...ดูกันชัดๆ อีกครั้ง #ศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตัดสินคดี #ธนาธร มาจากไหน?https://t.co/PbycIkGHmr pic.twitter.com/ThFZNf9csq— iLaw Club (@iLawclub) November 20, 2019
เปิดรายชื่อ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ที่ส่ัง ‘ธนาธร’ ยุติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราว
7 จาก 9 คน มาจากระบบคัดเลือกของ คสช.
.
วันนี้ (23 พฤษภาคม 2562) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 9 ต่อ 0 รับพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดสภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จากกรณี ถือหุ้นสื่อ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด และมีมติ 8 ต่อ 1 ให้ ธนาธร หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญปัจจุบัน มี 9 คน ประกอบด้วย
1. นุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
2. จรัญ ภักดีธนากุล
3. ชัช ชลวร
4. ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
5. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
6. บุญส่ง กุลบุปผา
7. ปัญญา อุดชาชน
8. วรวิทย์ กังศศิเทียม
9. อุดมศักดิ์ นิติมนตรี
ทั้งเก้าคนเป็นผู้ชาย ที่อายุเกิน 60 ปี คนที่อายุน้อยที่สุด คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อายุ 61 ปี คนที่อายุมากที่สุด อายุ 71 ปี ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าสู่ตำแหน่งด้วยระบบบการสรรหาแบบปกติ
ตามมาตรา 8 ของร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มี 9 คน ประกอบด้วย
๐ ตุลาการ 3 คน มาจาก ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
๐ ตุลาการ 2 คน มาจาก ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้รับคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
๐ ตุลาการ 1 คน มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์
๐ ตุลาการ 1 คน มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์
๐ ตุลาการ 2 คน มาจาก ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นผู้รับหรือเคยรับราชการ
แต่กระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ยังไม่เคยถูกใช้งาน เพราะตั้งแต่ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ เริ่มใช้ในปี 2561 ก็ยังไม่เคยได้ใช้เพื่อสรรหาใครมาดำรงตำแหน่งเลย เพราะในบทเฉพาะกาล มาตรา 80 เขียนไว้สรุปได้ว่า กระบวนการสรรหาตุลากาศาลรัฐธรรมนูญให้เริ่มใช้ได้หลังเปิดประชุมสภาได้หลังการเลือกตั้ง ดังนั้น ตุลาการทั้ง 9 คน จึงมีที่มาจากยุค คสช. และจากยุคก่อน คสช.
..........................................
xx ตุลาการสองคน มาจากระบบคัดเลือกของ คสช. xx
เมื่อ คสช. เข้ายึดอำนาจ แม้รัฐธรรมนูญเดิมจะถูกยกเลิกไป แต่ คสช. ก็ออกประกาศ ฉบับที่ 48/2557 กำหนดให้การสรรหาองค์กรอิสระดำเนินการตามระบบเดิมของรัฐธรรมนูญ 2550 ไปพลางก่อน
ซึ่งตามระบบเดิม คือ ให้มีคณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญซึ่งเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน เป็นกรรมการ แต่เนื่องจากในยุคของ คสช. ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้าน จึงมีเพียงพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หนึ่งในมือกฎหมายของ คสช. เข้าร่วมการสรรหา
เมื่อได้รายชื่อจากการสรรหาแล้ว ตามระบบเดิมต้องให้วุฒิสภาลงมติให้ความเห็นชอบ แต่เนื่องจากในยุคของ คสช. ไม่มีวุฒิสภา จึงส่งเรื่องให้ สนช. ซึ่งเป็นสภาแต่งตั้งที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นทหารและข้าราชการเกษียณอายุ เป็นผู้ลงมติเห็นชอบแทน
วันที่ 9 ตุลาคม 2558 ที่ประชุม สนช. ให้ความเห็นชอบให้นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นอกจากจะเป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และเคยเป็นรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว นครินทร์ยังเคยทำงานเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2 ครั้ง คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 และ ร่างรัฐธรรมนูญ ชุดที่ 1 ในยุคของ คสช. ฉบับปี 2558 นอกจากนี้ในปี 2552-2558 ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญประจำตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของสุพจน์ ไข่มุกด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชุดที่ 2 ของ คสช. ด้วย
วันที่ 29 ตุลาคม 2558 ที่ประชุม สนช. ลงมติให้ความเห็นชอบให้ปัญญา อุดชาชน ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยก่อนหน้านี้ปัญญาเป็นเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ และเคยเป็นคณะอนุกรรมาธิการประสานข้อมูลของคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2558
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้อย่างน้อยสองคน จึงเป็นคนที่เคยทำงานให้กับ คสช. และเข้ามานั่งในตำแหน่งได้โดยผ่านระบบการคัดเลือกของ คสช.
..........................................
xx ตุลาการห้าคนหมดวาระแล้ว แต่ คสช. ต่ออายุมาให้อยู่ยาว xx
เมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนมีเหตุต้องออกจากตำแหน่ง คสช. ก็ได้วางระบบที่ตัวเองพอใจเพื่อรองรับการคัดเลือกคนใหม่เข้าทำหน้าที่แทนไว้แล้ว แต่ในปี 2559 คสช. เห็นว่ากำลังอยู่ระหว่างการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 40/2559 สั่งระงับการสรรหาองค์กรอิสระทุกแห่งเพื่อรอรัฐธรรมนูญประกาศใช้
แต่ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2560 ตุลาการ 5 คน ได้แก่ นุรักษ์ มาประณีต, ชัช ชลวร, บุญส่ง กุลบุปผา, อุดมศักดิ์ นิติมนตรี และจรัญ ภักดีธนากุล จะพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากหมดวาระ เพราะอยู่ในตำแหน่งมาจนครบวาระ 9 ปีแล้ว แต่วันที่ 5 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. จึงใช้อำนาจตาม "มาตรา 44" ออกคำสั่ง ฉบับที่ 23/2560 กำหนดให้สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไปได้เลย โดยไม่ต้องรอรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก
แต่คำสั่งดังกล่าวยังไม่ทันได้ทำงาน วันที่ 20 เมษายน 2560 หัวหน้า คสช. ก็เปลี่ยนใจหันหลังกลับ 180 องศา ใช้มาตรา 44 อีกครั้งออกคำสั่งฉบับที่ 24/2560 ให้งดเว้นการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามคำสั่งก่อนหน้านี้เอาไว้ก่อน และยืดอายุให้ตุลาการทั้ง 5 คนทำงานต่อไปได้ จนกว่าจะมีกฎหมายลูกใช้บังคับ
และเมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ พร้อมด้วยการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรนี้ก็ถูกเลือกให้ยังอยู่ต่อไป ไม่ถูก "เซ็ตซีโร่" เช่นเดียวกับองค์กรอิสระบางแห่ง ส่วนตุลาการที่หมดวาระแล้วแต่ คสช. ใช้ "มาตรา 44" ช่วยยืดอายุไว้ก็ให้ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าจะมีการเรียกประชุมสภาครั้งแรกหลังการเลือกตั้ง
เท่ากับว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนนี้ คสช. ก็ได้เลือกแล้วว่า "ไว้ใจได้" จึงให้คงอยู่ในตำแหน่งยาวเกิน 11 ปี และให้มีหน้าที่คอยตีความบังคับใช้กฎหมายระหว่างการเลือกตั้ง รวมทั้งตัดสินคดีเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองด้วย
สำหรับตุลาการอีกสองคนที่ไม่ได้มีที่มาจากการเข้าแทรกแซงของ คสช. ได้แก่ ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ซึ่งเป็นอดีตอาจารย์สาขากฎหมายอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ วรวิทย์ กังศศิเทียม อดีตข้าราชการอัยการ และตุลาการศาลปกครอง
..........................................
ดูประวัติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ได้ที่ http://www.constitutionalcourt.or.th/th/occ_web/sub.php?nid=970
ดูเรื่อง สี่ปี คสช. เข้ายึดครององค์กรอิสระ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4808
ดูสรุป พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธิพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4657
ดู คำสั่งหัวหน้า คสช. 23/2560 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order23-2560.pdf
ดูคำสั่งหัวหน้า คสช. 24/2560 ได้ที่ http://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order24-2560.pdf
iLaw
https://www.facebook.com/iLawClub/photos/a.10150540436460551/10161961864395551/?type=3&theater