วันเสาร์, มิถุนายน 07, 2557

ปชป.ร้าวหนักหลังรัฐประหาร


ที่มา โพสต์ทูเดย์

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 11 มีผลทำให้รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 ทำให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองสิ้นสภาพ และเป็นผลต่อเนื่องทำให้สถานะของพรรคการเมืองต่างๆ สิ้นสุดลงตามไปด้วย

สภาพของพรรคการเมืองต่างๆ เวลานี้ จึงคล้ายกับถูก “แช่แข็ง” รอกระบวนปฏิรูป สลายความขัดแย้งผ่านกลไก ทั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) เพื่อเซตระบบใหม่ก่อนเปิดให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง

พรรคเพื่อไทยซึ่งถูกถล่มอย่างหนักตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากโครงการรับจำนำข้าว ที่ความเสียหายหลายแสนล้านเริ่มปรากฏให้เห็น คู่ขนานไปกับพิจารณาประเด็นการทุจริตขององค์กรอิสระ เรื่อยมาจนถึงออกกฎหมายล้างผิดสุดซอย

หลังรัฐประหารหลายฝ่ายยังเชื่อว่า “เพื่อไทย” จะถูกไล่บี้สกัดการหวนคืนสู่อำนาจ สอดรับกับคำสั่งของ คสช.ที่เข้ามาตีกรอบ สกัดการเคลื่อนไหว รวมไปถึงความปั่นป่วนภายใน สมาชิกแตกกระสานซ่านเซ็นไม่สามารถรวมพลังกันเหนียวแน่นได้เหมือนเก่า

แต่ใช่ว่าฝ่ายตรงข้ามอย่างพรรคประชาธิปัตย์จะได้อานิสงส์จากการอ่อนแรงของพรรคเพื่อไทย เพราะประชาธิปัตย์เองก็เริ่มระส่ำระสายไม่น้อยหลังรัฐประหาร แม้หลายคนจะคิดว่า “รัฐประหาร” น่าจะ “เข้าทาง” และได้รับอานิสงส์จากการล้มกระดานของกองทัพ แต่ความจริงแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น
ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยประเมินสถานการณ์หลังรัฐประหารหมาดๆ ว่า ประชาธิปัตย์ มีแต่ “เสียกับเสีย” เลือกตั้งก็ยังไม่ได้ คะแนนนิยมอะไรก็ไม่ได้ ต่างจากพรรคเพื่อไทยที่ยังจะได้คะแนนเห็นใจในฐานะที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ

ยิ่งหากวิเคราะห์ในรายละเอียดแล้ว “ภาพลักษณ์” ของประชาธิปัตย์กำลังสั่นคลอนอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา ทั้งถูกครหาว่าสนับสนุนให้อำนาจนอกระบบเข้ามาสะสางปัญหาฝ่าทางตัน ตามด้วยเสียงโจมตีว่าหวังกลับเข้าสู่อำนาจบริหารโดยไม่ต้องหวังพึ่งกลไกการเลือกตั้ง

การเลือกตั้งครั้งหน้าที่ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ จึงถือเป็น “งานหิน” ของประชาธิปัตย์ ซึ่งเพียงแค่รักษาฐานเดิมไว้ให้ได้ก็เป็นเรื่องยาก ยังไม่ต้องหวังว่าจะรวมเสียงข้างมากเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
เพราะนอกจากเรื่องภาพลักษณ์ที่ถูกกัดกร่อนไปว่าไม่ยอมรับกระบวนการในระบอบประชาธิปไตย ทั้งการลาออกยกพรรคออกมาเคลื่อนไหวค้านนิรโทษกรรม เรื่อยมาจนถึงการบอยคอตเลือกตั้ง
รอบนี้ “แผลเก่า” รอยร้าวระหว่าง กปปส.และ ปชป.ที่มีเรื่องบาดหมางกันหลายครั้งหลายหนในช่วงที่ผ่านมา กำลังจะย้อนกลับมาเป็นปัญหารอบใหม่ที่สั่นคลอนเอกภาพภายในพรรคอีกครั้ง

ต้องยอมรับว่าแนวทางการเคลื่อนไหวของ กปปส.และ ปชป.ที่ภายนอกมองว่าอยู่ฝักฝ่ายเดียวกัน แต่รายละเอียดปลีกย่อยการเคลื่อนไหวขัดแย้งกันอยู่หลายครั้งหลายหน ไม่ว่าจะเป็นเสียงเรียกร้องให้ สส.ปชป.ตัดสินใจลาออกยกพรรคมาเคลื่อนไหวกับมวลมหาประชาชนตั้งแต่หมดสมัยประชุม แต่ทาง ปชป.ก็ยื้อมาอีกพักใหญ่ก่อนจะตัดสินใจลาออกยกพรรค

ยิ่งในช่วง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ออกมาเป็นตัวตั้งตัวตีเสนอโรดแมปผ่าทางตัน ด้วยการเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมถอยกันคนละก้าว แต่เมื่อไปขัดกับเป้าหมายของ กปปส.ที่ต้องการตั้งรัฐบาลคนกลาง เดินหน้าปฏิรูป ทำให้ กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาอัดพวกโลกสวยว่าอย่ามาสะเออะ จนสะเทือนสายสัมพันธ์ของทั้งคู่

มองข้ามช็อตต่อไปถึงการฟอร์มทีมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งหน้า มวลมหาประชาชนที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของฐานเสียงประชาธิปัตย์ ปัญหาความขัดแย้งในแนวทางการเคลื่อนไหวที่ผ่านมา ย่อมส่งผลให้ฐานเสียงเดิมของประชาธิปัตย์หายไป

แม้แต่ในส่วนของผู้สมัคร สส. ซึ่ง สุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศชัดเจนว่าไม่หวนคืนถนนการเมือง แต่อดีต สส.หลายคนที่ไปร่วมเคลื่อนไหวกับ กปปส. สุดท้ายก็ต้องกลับมาสวมเสื้อ ปชป.ลงสนาม ดังนั้น ปัญหาความไม่สนิทใจจากการแยกออกไปเคลื่อนไหวย่อมเป็นปัญหาเอกภาพในพรรคอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

โดยเฉพาะ อดีต สส.ปีก สุเทพ ที่มีจำนวนไม่น้อย ความบาดหมางที่ผ่านมาหลายต่อหลายเรื่องหากยังไม่ได้รับการเยียวยา ต่อไปอาจพัฒนากลายเป็นแรงกระเพื่อมใต้น้ำเขย่าให้ประชาธิปัตย์สั่นคลอนรุนแรง

ดังจะเห็นว่าที่ผ่านมาประเด็นความขัดแย้งภายใน มีปัญหามาแล้วหลายรอบโดยเฉพาะช่วงการผลักดันแผนการปฏิรูปพรรค ซึ่งมี อลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรค เป็นตัวตั้งตัวตีออกมาเคลื่อนไหว จนเกิดการสั่นคลอนภายในพรรคมาแล้วหนหนึ่ง และแผลเก่านี้ยังไม่ทันสมานหายดี

ยังไม่รวมกับแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคที่ยังมีเสียงกระเส็นกระสายต่อเนื่อง โดยเฉพาะกับบทบาทในช่วงวิกฤตการเมืองที่ทำให้ต้นทุนเครดิตของอภิสิทธิ์ลดหายไปอย่างมาก จนหลายฝ่ายเห็นว่าอาจจะเป็นปัญหาที่สะท้อนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ก้าวย่างนับจากนี้จนถึงการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งจะเปิดให้แต่ละพรรคการเมืองกลับเข้ามามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง จึงถือเป็นห้วงเวลาสำคัญที่อภิสิทธิ์จะต้องเร่งกู้วิกฤตศรัทธาที่จางหายไปให้กลับคืนมาโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการสลายความขัดแย้งภายในพรรคไม่ให้กลายเป็นปัญหาต่อไป