วันศุกร์, สิงหาคม 04, 2560

ชวนฟัง ปากคำทนาย กรณีแหวน ณัฏฐธิดา: จากพยานปากเอก 6 ศพวัดปทุมสู่ผู้ต้องหาคดีร้ายแรง - “แหวนมองว่าสิ่งที่ตัวเองได้รับ มันร้ายแรงเกินกว่าที่จะรับได้ 2 ปีกว่าที่ถูกคุมขัง ครอบครัวได้รับผลกระทบอย่างมาก..."




ปากคำทนาย กรณีแหวน ณัฏฐธิดา: จากพยานปากเอก 6 ศพวัดปทุมสู่ผู้ต้องหาคดีร้ายแรง


Fโดย กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
3 สิงหาคม 2560 
Voice TV


แหวน - ณัฏฐธิดา มีวังปลา หลายคนรู้จักเธอในฐานะพยานปากเอกของคดี 6 ศพ วัดปทุมฯ ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 คำพูดของเธอในฐานะพยานของคดีถือว่ามีความเป็นระบบที่สุด เพราะเธอเป็นเพียงคนเดียวที่เห็นตั้งแต่ศพแรกไปจนถึงศพที่หก วันนั้น แหวนอยู่ห่างจากหนึ่งในผู้เสียชีวิตเพียง 5 เมตร ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแนววิถีกระสุนจากปากคำของเธอทำให้สรุปได้ว่า การเสียชีวิตของหกศพมาจากแนววิถีกระสุนของเจ้าหน้าที่บนรางรถไฟรวมทั้งด้านล่างบริเวณตอม่อ และข้อเท็จจริงนี้นี่เอง ที่ทำให้แหวนต้องกลายสภาพเป็นคนที่อยู่คนละฝั่งกับเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ นายทหารระดับสูง และผู้ออกคำสั่งในเวลานั้น

บางทีในเหตุการณ์เช่นนี้ หลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่อง “โชคดี” ที่เธอรอดชีวิตมาได้ แต่เรื่องที่เกิดขึ้นกับเธอหลังจากนั้น สอนให้เรารู้ว่าบางครั้งการเป็น “ผู้รอดชีวิต” อาจไม่ใช่เรื่อง “โชคดี” เสมอไป

หลังโศกนาฏกรรมครั้งนั้น แหวนมีอาการหวาดกลัวจากการถูกคุกคาม ต้องคอยหลบๆซ่อนๆ เธอรู้สึกว่าตัวเองไม่ปลอดภัย เธอไม่สามารถสื่อสารกับผู้คนได้เนื่องจากเธอสูญเสียความสามารถในการควบคุมอารมณ์ จนสุดท้ายเธอต้องเข้ารับการบำบัด

ธนชาติ อดีตสามีของแหวน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวประชาไท เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ถึงสิ่งที่แหวนเล่าให้เขาฟัง “แหวนเห็นเหตุการณ์ชัดที่สุด ลูกเกด (กมนเกด อัคฮาด) ที่โดนยิงก็อยู่เต็นท์เดียวกัน แหวนเขาเล่าไปก็ยังร้องไห้ไป ศพคนสุดท้าย แหวนพยายามเอาคนนี้ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์จะเอาไปหาหมอ แต่ไปไม่ได้ มีการยิงสกัดมาตลอด ทั้งที่โรงพยาบาลตำรวจอยู่แค่ฝั่งตรงข้าม ถ้าส่งโรงพยาบาลทันก็อาจไม่ตาย แหวนเขารู้สึกเจ็บใจมากที่ช่วยคนไม่ได้”

แหวนทำงานเป็นอาสาพยาบาลของโรงพยาบาลวชิระมานาน เธอมักเข้าไปดูแลผู้ชุมนุมทุกกลุ่ม ทุกสี ไม่เลือกฝ่าย ในครั้งนั้นก็เช่นกัน เธอเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์การชุมนุมของคนเสื้อแดง



แหวน - ณัฏฐธิดา มีวังปลา: รูปจาก Facebook วิญญัติ ชาติมนตรี


24 กรกฎาคม 2560

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) เดินทางไปรับแหวน หลังจากมีความพยายามยื่นหลักทรัพย์เพื่อขอประกันตัวแหวนและเพื่อนอีก 3 คน เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการสืบคดียังไม่ไปถึงไหนมาก และพยานปากสำคัญ 3-4 ปากได้ให้การไปแล้ว ศาลจึงอนุญาติปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร หลังจากติดคุกมา 2 ปี 4 เดือน หมายปล่อยตัวของแหวนมาถึงเรือนจำในเย็นวันนั้น

“เรารออยู่หลายชั่วโมง รู้สึกผิดสังเกตว่ามีการปล่อยตัวช้าเกิน จนกระทั่งเราเห็นรถของเจ้าหน้าที่ไม่ติดป้ายทะเบียนขับมา มารับตัว มีการใช้กุญแจมือ ล็อคตัว พร้อมกับนำขึ้นรถฟิล์มดำ ไม่ติดป้ายทะเบียน ขับไปอย่างรวดเร็ว โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ชี้แจงอะไร” ทนายวิญญัติบอกกับวอยซ์

“ผมได้ตามไปกองปราบปราม จนกระทั่งได้ทราบว่ามีการขออายัดตัว แต่ขณะที่อยู่ที่เรือนจำไม่มีหมายจับไปแสดง และได้อ้างหมายจับหลังจากนำตัวไปถึงกองปราบปรามในเวลาต่อมา สิ่งที่เราตรวจสอบได้ในขณะนั้นคือ ความผิดตามมาตรา 112 ได้มีการอ้างว่าพบพยานหลักฐานหรือสิ่งที่อ้างว่าแหวนทำความผิดวันที่ 17 มีนาคม 2558”

19 มีนาคม 2558

มีนายทหารมาแจ้งความแหวน ในคดี 112 มีการขอออกหมายจับต่อศาลทหารอีกครั้ง และศาลอนุมัติหมายจับ การออกหมายจับในครั้งนั้นสร้างความประหลาดใจให้แก่ทนายวิญญัติ เหตุใดต้องมีการออกหมายจับซ้ำซ้อน เนื่องจากว่าก่อนหน้านี้แหวนถูกจับกุมและอยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการ แจ้งความ แจ้งข้อกล่าวหา เริ่มการสอบสวนได้ทันที

7 มีนาคม 2558

มีผู้ร้าย 2 คน ปาระเบิดอาร์จีดี 5 ใส่ลานจอดรถศาลอาญา แรงระเบิดทำให้ลานจอดรถได้รับความเสียหาย เศษปูนแตกกระจายไปทั่วบริเวณ ความเสียหายตีวงกว้างประมาณ 5 เมตร ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ทหารจับกุมชายผู้ก่อเหตุที่ศาลอาญาได้ 2 คน

ทนายวิญญัติเล่าว่า “มีการกล่าวอ้างในทางสืบสวนว่าเป็นอาวุธสงคราม และดำเนินคดีในชั้นศาล เรามั่นใจว่าไม่ใช่ระเบิดแสวงเครื่องชนิดร้ายแรง อย่างไรก็ดีแหวนก็ถูกพาดพิง โดยการเชื่อมโยงผ่านการใช้แอพลิเคชันไลน์ ซึ่งก็จะมีกลุ่มไลน์สำหรับประชาชนที่มีอุดมการณ์เดียวกันเป็นสมาชิกกันอยู่ แหวนอยู่ในกลุ่มเป็นชั่วระยะเวลาหนึ่ง แต่ระยะเวลาหนึ่งก็กลายเป็นเหตุเชื่อมโยงว่าแหวนเป็นผู้เกี่ยวข้อง สนับสนุน และมีส่วนในการจัดหาคนที่จะไปก่อเหตุที่หน้าศาลอาญา”

11 มีนาคม 2558

“แหวนถูกทหารประมาณ 5 นาย เข้าไปจับกุมที่บ้านพักของญาติในจังหวัดสมุทรปราการโดยแหวนถูกคุมตัวไปที่ค่ายทหารแห่งหนึ่ง เราได้มีการติดตามทางโซเชียลมีเดีย และมีการติดต่อไปทางผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคสช. เพราะขณะนั้นเราเชื่อว่าเป็นทหารจากทางคสช.” ทนายวิญญัติกล่าว

ในเวลานั้นทั้งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พ.อ.วินธัย สุวารี หัวหน้าและโฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ได้อยู่ในความควบคุมของคสช.

17 มีนาคม 2558

มีเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวแหวนไปให้พนักงานสอบสวนสอบปากคำ กลายเป็นข่าวโด่งดัง ทำให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พ.อ.วินธัย สุวารี หัวหน้าและโฆษก คสช. ต้องออกมาอธิบายใหม่ว่า เป็นการเชิญตัว ‘น้องแหวน’ มาให้ข้อมูลในกรณีปาระเบิด

แต่หากมองจากมุมของทนายวิญญัติ ภาพที่เห็นคือการนำตัวแหวนไปฝากขังที่ศาลทหาร ตามหมายจับจากศาลทหาร ถูกแจ้งข้อกล่าวหา พ่วงด้วยมาตรา 112

วิญญัติเล่ารายละเอียดเกี่ยวกับคดีนี้ให้สำนักข่าวประชาไทฟังว่า หลักฐานสำคัญของเจ้าหน้าที่นำมาจากไลน์กลุ่มที่พูดคุยกันไม่กี่คน โดยเจ้าหน้าที่จับกุมบุคคลที่ก่อเหตุได้และบังคับเข้าถึงทุกบัญชีในโลกออนไลน์ กลุ่มไลน์ที่ว่าก็มีหลายห้อง จำเลยบางคนอยู่เกือบทุกห้อง บางคนอยู่บางห้อง ในห้องเป็นกลุ่มลับกลุ่มหนึ่งมีสมาชิกคนหนึ่งโพสต์ข้อความคึกคะนองที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 แหวนแสดงความไม่เห็นด้วยในห้องนั้น แล้วแค็ปหน้าจอที่ปรากฏข้อความนั้นส่งไปถามเจ้าตัวว่าทำไมจึงพูดแบบนี้ แต่สุดท้ายตำรวจกล่าวหาว่าข้อความดังกล่าวเป็นของแหวน

“แหวนถูกกล่าวหาในลักษณะเช่นนั้น เกิดจากพยานหลักฐานที่อ้างว่าพบในโทรศัพท์ แต่โทรศัพท์เครื่องนี้ถูกยึดจากเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแต่วันที่ถูกจับกุมคือ วันที่ 11 มีนาคม 2558 และมีการอ้างว่าได้ตรวจสอบโทรศัพท์หลังจากนั้น 6 วัน โดยเจ้าหน้าที่ทหาร หลักฐานที่อ้างว่าพบในโทรศัพท์เกิดขึ้นได้อย่างไร เข้าถึงโทรศัพท์ได้อย่างไร”





ทนายวิญญัติตั้งข้อสังเกตต่อเหตุการณ์ที่แหวนถูกอายัดตัวในวันที่ 24 กรกฎาคมว่า “เหตุใดพนักงานสอบสวนในคดี 112 ไม่เร่งการสอบสวนโดยไม่ชักช้า และรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด เพื่อพิสูจน์ความผิด หรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาให้เร็วที่สุด ปล่อยระยะเวลามาถึง 2 ปีกว่า จนกระทั่งมาถึง วันที่ 24 กรกฎาคม 2560 ซึ่งเป็นวันที่ปล่อยตัว ปรากฏว่าคดีไม่มีความคืบหน้า การสอบสวนไม่แล้วเสร็จ คำถามคือ 2 ปี ท่านทำอะไรอยู่ เราจะเห็นว่าการกระทำลักษณะเช่นนี้ของพนักงานสอบสวนหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง อาจจะเป็นการกระทำเข้าข่าย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อย่างไรก็ตามเรามองว่า แหวนไม่ควรถูกกระทำในลักษณะเช่นนี้โดยการนำตัวกลับเข้าไปสู่เรือนจำอีกครั้ง เนื่องจากแหวนได้รับอิสรภาพเพียงไม่กี่นาที ขายังไม่ก้าวออกจากเรือนจำด้วยซ้ำ สิ่งเหล่านั้นมันเกิดขึ้นกับประชาชนหลายคน แหวนเป็นรายล่าสุดที่เกิดขึ้น และเห็นชัดเจนว่า รัฐใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ใช้อำนาจเกินความจำเป็น และไม่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน ถือเสมอว่าเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนไปในตัว”





ด้วยข้อมูลบางอย่าง ทนายวิญญัติเชื่อว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการที่แหวนถูกดำเนินคดีในตอนนี้กับการเป็นพยานในคดี 6 ศพ วัดปทุมฯ “แหวนส่งจดหมายออกมาจากเรือนจำเป็นระยะๆ ในช่วงที่เขาถูกควบคุมตัว เนื้อหาในจดหมายได้พูดถึงคดีที่ตนเองได้เป็นไปพยาน 6 ศพ วัดปทุมฯ สิ่งเหล่านี้เราวิเคราะห์จากเนื้อหาจดหมายและพูดคุยหลายครั้งในเวลาที่ได้เจอกันที่ศาล ทำให้เราเชื่อว่าสิ่งที่แหวนได้เป็นพยานในคดี 6 ศพวัดปทุม ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แหวนถูกกระทำในขณะนี้ ผมไม่ยืนยันว่าใครเป็นผู้กระทำ แต่การที่แหวนเป็นบุคคลสำคัญในคดีหนึ่ง และการกระทำที่นำมากล่าวหานั้น ในทางกฏหมาย และทางพยานหลักฐาน เรามองว่าด้วยพฤติการณ์ที่นำมากล่าวหา ไม่ว่าจะเป็นคดีก่อการร้าย หรือคดีที่เกี่ยวข้องกับการปาระเบิด ไม่มีหลักฐานใดยืนยันชัดเจนว่าแหวนมีส่วนร่วมกระทำก่อเหตุดังกล่าวเลย ความสมเหตุสมผลของการดำเนินคดีจึงเป็นเรื่องที่เป็นคำถามอยู่ตลอดเวลาว่า เกี่ยวข้องกับเรื่องใดแน่”





“แหวนไม่คาดคิดว่าตัวเองจะได้รับผลกระทบขนาดนี้ จากการไปเป็นพยานในคดี 6 ศพ สภาพจิตใจที่เขายึดมั่นมาตลอด คือ เขาเห็นอย่างไร เขาก็พูดอย่างงั้น และเขาก็ยืนยันมาตลอดจนทุกวันนี้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้จะมีความพยายามจากบางคนที่ต้องการให้แหวนเปลี่ยนคำให้การ”





“แหวนเคยเล่าให้ฟังผ่านทางจดหมาย ในขณะที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ ได้พูดถึงการถูกกระทำต่อร่างกาย โดยมีการใช้กำลังทุบบริเวณหน้าอก บริเวณร่างกาย 2-3 ครั้ง และมีการพูดในลักษณะขู่เข็ญหรือบังคับให้พูดในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งเรื่องนี้เสมือนว่าเป็นการกระทำโดยมิชอบอย่างชัดเจน แต่แหวนก็ยังยืนยันในสิ่งที่เขาได้พูด และให้การตามความเป็นจริง ที่สำคัญมีถ้อยคำประการหนึ่งออกมาจากทางฝ่ายผู้ทำการสอบปากคำขณะนั้นว่า ‘ไม่เช่นนั้นก็จะต้องโดนคดี’ ซึ่งต่อมาแหวนก็ถูกดำเนินคดีจริง”






“แหวนมองว่าสิ่งที่ตัวเองได้รับ มันร้ายแรงเกินกว่าที่จะรับได้ 2 ปีกว่าที่ถูกคุมขัง ครอบครัวได้รับผลกระทบอย่างมาก คนที่เคยคบหาก็เลิกรากันไป ครอบครัวก็ต่างคนต่างไปแตกแยกกัน สิ่งที่เกิดขึ้นกับแหวน นอกจากอิสรภาพที่สูญเสียไปแล้ว เรื่องครอบครัวก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ซึ่งเขาเสียใจตลอดเวลา ตั้งแต่พบพวกผมคืนนั้นร้องไห้ตลอดเวลา จนกระทั่งวันรุ่งขึ้นก็ยังร้องไห้ เขาเคยพูดในลักษณะที่แสดงถึงความท้อแท้ และแสดงความกังวลต่อสภาพที่ตนได้รับ จิตใจเขาได้รับความกระทบกระเทือนมาก” ทนายวิญญัติเล่าให้ฟัง

ขณะนี้ทางทีมทนายกำลังรวบรวมพยานหลักฐาน และตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมด เกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายการกระทำความผิดมาตรา 157 (ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ) หรือไม่ “แนวทางที่หนึ่ง ตั้งแต่เริ่มมีหนังสือแจ้งจากเรือนจำ จนกระทั่งถึงตำรวจกองปราบปราม ไปรับตัวที่กองปราบปราม และนำตัวไปดำเนินคดี หากพบว่ามีลักษณะเข้าข่ายผิดมาตรา 157 เราก็เตรียมจะร่างฟ้องพนักงานสอบสวนและบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

แนวทางที่สอง ทนายวิญญัติเห็นว่า แหวนควรได้รับโอกาสปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจากพยานหลักฐานที่อ้างว่าพบในโทรศัพท์มือถือ ถูกยึดโดยเจ้าหน้าที่ทหารตั้งแต่วันที่ถูกจับ “เป็นเรื่องที่เราต้องตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ สิ่งเหล่านี้จะต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานในทางอิเล็กทรอนิกส์หรือข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ ว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นเป็นไปโดยชอบธรรมตามคำประกาศของกระทรวงไอซีทีในขณะนั้นหรือไม่ เรื่องทั้งหมดเราจะนำไปสู่การยื่นขอความเป็นธรรม และยื่นขอประกันตัวในชั้นสอบสวนคดี 112 อีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีการสอบสวนเสร็จสิ้น ผมก็เชื่อว่าเราจะได้รับความเมตตาจากศาลอีกครั้งหนึ่ง”