วันจันทร์, สิงหาคม 07, 2560

1 ปีหลังประชามติ: เปิดงานวิจัย ทำไม รธน. ผ่านฉลุย (แต่ทว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 นั้นเป็นคนละฉบับกับที่ลงประชามติ ก่อนหน้านั้น)




1 ปีหลังประชามติ: เปิดงานวิจัย ทำไม รธน. ผ่านฉลุย


โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
BBC Thai


หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เปิดโทรทัศน์เพือรับชมรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ในทุกคืนวันศุกร์ คำไหนของผู้นำที่ติดหู-ติดใจคุณ..?

และถ้าคุณเป็นคนไทยที่ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 ส.ค. 2559 คุณตัดสินใจ "รับ-ไม่รับ" ร่างฯ บนพื้นฐานอะไร..?

คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอิทธิพลต่อการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ด้วยคะแนนร้อยละ 61.35 ต่อ 38.65 หรือไม่?

ผลการศึกษาเรื่อง "วาทกรรมประชามติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ" โดย เอกจิต สว่างอารมย์ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (2559) พบว่า การสื่อสารของ พล.อ.ประยุทธ์ในรายการดังกล่าว ถูกกำกับภายใต้ความหมายของวาทกรรม 3 ชุดหลักคือ

1. ประชาธิปไตยในแบบ คสช. ที่พร้อมให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชน ทว่าอยู่ภายใต้เงื่อนไข-กติกาของรัฐบาล คสช.

2. ความมั่นคง โดยอ้างอิงคตินิยมแบบทหารที่เน้นมิติความมั่นคงเหนือการพัฒนา จึงทั้งเตือน-ทั้งขู่ เพื่อให้ประชามติเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย 3. พ่อเมือง/ขุนพล ผู้ประกาศตัวเป็น "ผู้จัดการ-ผู้สะสางปัญหา" ให้ประเทศชาติและประชาชน

จาก "ผู้อบรมสั่งสอน" ประชาชน สู่ "ผู้หวังดีต่อประเทศ"

ตลอด 1 ปี 10 เดือน นับจากนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เข้ารับหน้าที่ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ถึงวันออกเสียงประชามติ (5 ต.ค. 2558-7 ส.ค. 2559) พล.อ.ประยุทธ์มักใช้พื้นที่รายการคืนความสุขฯ "อบรมสั่งสอน" ประชาชนเป็นส่วนใหญ่ นับได้เป็น ร้อยละ 36.36 ของจำนวนรายยการที่ออกอากาศในช่วงนั้น โดยพร่ำบอกว่า "อย่าเอาแต่ประชาธิปไตย" "เลิกทะเลาะกัน" และ "ออกไปลงประชามติ"





เอกจิตบอกกับบีบีซีไทยว่า นี่คือการสื่อสารที่แฝงความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้สร้างวาทกรรมกับประชาชน "เสมือนหนึ่งประชาชนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ที่ไม่มีความรู้เรื่องการออกเสียงประชามติ" อีกทั้งยังสร้างความหมายประชาธิปไตยในรูปแบบ "เสรีภาพของประชาชนอยู่ภายใต้ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง"

ส่วนวาทกรรมรองๆ ลงไปเป็นการ "เปิดวิวาทะฝ่ายตรงข้าม" โดยวิจารณ์ว่ามีความเข้าใจไม่ถูกต้อง ถือเป็นการสร้างภาพ "ผู้ร้ายทางการเมือง" และ "ไม่รักชาติ" ให้คนต่างขั้วการเมือง

ขณะเดียวกันยังมีวาทกรรมประเภท "ชี้แจงทำความเข้าใจ" คอยตอกย้ำว่า "รัฐบาลชุดนี้ทำเพื่อประชาชน" "ตั้งใจทำกฎหมายรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย"

สุดท้ายวาทกรรมประชามติรวม 45 ชุดที่เกิดขึ้นในรายการคืนความสุขฯ ได้สร้างอัตลักษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ว่าเป็น "ผู้หวังดีต่อประเทศชาติ" และ "ผู้มีความเข้าใจประชาธิปไตย แต่ต้องอยู่ในความสงบ"


WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ใช้เวลา 174 ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ก่อนเผยแพร่เนื้อหารวม 279 มาตรา 15 หมวด ต่อสาธารณะ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 เพื่อให้ประชาชนลงประชามติ


ด้วยรูปแบบการสื่อสารแบบ "วันแมนโชว์" ที่ไร้การซักค้าน-โต้แย้ง ผสานกับการออกแบบเนื้อหาอย่างมีทิศทาง ทำให้ความหมายวาทกรรมประชามติที่เกิดขึ้นในรายการคืนความสุขฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ไม่ใช่ผลโดยตรงในช่วงเวลาออกอากาศ 20.00 น. เศษ เพราะเทคโนโลยีช่วยเพิ่มช่องทางรับสารอื่นแก่ประชาชนในคืนวันศุกร์ บางส่วนเลือกปิดทีวีหนี-เปลี่ยนไปเสพสื่ออื่นเพื่อคืนความสุขในแบบของตน

แต่ "น้ำคำ" ของผู้นำถูกนำไป "ผลิตซ้ำ" ผ่านสื่อบุคคลในเครือข่ายอำนาจรัฐ ทั้งวิทยากรเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญระดับจังหวัด-อำเภอ-หมู่บ้าน ที่เรียกว่า "ครู ก. ข. ค." กลุ่ม รด. จิตอาสา และอื่นๆ ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า "มีผลอย่างมากในการโน้มน้าวใจประชาชน เพราะเป็นการสื่อสารที่อาศัยความสัมพันธ์ส่วนบุคคล"


BBC THAI
เอกจิต สว่างอารมย์ (คนที่ 2 จากขวามือ) และ ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิแก้ว (คนที่ 3 จากขวามือ) พร้อมกรรมการสอบวิทยานิพนธ์หัวข้อ "วาทกรรมประชามติของ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ"


สอดคล้องกับความเห็นของ ผศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิแก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีนิด้า และผู้อำนวยการหลักหลักสูตรปริญญาเอก คณะนิเทศศาสตร์ ที่ว่า คำพูดในรายการคืนความสุขฯ ถือเป็น "สารตั้งต้น" โดย พล.อ.ประยุทธ์ทำหน้าที่นับ 1 ให้ โดยมีองคาพยพต่างๆ คอยรับลูกแล้วนำไปสื่อสาร-ย้ำเตือน เมื่อถึงจุดสำคัญว่าจะต้องไปซ้ายหรือขวา เดินหน้าหรือถอยหลัง รายการนี้ก็ทำหน้าที่ "กระตุ้น" การตัดสินใจ นี่คือเหตุผลที่ คสช.ต้องยึดผังรายการทีวี-ยึดตรึงเวลาประเทศไทยเอาไว้ แม้ไม่ใช่รายการที่คนเฝ้าติดตามรอฟัง แต่สื่อกระแสหลักก็เก็บตกข้อมูลไปนำเสนอต่อ ซึ่งการ "ผลิตซ้ำ" เนื้อหาไม่ว่าในแง่บวกหรือลบทำให้เกิดการทำงานของวาทกรรม

อดีตที่น่ากลัว กับอนาคตที่ไม่แน่นอน


อีกปรากฎการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าคูหาประชามติ คือการแต่งเครื่องแบบทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ แล้วประกาศรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ซึ่ง ผศ.ดร.อัศวินเห็นว่านี่คือการสื่อสาร-ออกคำสั่งโดยสัญลักษณ์


GETTY IMAGES


"มันเหมือนกับกำลังจะออกรบแล้ว ก็ต้องปลุกขวัญกำลังใจให้เกิดความฮึกเหิม ในการออกศึกต้องเอาสิ่งที่ตัวเองเคยมี เคยใช้ เคยประกาศศักดาออกมาปลุกกองเชียร์ มันบ่งบอกถึงฮาร์ดพาวเวอร์ (อำนาจบังคับขู่เข็ญ) บางอย่างที่แฝงมากับสัญลักษณ์เหล่านั้น ผมคิดว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยมีภาพเชิงบวกกับกองทัพในแง่ความเป็นสถาบัน จากการคอยช่วยเหลือเป็นที่พึ่งยามยาก และการยึดโยงกับสถาบันหลักของชาติ ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ก็เรียนรู้และใช้ประโยชน์ตรงนี้"

"การแต่งเครื่องแบบทหารของนายกฯ ยังมีอีกนัยคือการออกคำสั่งโดยสัญลักษณ์ ตอกย้ำว่าเอาจริงนะ ลองคิดดูว่าหน่วยทหารทั้งบก เรือ อากาศ ตำรวจมีตั้งเท่าไร เครือญาติอีกเท่าไรที่จะถูกส่งสารจากนายกฯ ไป" ผศ.ดร.อัศวินกล่าว

ต่างจากพื้นที่สื่อสารของ "ฝ่ายเห็นแย้ง" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ถูกจำกัดด้วยสารพัดกฎหมาย แม้นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวบางส่วนพยายามส่ง "เสียงที่ต่าง" แต่สังคมไทยยังไม่รับลูกเพียงพอ

"สังคมโดยส่วนใหญ่อยากเคลื่อนตัวเองไปสู่การเลือกตั้ง จึงปล่อยผ่านไป เพราะคิดว่าประชามติเป็นขั้นหนึ่งที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย ทุกคนจึงเร่งกระบวนการนี้เพื่อจะได้เดินต่อตามภาพอนาคตที่ถูกวาดไว้"


WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI


ขณะเดียวกันปฏิบัติการนี้ยังเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศความตึงเครียด เมื่อรัฐบาล คสช. ไม่ยอมเปิดเผยว่าหากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำในชั้นประชามติ จะเกิดอะไรขึ้นในวันข้างหน้า ซึ่ง อ.อัศวินเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยไปโหวตรับร่างฯ เพราะเหตุนี้

"การไม่รู้อนาคตมันสะสมบรรยากาศความตึงเครียด เขาจึงเปิดช่องไว้นิดๆ ว่าแต่ละคนสามารถคลายความตึงเครียดได้ด้วยการออกไปโหวต และจะดีมากถ้าโหวตในทิศทางที่ทำให้โรดแมปของ คสช. เดินหน้าต่อไป ซึ่งนั่นก็คือการรับร่าง"

การออกเสียงประชามติหนที่ 2 ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เกิดขึ้นเพื่อถามประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตย ว่ารับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เกิดขึ้นคือคนส่วนใหญ่ไม่ได้พูดถึงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ ต่างจากบรรยากาศช่วงจัดทำร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ในยุคประชาธิปไตย หรือร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร แต่ก็ยังมีเวทีถกเถียงกันได้





"ช่วงก่อนลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด พื้นที่แสดงความคิดเห็นถูกปิดเกือบหมด ดังนั้นตัวอักษรที่บรรจุในนั้น มันไม่มีความหมายเลย เราเห็นแต่ความเคลื่อนไหวผ่านตัวบุคคล ผ่านผู้นำที่เกาะกลุ่มเป็นเครือข่ายอำนาจที่ออกมาพูดอย่างนั้นอย่างนี้" นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนกล่าว

บทสรุปของการที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติด้วยคะแนน "ทิ้งห่าง" ในทัศนะของเขาคือ "มันเป็น 'พลังลายพราง' ที่มีทั้งความเกรี้ยวกราด สะลึมสะลือ สลัวๆ พลิ้วไหวก็ยังได้ ทั้งหมดร้อยเรียงเป็นพลังให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ"


หนึ่งปีหลังหมายจับคดีประชามติ ตร.เพิ่งรวบ "รังสิมันต์ โรม"
ศาลให้ประกันตัว รังสิมันต์ โรม คดีแจกใบปลิวประชามติ-ชุมนุมหน้าหอศิลป์

ooo


วันนี้ครบ 1 ปี ประชามติลายพราง 7 สิงหาคม (2559-2560)

การออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช .... เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559
แม้จะมีผู้เห็นชอบ 16,820,402 คน คิดเป็น 61.35% ของผู้มีสิทธิออกเสียง มีผู้ไม่เห็นชอบ 10,598,037 คน คิดเป็น 38.65% ของผู้มีสิทธิออกเสียง

แต่ทว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 นั้นเป็นคนละฉบับกับที่ลงประชามติ ก่อนหน้านั้นนะครับ

ดังนั้นการอ้างรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าผ่านการลงประชามติ จึงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถกล่าวอ้างได้อย่างเต็มปากเต็มคำนัก


Thanapol Eawsakul