วันเสาร์, พฤศจิกายน 09, 2562

เหตุ "แค่กดดัน" ๑๕ ศพที่ยะลา ทำให้เห็นกึ๋น กอ.รมน. พ่องของใคร


นายกฯ (คราวนี้) ยืน (แล้ว) ยัน ไม่เคอร์ฟิว สามจังหวัดชายแดนใต้ “ชี้ ผู้ก่อเหตุแค่ต้องการกดดัน ไม่ใช่ก่อการร้าย” ด้านพี่ใหญ่ คสช.ทั่นรองฯ ก็ ชี้เหมือนกันว่างานตรงนั้นก้าวหน้า แถม “เศรษฐกิจดีขึ้น ความรุนแรงลดลง”

ฝ่ายโปรเฟชเซ่อโฆษกเดี๋ยวนี้ยิ่งเป็นงาน “ย้ำกันอีกครั้ง...ไม่มีการประกาศเคอร์ฟิวส์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” นะ แค่ “ให้อำนาจตามความในมาตรา ๑๘(๒) ให้สามารถประกาศเคอร์ฟิวส์ได้ แต่ยังไม่เคยมีการใช้อำนาจนั้น เพราะยังไม่มีความจำเป็น”

พวกรัฐบาล คสช.๒ นี่ปกครองกันด้วยหลักวิชาภาษาศาสตร์มั้ง เล่นคำ สำบัดสำนวนเสียไม่มี ชุดรักษาความปลอดภัยยะลาตาย ๑๕ ศพนั่น โปรเฟสเซ่อนฤมล ภิญโญฯ ว่า “ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก” หลังจากขวัญกระเจิงกันมาแล้ว

ถ้างั้นที่มีราชกิจจาฯ ประกาศเมื่อ ๗ พ.ย.ว่า “ห้ามบุคคลใดออกนอกเคหสถานในเวลาที่กําหนด ตามที่ผู้อำนวยการ กอ.รมน. หรือผู้อํานวยการศูนย์อํานวยการประกาศกำหนด” อย่างนี้แค่เป็นพิธีการให้อำนาจเท่านั้นหรือ

แล้วทำไมมีถ้อยความ “ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน รวมถึงห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ และให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดอันเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์” ด้วยล่ะ

แม้นว่าจำกัดพื้นที่แค่ “อําเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี อําเภอจะนะ อําเภอนาทวี อําเภอเทพา และอําเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา อําเภอเบตง จังหวัดยะลา อําเภอสุไหงโก-ลก และอําเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส” เท่านั้น

ก็แน่นอนว่าประกาศเด่นชัดให้อำนาจ กอ.รมน. เป็นพ่องทุกองค์กร “เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติ...ให้บรรดาประกาศหรือคำสั่งใดที่ผู้อำนวยการ... (กอ.รมน.) กำหนดขึ้น...ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าจะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น”


นั่นคือคำสั่งปลายเปิด สไตล์เดิมของคณะรัฐประหาร ไม่เชื่อลองฟังโฆษก กอ.รมน.แถลงที่ทำเนียบรัฐบาลบ้างยังได้ พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง แจงผลประชุมของกองอำนวยการฯ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน
 
ว่า กอ.รมน.ได้ทำแผน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เสนอต่อคณะรัฐมนตรี “เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ เพื่อให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้” นี่ไง บีอาร์เอ็นเล่นกดดันอย่างนี้เข้าทาง กอ.รมน.ไหมล่ะ

พล.ต.ธนาธิปสาธยายต่อ ว่าแผนแยบยลของ กอ.รมน.ภาค ๔ ส่วนหน้า ครบวงจร ปฏิบัติการ ๓ ด้านได้แก่ ด้านยุทธการ “ใช้กำลังประชาชนดูแลพื้นที่ ชุมชน/หมู่บ้านของตัวเอง ทดแทนกำลังทหารหลัก” นี่ละที่ ชรบ.ยะลาตายแทนทหารไง

ต่อไป ด้านเศรษฐกิจ (ภาษาไทยสไตล์ กอ.รมน.เรียก “ด้านการพัฒนา”) “มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ตรงกับความต้องการและศักยภาพ ผ่านโครงการพัฒนาของรัฐ” แบบ ช้อปชิมใช้แจกเงินให้ไปซื้อสินค้าเจ้าสัวไง


สำหรับด้านการเมือง “รณรงค์ให้ผู้เห็นต่างจากรัฐหันกลับมาต่อสู้ตามแนวทางสันติ ออกมารายงานตัวและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางกฎหมาย” ทั่นโฆษกฯ ลืมเน้นว่าเป็น กฎหมายของ คสช.น่ะ ดูอย่างคดี ชูป้ายต้านรัฐประหารสิ

ศาลฎีกาเพิ่งตัดสินปรับ ๖ พันบาทต่อผุ้ชุมนุมคัดค้านรัฐประหารเมื่อ พฤษภา ๕๗ รายหนึ่งว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช.ฉบับที่ ๓/๒๕๕๘ ข้อ ๑๒ ซึ่งได้มีการยกเลิกคำสั่งนี้ไปแล้วด้วยคำสั่งใหม่ ฉบับที่ ๒๒/๒๕๖๑

จำเลยฎีกาต่อสู้ว่าการยกเลิกคำสั่ง ๓/๒๕๕๘ ที่ “ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน” ทำให้ตนพ้นความผิด แต่ศาลฎีกากลับตีความพิเรนทร์ว่า การออกคำสั่ง ๒๒/๒๕๖๑ มายกเลิกนั้นใช้เฉพาะในช่วง “ที่จะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไป” เท่านั้น

“การชุมนุมที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้เกิดขึ้นในระหว่างมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร การชุมนุมของจำเลยจึงไม่เข้าข่ายการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมฯ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น”

(อ่านรายละเอียดคำพิพากษาอันสลับซับซ้อนของศาลฎีกาได้จาก https://freedom.ilaw.or.th/th/case/679 และ https://prachatai.com/journal/2019/11/85066)

ทำความเข้าใจตรงนี้ได้ง่ายๆ ว่าตุลาการไทยสยบให้กับรัฐประหารตลอดกาล (และอาจจะทุกชาติไป) ความผิดใดที่คณะรัฐประหารสั่ง ย่อมมีผลบังคับไปจนกว่าตุลาการจะยอมรับหรือรู้จักกับความเป็นประชาธิปไตย