่อมีการขยายเวลาออกไปถึงต้นปีหน้า ทำให้คนไม่จำเป็นต้องใช้เงิน
ถึงจุดนี้จะบอกว่า มาตรการ "ชิมช้อปใช้" เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ก็ดูเป็นคนใจร้ายใจดำเกินไป แต่น่าจะบอกได้ว่ามาตรการ "ชิมช้อปใช้" ไม่ประสบความสำเร็จ ยิ่งขยายเฟสยิ่งแย่ ยิ่งผ่อนเงื่อนไขยิ่งไม่น่าสนใจ ทำให้มาตรการ "ชิมช้อปใช้" วันนี้อยู่ในสภาพเรือล่ม ตัวมาตรการเองยังไปไม่รอด ส่งผลให้มาตรการนี้ดันเศรษฐกิจเหลวไปด้วย