วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 10, 2562

ศึกชิง ปธ.กมธ.แก้รัฐธรรมนูญ : ใครชูธง-ชิงธง-หักธง รื้อรัฐธรรมนูญฉบับ "ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา" ("ชูธง" อนาคตใหม่, "ชิงธง" ประชาธิปัตย์, "หักธง" พลังประชารัฐ บีบีซีไทยว่า...) "มีชัย" NO !!!





อนาคตใหม่ "ชูธง" รื้อ รธน.

ปฏิเสธไม่ได้ว่าพรรคการเมืองแรก ๆ ที่ "ชูธง" แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 คือพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ภายใต้การนำของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ซึ่งได้ประกาศเรื่องนี้หลายกรรมหลายวาระ ตั้งแต่...
  • ยื่นข้อเสนอให้ "ฉีกรัฐธรรมนญ" และล้มล้างทุกผลพวงของการรัฐประหาร 2557 เพื่อคืนความปกติให้สังคม (ประชุมใหญ่สามัญพรรคครั้งแรก 27 พ.ค. 2561)
  • ขอ "ชัยชนะ 3 คูหา" ให้พรรคการเมือง "ฝ่ายประชาธิปไตย" คือ คูหาเลือกตั้ง, คูหาประชามติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 และคูหาประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) (งานเสวนาวิชาการ 14 มิ.ย. 2561)
  • เปิดแคมเปญ "สร้างจินตนาการใหม่ เพื่อข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่" เมื่อ ส.ค. 2562 โดยใช้ยุทธศาสตร์ 3 ขา นอกสภา-ในสภา-ในออนไลน์ รณรงค์รื้อกติกาฉบับ คสช. หลังถอดยุทธวิธีแห่งความสำเร็จของ "ขบวนการธงเขียว" ในช่วงจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 ประเดิมที่ จ. เชียงใหม่ เป็นพื้นที่แรก ก่อนขยายไปภาคอื่น ๆ ของประเทศ และกลายเป็น "แคมเปญร่วม" กับ 7 พรรคฝ่ายค้าน ทว่าเวทีที่เกิดกระแสมากที่สุดคือ จ. ปัตตานี เมื่อ 28 ก.ย. เนื่องจากนักการเมือง นักวิชาการ และภาคประชาชนรวม 12 คนที่ขึ้นเวทีนี้ ถูกนายทหารสังกัด กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า แจ้งความดำเนินคดีในข้อหาแสดงความคิดเห็นเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนและสร้างความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116
  • ส.ส. ฝ่ายค้าน 215 คน นำโดย สุทิน คลังแสง ส.ส. มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) และ ปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ อนค. เสนอ "ญัตติด่วน" ขอให้สภาพิจารณาตั้ง กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เมื่อ 22 ส.ค.



ปฏิบัติการ "ชูธง" รื้อรัฐธรรมนูญของ อนค. เริ่มเป็นผล เมื่อมีการบรรจุญัตติตั้ง กมธ. วิสามัญฯ เข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันที่ 6 พ.ย. โดยที่คนในรัฐบาลก็ออกมาเปิดเผยสัดส่วน กมธ. ชุดนี้ ขณะที่พรรคต่าง ๆ ที่ไม่อยากตก "ขบวนประชาธิปไตย" ก็เริ่ม "ปล่อยชื่อ" บุคคลที่จะเข้ามาร่วมเป็น กมธ. บ้างแล้ว

อย่างไรก็ตามญัตติดังกล่าวต้องเจอ "โรคเลื่อน" หลายครั้งจาก "วาระค้างสภา" ไม่ว่าจะเป็น กระทู้ หรือการรับทราบรายงานฉบับต่าง ๆ ครั้งแรกคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) แย้มว่าต้องเลื่อนไปพิจารณาเป็นวันที่ 13 พ.ย. แต่ล่าสุดบอกว่าเป็นปลายเดือน พ.ย.

ประชาธิปัตย์ "ชิงธง" นำเกมในสภา

ในระหว่างรอคอยวัน-เวลาที่แน่ชัดในการบรรจุญัตติรอบใหม่ ปชป. ได้ส่ง ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส. นครศรีธรรมราช และรองประธานวิปรัฐบาล ไปพูดคุยกับวิปรัฐบาล รวมถึงมีการพบกันของบุคคลระดับ "คีย์แมน" พรรคร่วมรัฐบาลด้วย โดยคาดว่าจะได้ความชัดเจนระดับหนึ่งหลังประชุมวิปรัฐบาล 11 พ.ย. นี้ หลังที่ประชุม ส.ส.ปชป. มีมติเมื่อ 5 พ.ย. เสนอชื่อ อภิสิทธิ์ เป็นประธาน กมธ. วิสามัญฯ โดยมี เทพไท เสนพงศ์ ส.ส. นครศรีธรรมราช คนสนิทของอดีตหัวหน้า ปชป. เป็น "ตัวชง"

ความเคลื่อนไหวของ ปชป. ถือเป็นการ "ชิงธงนำ" จากฝ่ายค้านในการเป็น "หัวหอก" และ "หัวโต๊ะ" ในขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ผ่านกลไกรัฐสภา โดยอาศัยการ "ไม่มีสถานะในสภา" ของอภิสิทธิ์ ชิงเปรียบทางการเมือง



อภิสิทธิ์ วัย 55 ปี เดินหันหลังให้กับรัฐสภาซึ่งเขาทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรมายาวนานถึง 27 ปี หลังพรรคต้นสังกัดมีมติเข้าร่วมรัฐบาลและสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้า คสช. เป็นนายกฯ อีกสมัย ด้วยเพราะในระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง เขาประกาศต่อต้านการ "สืบทอดอำนาจ" ของ คสช. และเคยชี้ให้เห็นกับดักที่เกิดขึ้นจาก "รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย"

การส่งชื่อ อภิสิทธิ์ ชิงตำแหน่งประธาน กมธ. วิสามัญฯ ของ ปชป. ยังช่วยล้างภาพ "ทรยศประชาชน" และ "ฝักใฝ่เผด็จการ" ที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมืองเก่าแก่ที่เข้าร่วมรัฐบาล "ประยุทธ์ 2"

ถึงขณะนี้มีนักการเมืองต่าง ๆ เปิดหน้าสนับสนุน อภิสิทธิ์ เป็นหัวโต๊ะ กมธ. ที่น่าสนใจคือคนเหล่านี้มาจาก "ขั้วฝ่ายค้าน" อาทิ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) เห็นว่า "ดี" เพราะเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และ "เขาบอกว่าไม่เอา พล.อ. ประยุทธ์เพราะเป็นเผด็จการ" เช่นเดียวกับ วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) ที่กล่าวว่าแม้ อภิสิทธิ์ ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่เป็นถึงอดีตนายกฯ "ท่านเข้าใจการเมือง และทุกฝ่ายสนับสนุน ถือเป็นเรื่องที่เป็นนิมิตรหมายที่ดี"

ขณะที่พลพรรค พปชร. ได้ชักแถวออกมาคัดค้านทั้งใน "เชิงดักคอ" และ "เชิงหลักการ" ว่าตำแหน่งประธาน กมธ. ต้องเป็นของ พปชร. ไม่ว่าจะเป็น ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว. ศึกษาธิการ, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว. ยุติธรรม, วีระกร คำประกอบ ส.ส. บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าทีมประท้วงของ พปชร. ฯลฯ

"เป็นไปตามความเหมาะสม และมารยาททางการเมือง" ณัฏฐพลกล่าว

"อยากให้เป็นคนพลังประชารัฐ เพราะเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล" พุทธิพงษ์ระบุ

รัฐมนตรีทั้ง 2 คนเคยเป็นคนการเมืองสังกัด ปชป. ก่อน "ย้ายค่าย" มาร่วมจัดตั้ง พปชร. และกลายเป็น "ผู้มีอิทธิพล" ในพรรคภายใต้ชื่อกลุ่ม "ทหารเสือ กปปส."

พลังประชารัฐ "หักธง" ?

นอกจากความพยายามสกัดชื่อ อภิสิทธิ์ ด้วยความหวั่นเกรงว่าจะกลายเป็น "ฝ่ายค้านในรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ" พปชร. ยังออกอาการ "หวงด้ามธง" หรืออาจถึงขั้นคิด "หักธง" เมื่อมีแหล่งข่าวพรายกระซิบปล่อยชื่อรองประธานสภาคนที่ 2 อย่าง สุชาติ มาเป็นคู่ชิงเก้าอี้ประธาน กมธ. วิสามัญฯ ชนิดฉีกธรรมเนียมปฏิบัติ แม้กฎกติกาไม่ได้ห้ามไว้ก็ตาม

พลพรรค พปชร. ระบุว่า ประธาน กมธ. ควรเป็น ส.ส. และการส่งรองประธานสภาไปนั่งเก้าอี้นี้ก็เพื่อให้เห็นว่าสภาสนับสนุนให้ศึกษาและแก้ไขรัฐธรรมนูญ

แม้ยังไม่ใช่มติพรรค และ สุชาติ ประกาศว่าไม่เสนอตัว "แต่ถ้าไม่มีบุคคลที่เหมาะสมจริง ๆ ก็ไม่ปฏิเสธ" ทว่าขณะเดียวกันเขาพึงใจจะรักษาความเป็นกลางทางการเมืองในฐานะรองประธานสภา และก็ออกตัวสนับสนุน อภิสิทธิ์ เช่นกันเพราะเห็นว่าเหมาะสม

ไม่ใช่ครั้งแรกที่ พปชร. กับ ปชป. เปิดศึกชิงตำแหน่งสำคัญ ๆ ในทางการเมือง ถ้าย้อนกลับไปช่วงก่อนเปิดประชุมสภานัดแรกเพื่อลงมติเลือกประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ สุชาติ คือคนแรกที่เสนอตัวพร้อมเป็นประธานสภา แต่สุดท้ายไปไม่ถึงฝั่งฝัน เมื่อพรรคแกนนำรัฐบาลต้องปล่อยเก้าอี้นี้ให้ ชวน หลีกภัย อดีตนายกฯ และอดีตประธานสภา จากค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ท่ามกลางเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าเป็น "เงื่อนไขที่ไม่อาจปฏิเสธ"

ในการแถลงข่าวครั้งแรกของ ชวน ก็ยอมรับว่า "ไม่ได้อยู่ในความคิดเลยที่จะกลับมาเป็นประธาน" และ "ส่วนนี้เป็นส่วนที่เจาะจงมาว่าถ้าเป็นผมก็จะยอมรับ"



อย่างไรก็ตามเก้าอี้ประธาน กมธ. วิสามัญศึกษารัฐธรรมนูญฯ ถือเป็น "ตำแหน่งเชิงยุทธศาสตร์" ที่ พปชร. จำเป็นต้องช่วงชิง เพราะถ้ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข "รัฐธรรมนูญฉบับดีไซน์มาเพื่อพวกเรา" นั้นย่อมส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเมืองของ พปชร. ซึ่งมี ส.ส. อยู่ 137 เสียงอย่างมิต้องสงสัย จึงไม่แปลกหากการเปิดศึกชิงเก้าอี้ประธาน กมธ. ของ พปชร. จะถูกมองว่าเป็นไปเพื่อ "หักธง" และ "เปลี่ยนเกม" แก้ไขรัฐธรรมนูญ

โดยมีนักเลือกตั้งสังกัดพรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนร่วม "ยื้อธง" อย่าง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว. สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ระบุว่าพรรคของเขา "ไม่มีปัญหากับรัฐธรรมนูญฉบับนี้" และไม่ขอเสนอชื่อใครชิงตำแหน่งประธาน เพราะ "เราไม่ใช่ตัวตั้งตัวตี ไม่โยนฟืนเข้ากองไฟ" อีกทั้งเป็นเรื่องที่รู้กันอยู่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำไม่ง่าย จึงขอเอาเวลาไปทำงาน

"ตอนนี้เพิ่งโผล่มาแค่ 2 ชื่อ เดี๋ยวสัปดาห์หน้า ก็คงมีชื่อเพิ่มมาอีกหลายชื่อ" อนุทินกล่าว

ท่ามกลางการเปิดศึกชิงเก้าอี้ประธาน กมธ. วิสามัญฯ ของ 2 พรรคการเมือง เริ่มมีเสียงสะท้อนจากผู้ตั้งธงรื้อรัฐธรรมนูญอย่าง อนค. ให้ "โฟกัสที่เนื้อหามากกว่าตำแหน่ง" และขอให้ตั้ง กมธ. ให้ได้ก่อนค่อยคิดว่าใครจะเป็นประธาน

ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล ให้ความเห็นว่า กมธ. ชุดนี้เป็นแค่ "ผู้เปิดประตูศึกษา" ไม่ใช่ "ผู้ชี้เป็นชี้ตาย" แต่คนสำคัญคือผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งรองนายกฯ ออกมาเปิดคุณสมบัติเอาไว้ว่าต้องเป็นคนที่ "มีมนุษยสัมพันธ์ดี บารมีมาก คุมทิศทาง กมธ. ได้" พร้อมยกตัวอย่างการทำหน้าที่ควบคุมการยกร่างรัฐธรรมนูญของ มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาฉายให้เห็นภาพ

"ถึงเวลาไม่รู้จะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา ท่าน (มีชัย) จะบอกเลี้ยวซ้ายเกิดปัญหาอย่างไร เพราะเคยเกิดมาแล้ว ทุกคนก็ถอยกลับมาขวาหมด ถ้าร่าง เราต้องการคนแบบนี้ แต่ตอนนี้ยังไม่ร่าง" วิษณุระบุ

ขณะเดียวกันจะไม่มีรัฐมนตรีแม้แต่คนเดียวปรากฎตัวร่วมวง กมธ. ชุดนี้ ด้วยเหตุผล "ไม่มีเวลา" แต่ให้ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล นักวิชาการภายนอก และ ส.ว. เข้าไปในนั่งโควต้ารัฐบาล 6 ตำแหน่ง ซึ่งยังไม่ทันตั้งต้น "ส.ว. เฉพาะกาล" เจ้าของสมญา "ทายาท คสช." บางส่วนก็ได้ออกมาคัดค้านการรื้อรัฐธรรมนูญแล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเคลื่อนไหวที่ปรากฏในระยะต้น เมื่อขบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเคลื่อนเข้าสู่รัฐสภา

ที่มา บีบีซีไทย
..