วันจันทร์, สิงหาคม 14, 2560

การเปิดเผยภาพวิดีทัศน์เข่นฆ่านักศึกษา ๖ ตุลา นั้นขัดกับศีลธรรมอันดีของใครกัน

โอ แม่จ้าว ศาลปกครองนี่เขาก็วี่เศษเหมือนกัน ตัดสินบนรากฐานของพจนานุกรมเหมือนศาลรัฐธรรมนูญบ้าง ต่อนี้ไปคงเป็นมาตรฐานใหม่ ‘new normal’ ของ ตลก. ไทย

๕ ปีให้หลัง ศาลปกครองเพิ่งตัดสินคดีผู้สร้าง ผู้กำกับฯ ภาพยนตร์ เชคสเปียร์ต้องตายยื่นฟ้องคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ ไว้ตั้งแต่สิงหาคม ๒๕๕๕ ว่าหนังเรื่องนี้ “คนไทยสมควรเรียนรู้ร่วมกันเพื่อร่วมมือกันมิให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีก

นั่นคือข้อเท็จจริงเหตุการณ์เข่นฆ่านักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่ มานิต ศรีวรภูมิ ผู้อำนวยการสร้าง และ น.ส.สมานรัชฏ์ กาญจนวณิชย์ ผู้กำกับการแสดง นำเข้าไปเทียบเคียงไว้ในเนื้อหาของภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากบทละครของวิลเลียม เชคสเปียร์ เรื่อง โศกนาฏกรรมแม็คเบ็ธ(The tragedy of Macbeth) มาเป็นภาพยนตร์ไทยให้ชื่อ Shakespeare Must Die

ศาลฯ เห็นพ้องกับคณะกรรมการภาพยนตร์ฯ ว่า “มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ เช่น เนื้อหาที่แสดงถึงคนดูละครได้เข้าทำร้ายคณะนักแสดง มีการจับผู้กำกับละครแขวนคอ และทุบตีด้วยสิ่งของ เป็นต้น

จากนั้นศาลฯ ได้ยกเอาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานมาเป็นเหตุสนับสนุนคำตัดสิน เช่นอธิบายความหมายของคำ สามัคคี’ ‘แตก และ ชาติแล้วเอาวลี “การแตกความสามัคคีของคนในชาติ” มาสรุปเหมารวมว่า

ภาพยนตร์เรื่องนี้ “มีเนื้อหาหลายฉากหลายตอนสื่อให้เห็นว่า เป็นสภาพสังคมไทย และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ คนดูและกรรมการพิจารณาภาพยนตร์เห็นว่า “ฉากหนึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ ตุลาคม ๒๕๑๙ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย...

ย่อมสร้างความไม่พอใจให้ญาติพี่น้องของผู้เสียชีวิต หรือผู้ร่วมในเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดความเคียดแค้นชิงชังจนอาจเกิดการแตกความสามัคคีของคนในชาติได้...

ที่ผู้ฟ้องคดีต่อสู้ว่า คำสั่งห้ามฉายภาพยนตร์เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ศาลปกครองเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ซึ่งใช้อยู่ในขณะเกิดคดีนี้ ระบุว่า สิทธิเสรีภาพย่อมถูกจำกัดได้ด้วยบทบัญญัติของกฎหมาย

บางฉากของภาพยนตร์เรื่องนี้ มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดี อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเกียรติภูมิของประเทศไทย ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีจึงฟังไม่ขึ้น


นี่เท่ากับศาลปกครองมองว่า การนำเอาวิดีทัศน์ ๒ นาฑีเหตุการณ์ที่พวกคลั่งชาติศาสน์กษัตริย์ พร้อมด้วยกำลังตำรวจชายแดนกรูกันเข้าไปทำร้ายนักศึกษาภายในบริเวณรั้วมหาวิทยาลัย จนเสียชีวิตหลายสิบคน เปรียบเทียบกับภาพการ “จับแขวนคอทุบตีด้วยเก้าอี้เหล็กพับ” นั้นขัดกับศีลธรรมอันดี ของใครกัน

การนำเอาความจริง “ที่มิอาจลืมเลือน หรือปกปิดไว้ได้” ในเหตุการณ์รุนแรงของสังคมไทย ที่ฝ่ายอำนาจรัฐให้ท้ายฝูงชนคลั่งไคล้ระห่ำรุกเข้าเข่นฆ่าฝ่ายที่ทัดทานอำนาจเผด็จการ มาเปิดเผย


ในจิตสำนึกของตุลาการยุคทหารครองเมืองนี้ ถือว่า “อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ หรือเกียรติภูมิของประเทศไทย” ไปเสียฉิบ