วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 17, 2562

อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: ต่อสู้อย่างไรไม่ให้ประเทศไทยกลายเป็นสมบัติทุนใหญ่



มหกรรม "ที่ดินคือชีวิต" ครั้งที่ 2 และรำลึก 45 ปีการก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย "อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์" ปาฐกถาเปิดโดยชี้ให้เห็นภาพใหญ่ของทุนบรรษัทร่วมมือกับรัฐ "เปลี่ยนรูปประเทศไทย" ในนามของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซ้ำร้ายที่ดินซึ่งกระจุกตัวกับคนไม่กี่ตระกูลจะยิ่งกระจุกตัวมากขึ้น โดยเขาเสนอให้ภาคประชาสังคมสรุปบทเรียนและใช้มรดกจากรากฐานของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ได้แก่ ความเป็นธรรม สิทธิพลเมือง และเครือข่าย นำไปสู่การต่อสู้เพื่อให้ประชาชนยืนหยัดบนแผ่นดินอย่างมีศักดิ์ศรี ขยายผลเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจเพื่อลดการเก็งกำไรที่ดิน ทำให้ชาวนาได้เป็นเสรีชนบนที่ดินของตัวเอง และทำให้ขาอีกข้างของประชาชนสามารถอยู่บนกิจกรรมสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยทิ้งท้ายว่าถ้ายุคนี้ไม่เริ่มต่อสู้เรื่องความเหลื่อมล้ำ ลูกหลานในวันข้างหน้าจะลำบากหนักกว่าเดิม 

16 พ.ย. 2562 ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในมหกรรม "ที่ดินคือชีวิต" ครั้งที่ 2 "หยุดวิกฤตความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมที่ดินไทย" และการรำลึก 45 ปีการก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวปาฐกถาเปิดในหัวข้อ "ทศวรรษที่ห้า: ชุมชนชาวนาในยุคเสรีนิยมใหม่" โดยชี้ให้เห็นภาพใหญ่ของทุนบรรษัทร่วมมือกับรัฐ "เปลี่ยนรูปประเทศไทย" ในนามของความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซ้ำร้ายที่ดินซึ่งกระจุกตัวกับคนไม่กี่ตระกูลจะยิ่งกระจุกตัวมากขึ้น 

โดยกระบวนการเบียดขับประชาชนออกจากที่ทำกิน เกิดจากนโยบายของรัฐบาลและแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งไม่ได้สนใจคุณค่าของภาคเกษตร การสร้างโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคในนามเขตเศรษฐกิจพิเศษ และโครงการของรัฐ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนที่ดินเป็นสินค้าอย่างเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดเบียดขับชาวนาประเภทเช่าที่ดิน รวมทั้งเกิดการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินมากขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้ไม่มีทางที่คนตัวเล็กตัวน้อยจะครอบครองที่ดินได้ คนที่มีเงิน หรือกลุ่มทุนใหญ่เท่านั้นที่จะสามารถลงมาเล่นเกมการทำให้ที่ดินเป็นสินค้าได้มากขึ้น อย่างที่กำลังเกิดขึ้นกับชาวนาเช่าที่ฉะเชิงเทรา ซึ่งที่ดินจะเปลี่ยนมือไปเป็นที่สำหรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC 

ในการปาฐกถาซึ่งผู้เข้าร่วมมาจากเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวในประเด็นความเหลื่อมล้ำ ทรัพยากร และที่ดินทำกิน อาทิ พีมูฟ เครือข่ายสลัมสี่ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ฯลฯ อรรถจักร์เสนอให้ภาคประชาสังคมสรุปบทเรียนและใช้มรดกจากการต่อสู้ที่สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย วางรากฐานได้แก่ ความเป็นธรรม สิทธิพลเมือง และเครือข่าย นำไปสู่การต่อสู้เพื่อให้การยืนหยัดบนแผ่นดินของประชาชนมีศักดิ์ศรี ขยายผลเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจเพื่อลดการเก็งกำไรที่ดิน เพื่อให้ชาวนาได้เป็นเสรีชนบนที่ดินของตัวเอง หรือทำให้ขาอีกข้างของประชาชนสามารถอยู่บนกิจกรรมสร้างสรรค์ทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย โดยทิ้งท้ายว่าถ้ายุคนี้ไม่เริ่มต่อสู้เรื่องความเหลื่อมล้ำ ลูกหลานในวันข้างหน้าจะลำบากหนักกว่าเดิม 

ในตอนท้ายอรรถจักร์กล่าวด้วยว่า "ท้ายที่สุดสิ่งสำคัญคือต้องบอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับประชาชน เราอาจต้องเคลื่อนไหวเป็นจุดๆ เพื่อบอกว่าการเปลี่ยนโครงสร้างของรัฐในนามโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่างๆ ไม่ง่ายอย่างที่คุณคิด ต้องกลับมาคิดให้มากขึ้น การสร้างกรอบความคิดวันนี้ เราประชาชนยืนยันอยู่จุดเดิม แต่ต้องพัฒนากรอบคิดให้มากขึ้น หนึ่ง ทำให้ทั้งสังคมเห็นว่าความเป็นธรรมทางสังคมเท่านั้นที่จะแก้ไขปัญหา" 

"สอง สิทธิพลเมืองที่เท่าเทียมกัน การต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย อยู่บนฐานของสิทธิพลเมือง สิทธิพลเมืองของเรา กับเจ้าสัวต้องเท่ากัน" 

"และที่สำคัญ ข้อสาม เราต้องสร้างเครือข่ายกันให้กว้างขวางมากขึ้น ถ้าเราทำ 3 อย่างนี้ได้ เราพอจะมีทางทำให้ โครงการเปลี่ยนประเทศไทยที่กำลังเกิดขึ้นนี้ลดทอนความแหลมคมที่จะทำลายสังคม" 

"พี่น้องทุกคน วันนี้ในช่วงเวลานี้เป็นวิกฤตของสังคมชาวไร่ชาวนาอย่างแท้จริง ที่เราไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน หนทางชีวิตที่เราได้สร้างสรรค์ขึ้นมา และฐานชีวิตที่บรรพบุรุษได้มอบให้เราและตกทอดมาถึงทุกวันนี้กำลังถูกทำลาย วันนี้หนักหนา หนักหน่วงกว่าวันในอดีต แต่ไม่ว่าจะหนักหน่วงอย่างไร ผมเชื่อว่าจิตใจที่เราต่อสู้มา เราก็จะต่อสู้กันต่อไป" 

"สิ่งที่ต้องย้ำบอกกับพวกเราว่า วันนี้ถ้าเราต่อสู้ เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อเรา เราต่อสู้เพื่อลูกหลานเรา อนุชนรุ่นหลังของชาติไทย ของสังคมไทย เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นขี้ข้าบรรษัทขนาดใหญ่ที่กำลังครอบคลุมประเทศไทยอยู่" อรรถจักร์กล่าวในที่สุด

#ที่ดินคือชีวิต #สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ #ความจนมันน่ากลัว